xs
xsm
sm
md
lg

จีน-สหรัฐฯ สร้างเซอร์ไพรส์แถลงข้อตกลงโลกร้อน ประกาศร่วมมือแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนและสหรัฐฯเมื่อวันพุธ(10พ.ย.) ประกาศทำงานร่วมกันเพื่อเร่งดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโลกในทศวรรษนี้ พร้อมกับสร้างเซอร์ไพรส์แถลงแยกกันเกี่ยวกับข้อตกลงด้านโลกร้อน ซึ่งกำลังก่อหายนะทำลายล้างทั่วโลก

ปฏิญญาร่วมในครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เข้าสู่วันท้ายๆที่สำคัญยิ่ง ด้วยผู้แทนเจรจาของฝ่ายต่างๆกำลังดิ้นรนหาหนทางต่างๆสำหรับจำกัดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม

"เอกสารนี้มีถ้อยแถลงที่เข้มแข็งเกี่ยวกับความกังวลทางวิทยาศาสตร์ รายงานการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก (Emissions Gap Report) และความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก" จอห์น เคอร์รี ทูตพิเศษสหรัฐฯบอกกับผู้สื่อข่าว "มันมีพันธสัญญาที่จะดำเนินการสำคัญๆต่างๆนานาในทศวรรษนี้เมื่อมีความจำเป็น"

แม้แผนไม่ค่อยมีเป้าหมายที่เป็นรูปเป็นร่าง แต่มันความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ณ ที่ประชุมหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการที่สหรัฐฯและจีน 2 ชาติผู้ปล่อยมลพิษสูงที่สุดของโลก ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ไม่เข้าร่วมการประชุมซัมมิตในกลาสโกว์ โดยกล่าวหาว่าปักกิ่งกำลังเดินหนีวิกฤตโลกร้อน

จีนตอบโต้กลับ แต่ดูเหมือนความสัมพันธ์อันตึงเครียดดูผ่อนคลายขึ้น ก่อนการประชุมทวิภาคีที่เฝ้ารอมานานในสัปดาห์หน้า โดยทั้ง เคอร์รีและ สี ต่างพูดตรงกันว่าพวกเขากำลังก้ามข้ามความเห็นต่างเพื่อทำงานร่วมกันในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

"ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่ายังมีช่องว่างระหว่างความปัจจุบันและเป้าหมายของความตกลงปารีส ดังนั้นเราจะยกระดับความร่วมมือดำเนินการด้านโลกร้อน" เซี่ย เซินหัว ทูตพิเศษด้านโลกร้อนของปักกิ่งกล่าว

ในเอกสารกรอบข้อตกลง ในนั้นรวมถึงการมุ่งเน้นลดมลพิษมีเทน ซึ่งเคอร์รี กล่าวว่ามันเป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดหนทางเดียวและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการจำกัดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก นอกจากนี้แล้วข้อตกลงยังระบุด้วยว่าทั้งสองฝ่ายจะพบปะประชุมกันเป็นประจำเพื่อ "จัดการกับวิกฤตโลกร้อน"

เอกสารเน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามลดมลพิษในระยะสั้น ท่ามกลางคำเตือนของบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าการลดมลพิษก่อนปี 2030 เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยชะลอหายนะวิกฤตโลกร้อน มิเช่นนั้นอาจสายเกินแก้

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นกลไกติดตามปัญหาโลกร้อนภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติ เคยออกรายงานเตือนว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเผชิญความเสี่ยงภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม และวิกฤตขาดแคลนอาหารขั้นรุนแรง

ปฏิญญาร่วมระบุว่าทั้งสองประเทศ "ตระหนักถึงความร้ายแรงและเร่งด่วนของวิกฤตโลกร้อน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างทศวรรษ 2020 ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก"

สหรัฐฯและจีนเป็น 2 ชาติที่ปล่อยมลพิษสูงที่สุดของโลก รวมกันแล้วคิดเป็น 40% ของมลพิษคาร์บอนทั้งหมด

อเมริกาบอกว่ามีแผนสู่ความเป็นกลางของคาร์บอน(การไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหม่สู่ชั้นบรรยากาศ ในกรณีที่ยังมีการปล่อยมลพิษต่อไป จะต้องถูกชดเชยด้วยการดูดซับจากชั้นบรรยากาศ เช่นการปลูกป่า หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตปริมาณที่เท่ากัน) ภายในปี 2050 ส่วน จีน แถลงว่าได้กำหนดเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2060

สหประชาชาติบอกว่าแม้รวมทุกประเทศที่มีแผนลดปริมาณคาร์บอน แต่ก็ยังจะเห็นโลกใบนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติแสดงความยินดีต่อข้อตกลงสหรัฐฯ-จีน "การจัดการกับวิกฤตโลกร้อนจำเป็นต้องร่วมมือกันในระดับนานาชาติและมีความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน และนี่คือก้าวย่างที่สำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศต่างๆมากกว่า 100 ชาติ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 แต่ไม่มีจีนอยู่ในนั้นด้วย

(ที่มา:เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น