xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง COP26 : ความหวังสำคัญในการอนุรักษ์มหาสมุทร / ดร.เพชร มโนปวิตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ครั้งที่ 26 ที่กรุงกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. ถึง 12 พ.ย. 2564 นับเป็นการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ

หลายคนเชื่อว่าผลของการประชุมน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญต่อต่อการแก้วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน การเลิกใช้พลังงานถ่านหิน การยุติการทำลายป่าไม้ รวมไปถึงความหวังในการอนุรักษ์มหาสมุทร ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน แต่มักถูกมองข้ามมาโดยตลอด

มหาสมุทรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ผิวของโลกราวร้อยละ 70 และคือที่กักเก็บน้ำร้อยละ 96.5 ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่มหาสมุทรคือกลไกควบคุมสมดุลของสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศที่ค้ำจุนชีวิตบนโลกอย่างแท้จริง ผ่านวัฏจักรของน้ำ กระแสคลื่นลมที่ไหลเวียนไปทั่วโลก รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่เหมือนปั๊มน้ำชีวภาพขนาดยักษ์อย่างวาฬ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วอย่างแพลงก์ตอนพืชที่ทำให้มหาสมุทรเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนราวครึ่งหนึ่งของอากาศที่เราทุกคนหายใจ ช่วยดูดซับความร้อนกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์ และยังกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1 ใน 4 ที่ถูกปล่อยออกมาทุกๆ ปี

นอกจากนี้ ระบบนิเวศชายฝั่งและทะเลโดยเฉพาะป่าชายเลน หญ้าทะเล และพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลประเภทอื่น ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ

งานวิจัยในช่วงหลังพบว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกถึง 10 เท่า ในขณะที่หญ้าทะเลกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า

ปัจจัยที่ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นดี ก็เพราะเป็นพืชโตเร็วและสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินตะกอนที่ทับถมสะสมอยู่ได้นับพันๆ ปี ต่างจากพืชบนบกที่มีอายุการดูดซับคาร์บอนได้สูงสุดราว 50 ปีเท่านั้น จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญอย่างหญ้าทะเลและป่าชายเลนว่า คาร์บอนสีน้ำเงิน (blue carbon) ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสู้โลกร้อนที่ทรงอานุภาพที่สุด

จากรายงานล่าสุดของ IPCC ว่าด้วยมหาสมุทรและหิมะภาค ระบุว่าพื้นที่ป่าชายเลนหรือหญ้าทะเลเพียง 1 ไร่สามารถกักเก็บคาร์บอนโดยเฉลี่ยได้ถึง 160 ตันต่อปี สูงกว่าระบบนิเวศป่าไม้บนบกซึ่งกักเก็บคาร์บอนโดยเฉลี่ย 4-5 ตันต่อปีหลายสิบเท่า

อย่างไรก็ตาม ความร้อนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มหาสมุทรกักเก็บไว้มหาศาลเริ่มส่งสัญญานอันตรายชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ก็เริ่มจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไม่ไหวแล้วเช่นกัน ในปี 2020 ร้อยละ 80 ของมหาสมุทรทั่วโลกเผชิญกับคลื่นความร้อน และส่งผลกระทบลงลึกไปถึงระดับ 1,000 เมตร

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งจากรายงานประเมินฉบับล่าสุดของ IPCC (AR6) ก็คือ แม้เราจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5-2 องศาได้ตามข้อตกลงปารีส แต่ความร้อนที่สะสมไว้แล้วและที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนบ่อยกว่าเดิมถึง 4 เท่าภายในศตวรรษนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและนิเวศบริการด้านต่างๆ

คลื่นความร้อนในทะเลเคยเป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ในช่วงหลังเกิดขึ้นบ่อยและทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ รายงานการประเมินผลกระทบด้านระบบนิเวศของ IPCC ระบุว่าปะการังเกือบทั้งหมดในโลก (99%) จะเสื่อมโทรมหรือตายลงหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนในมหาสมุทรยังจะส่งผลให้เกิดสาหร่ายบลูม (algal bloom) บ่อยและรุนแรงขึ้น เกิดการขยายตัวของเขตมรณะที่ไร้ออกซิเจน (dead zone) และเกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ รูปแบบการแพร่กระจายของสัตว์น้ำในภูมิภาคต่างๆ จะเปลี่ยนไป สัตว์น้ำเริ่มเคลื่อนย้ายจากเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร

ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในมหาสมุทรยังทำปฏิกิริยากับน้ำทะเลเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก โมเลกุลของกรดคาร์บอนิกทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของน้ำ เกิดเป็นไอออนไบคาร์บอเนตและไอออนไฮโดรเจน (H+) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในทะเล (ocean acidification) และกำลังเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก หากไม่ได้รับการแก้ไขปรากฏการณ์ทะเลเป็นกรดที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้สัตว์ทะเลจำนวนมากโดยเฉพาะสัตว์มีเปลือก ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู เม่นทะเล หรือแม้แต่ปะการัง ไม่สามารถสร้างเปลือกและโครงสร้างแข็งได้ ข้อมูลในอดีตชี้ว่าผลกระทบของสภาวะทะเลเป็นกรดคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต (mass extinction) ซึ่งมีหลักฐานปรากฏเมื่อ 66 ล้านปีมาแล้วที่พบว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลสูญพันธุ์ไปกว่าร้อยละ 75

ผลกระทบจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งทั่วโลก และการขยายตัวของมหาสมุทรอันเนื่องมาจากพลังงานความร้อนที่สะสมส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้วราว 20 เซนติเมตรระหว่างปี 1901-2018 แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคืออัตราการเพิ่มสูงขึ้นที่เพิ่มจาก 1.3 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1901-1971 เป็น 1.9 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1971-2006 และเพิ่มเป็น 3.7 มิลลิเมตรต่อปีในช่วง 2006-2018 นั่นหมายความว่าในช่วงทศวรรษหลังสุดระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดิมถึงเกือบ 2 เท่า หรือเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 1971

อัตราการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดทำให้เป็นไปได้ที่ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ และอาจสูงถึง 5 เมตรภายในปี 2150 ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบระดับหายนะต่อมหานครทั่วโลก เช่น กรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ริมทะเล
ยังส่งผลต่อระบบนิเวศชายฝั่งทั้งหมด เช่น ป่าชายเลนและหญ้าทะเลที่อาจปรับตัวไม่ทัน หรือไม่มีพื้นที่ให้ถอยร่นได้อีกแล้วเพราะมีการตั้งถิ่นฐานและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ครอบครองอยู่

ด้านหนึ่งมหาสมุทรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่อีกด้านหนึ่งมหาสมุทรเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสภาวะโลกร้อนเช่นกัน ไม่นับวิกฤติด้านต่างๆ ที่กำลังคุกคามสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงเกินขนาด การทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง ขยะพลาสติกจำนวนมากในทะเลที่เมื่อปล่อยไว้ในสภาพแวดล้อมก็ปลดปล่อยก๊าซมีเทนและเอทิลีนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30 เท่า


COP26 กับข้อเรียกร้องเพื่อการอนุรักษ์ทะเล

ความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีความพยายามยกระดับความสำคัญของการอนุรักษ์และปกป้องระบบนิเวศทางทะเลให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อครั้งที่แล้ว (COP25) ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน การประชุมครั้งนั้นได้รับการขนานนามว่าเป็นการประชุมสุดยอดสีน้ำเงิน หรือ Blue COP ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคาดหวังว่า ในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 26 จะมีข้อตกลงด้านการคุ้มครองมหาสมุทรที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้าการประชุม COP26 ได้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการอนุรักษ์มหาสมุทรที่น่าสนใจหลายอย่าง เริ่มจาก สหประชาชาติได้กำหนดให้ทศวรรษ 2021-2030 เป็นทศวรรษแห่งวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (The United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development) ซึ่งมีคำขวัญว่า “วิทยาศาสตร์ที่เราจำเป็นต้องรู้เพื่อทะเลที่เราต้องการ” 

ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่ามหาสมุทรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการหาทางออกของวิกฤติหลายด้านในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจถดถอย ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลและองค์กรอนุรักษ์นานาชาติหลายแห่งได้พยายามกระตุ้นให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเลอีกครั้ง หลังจากที่ทุกอย่างถูกทำให้หยุดชะงักเพราะโควิด มีการประชุมระดับสูงโดยสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 (มหาสมุทร) และการประชุมนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ซึ่งล้วนได้ผลสรุปไปในทิศทางเดียวกัน คือ ข้อเรียกร้องทางออกที่ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคน (transformative change) และปฏิบัติได้จริง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหามลภาวะทางทะเล คุ้มครองและฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างจริงจัง และหยุดยั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย รวมไปถึงหยุดเงินอุดหนุนการประมงเกินขนาด

กิจกรรมของมนุษย์หลายอย่างในทะเลส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การขนส่งทางเรือที่ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล การทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง และการทำเหมืองใต้ทะเล งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รายงานว่า การทำประมงด้วยเรืออวนลาก (bottom trawling) ซึ่งเปิดหน้าดินบริเวณพื้นมหาสมุทรทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1.5 พันล้านตันทุกๆ ปี มากกว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเสียอีก การทำประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายล้างจึงจำเป็นต้องได้รับการควบคุมอย่างเคร่งครัดและต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนเครื่องมือให้มีความยั่งยืนและรับผิดชอบมากขึ้น

จอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกา กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐอเมริกาตระหนักดีถึงความเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรกับสภาพภูมิอากาศอย่างแยกไม่ออก และจะให้การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ทะเลที่สำคัญๆ เช่น 30×30 ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล หรือพื้นที่ที่ปลอดจากกิจกรรมประมงทำลายล้าง เช่น อวนลาก ให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2030 รวมไปถึงการผลักดันพันธกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งทางเรือให้เป็นศูนย์ (Zero Emission Shipping Mission) โดยเรือขนส่งขนาดยักษ์อย่างน้อยร้อยละ 5 ต้องเดินเรือโดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยภายในปี 2030

ข้อเรียกร้อง 30×30 ที่พยายามผลักดันให้เกิดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลทั่วโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการบรรจุอยู่ในร่างเบื้องต้นของข้อตกลงการประชุมสุดยอดด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (COP15) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะนักวิทยาศาสตร์มองว่า เป็นมาตรการที่ชัดเจนและจับต้องได้ที่สุด โดยในปัจจุบันเรามีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยรวมทั้งหมดทั่วโลกราวร้อยละ 8 เท่านั้น ส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลไม่ถึงร้อยละ 6 การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ถึงร้อยละ 30 ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกจึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ความร่วมมือ Because the Ocean เป็นการรวมกลุ่มของประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาจำนวน 41 ประเทศ (พ.ย. 2021) ที่ต้องการชูบทบาทของมหาสมุทรในนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ocean-Climate nexus) ตั้งแต่การประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือ Because the Ocean ได้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการพิจารณามาตรการอนุรักษ์ทะเลให้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contributions – NDCs) ภายใต้ข้อตกลงปารีส นอกจากนี้ยังได้รวบรวมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรในยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำเอามหาสมุทรมาเป็นส่วนหนึ่งของทางออก ซึ่งสามารถใช้ได้กับ NDCs แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAPs) แผนการสื่อสารด้านการปรับตัว (AC) และกรอบนโยบายระดับชาติ (National Policy Framework)

แอนนา-มารี ลอรา ผู้อำนวยการนโยบายสภาพภูมิอากาศของ Ocean Conservancy กล่าวว่า การประชุม COP26 ต้องบูรณาการประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรเข้าไปในกระบวนการพิจารณาด้วย โดยหวังว่าจะเห็นการเชื่อมโยงด้านนโยบายระหว่างมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศ (Ocean-Climate Dialogue) เป็นผลสำเร็จหลังการประชุม ส่วน Ghislaine Llewellyn รักษาการฝ่ายมหาสมุทรของ WWF International ให้ความเห็นว่า หาก COP26 ประสบความสำเร็จ เราคงจะได้เห็นเรื่องของมหาสมุทรอยู่ในแผนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน รวมไปถึงการลงทุนด้านงบประมาณให้มากเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา

“คนนับล้านๆ ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งและหมู่เกาะที่ลุ่มต่ำ ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องสู้สุดชีวิต และเรียกร้องให้หัวหน้ารัฐบาลในงานประชุมครั้งนี้ต้องยกระดับการแก้ปัญหา เพราะวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศก็คือวิกฤติทางทะเล ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างจากปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้นจนทำให้ระบบนิเวศทางทะเลหลายแห่งพังพินาศ โดยเฉพาะแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟในออสเตรเลีย” แอนนา-มารี กล่าวทิ้งท้าย

ล่าสุดระหว่างการประชุม COP26 ปานามา เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และคอสตาริกา ได้ประกาศถึงความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก (Eastern Tropical Pacific Marine Corridor หรือ CMAR) ที่จะทำให้เกิดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ปราศจากการทำประมงที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ร้อยล้านไร่ หรือมีขนาดพอๆ กับประเทศไทยทั้งประเทศ พื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางการอพยพสำคัญของสัตว์ทะเลหายากทั้งเต่าทะเล วาฬ ฉลาม และปลากระเบน นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์สำคัญในการอนุรักษ์มหาสมุทร ที่จะช่วยสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อน

การประชุม COP26 เป็นเวทีสำคัญในการประชุมและต่อรองเพื่อหาทางออก ทุกประเทศต้องเร่งแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนและรับผิดชอบโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบก้าวกระโดดให้ได้ และต้องตระหนักว่าการแก้ปัญหาวิกฤตทางทะเลก็นับเป็นการลงมือแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน

ยังต้องติดตามว่าจะมีแผนการอนุรักษ์มหาสมุทรที่ได้รับรองจากการประชุม COP26 ครั้งนี้หรือไม่ ทั้งนี้ ทุกประเทศต้องไม่ลืมว่าการที่มหาสมุทรจะช่วยปกป้องเราจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ต้องเป็นระบบนิเวศที่ยังสมดุล สมบูรณ์และได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

บทความโดย ดร.เพชร มโนปวิตร

เครดิตภาพ https://thaipublica.org/2021/11/sustainability4all05/


ดร.เพชร มโนปวิตร
นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาโครงการเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน, เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef รวมถึงเป็นนักเขียน นักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์

เครดิตข้อมูลที่มา : https://thaipublica.org/2021/11/sustainability4all05/


กำลังโหลดความคิดเห็น