RCEP trade pact good to go on Jan 1, 2022
By SCOTT FOSTER
04/11/2021
ข้อตกลงที่จะจัดตั้งกลุ่มการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเวลา 60 วันข้างหน้า หลังจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ให้สัตยาบันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ให้สัตยาบัน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement หรือ RCEP อาร์เซ็ป) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการแผ้วถางทางให้ข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2022
รัฐบาลออสเตรเลียแจ้งการให้สัตยาบันของตนไปเมื่อวันอังคาร (2 พ.ย.) และนิวซีแลนด์ทำอย่างเดียวกันในวันถัดมา
อย่างที่ ฟิล ทวีฟอร์ด (Phil Twyford) รัฐมนตรีช่วยที่ดูแลการเติบโตทางการค้าและการส่งออกของนิวซีแลนด์ ชี้เอาไว้ในเอกสารเผยแพร่ข่าวอย่างเป็นทางการ “การให้สัตยาบันของนิวซีแลนด์เมื่อวานนี้ ซึ่งกระทำเคียงข้างกับออสเตรเลีย เท่ากับเป็นการลั่นไกเริ่มต้นการบังคับใช้สิ่งที่จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเร่งทวีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิดของเราให้รุดคืบหน้าต่อไปอีก”
เวลานี้ อาร์เซ็ป ได้รับการให้สัตยาบันแล้วจาก บรูไน, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์, ไทย, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, และจีน เท่ากับว่าข้อตกลงฉบับนี้บรรลุเงื่อนไขที่จะเข้าสู่การมีผลบังคับใช้ภายในเวลา 60 วันข้างหน้าแล้ว หลังจากได้รับการให้สัตยาบันจากสมาชิกอาเซียนอย่างน้อยที่สุด 6 ราย และผู้ร่วมลงนามอื่นๆ อีกอย่างน้อย 3 ราย
สำหรับ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, และเกาหลีใต้ ที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน อาร์เซ็ป นั้น ทุกๆ รายยกเว้นพม่า ดูเหมือนน่าที่จะกระทำเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นในเวลาอีกไม่นาน
เอกสารเผยแพร่ข่าวของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ฉบับที่พูดถึงข้างต้น ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า “สำหรับบรรดาผู้ส่งออก ธุรกิจ และ นักลงทุนชาวนิวซีแลนด์แล้ว นี่หมายความว่า
**มีระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนเพียงชุดเดียวเท่านั้น บังคับใช้กันตลอดทั่วทั้งภูมิภาคอาร์เซ็ป จึงเป็นการเพิ่มพูนความแน่นอนและเป็นการลดทอนความยุ่งยากซับซ้อน
**มีโอกาสสำหรับบรรดาผู้ส่งออกของนิวซีแลนด์ที่จะนำเอาผลิตภัณฑ์ของพวกตนเข้าไปในห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค ในระดับครอบคลุมทั่วทั้ง อาร์เซ็ป
**มีโอกาสเข้าถึงตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการบริการต่างๆ ตลอดจนการลงทุน เข้าไปยังจีนและรัฐสมาชิกอาซียนบางราย
**ในกรณีของพวกผู้ส่งออกแล้ว ต้องเผชิญกับพวกระเบียบยุ่งยากซับซ้อนต่างๆ ลดน้อยลง ขณะที่การค้าก็มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น
**มีระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐบาล, ในเรื่องนโยบายว่าด้วยการแข่งขัน, และในเรื่องการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยบรรดาผู้ส่งออกของนิวซีแลนด์ให้สามารถฉวยคว้าความได้เปรียบแห่งโอกาสทางธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่ทางการนิวซีแลนด์กล่าวถึงเหล่านี้ ต้องถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากพวกที่มองการค้าเอเชีย-แปซิฟิก โดยผ่านแว่นของการแข่งขันชิงดีกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนเท่านั้น มีความนิยมที่จะวาดภาพ อาร์เซ็ป ว่าเป็นความริเริ่มที่นำโดยจีนซึ่งมุ่งหมายที่จะเขียนระเบียบกฎเกณฑ์ของการค้าระหว่างประเทศเสียใหม่เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ปักกิ่ง ทว่านั่นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง
สิ่งซึ่งในท้ายที่สุดแล้วกลายเป็น อาร์เซ็ป นี้ มีต้นกำเนิดมาจากการประชุม อาเซียน+3 (คืออาเซียนกับ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้) ในเดือนสิงหาคม 2011 ซึ่งมีมติยอมรับข้อเสนอร่วมของญี่ปุ่น-จีน ที่มีชื่อว่า “แผนการริเริ่มว่าด้วยการเร่งความเร็วในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก และความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านในเอเชียตะวันออก” หรือ Initiative on Speeding up the Establishment of an East Asia Free Trade Area (EAFTA) and Comprehensive Economic Partnership in East Asia (CEPEA)
บรรดารัฐประชาธิปไตยในเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด ต่างเกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการอันยาวนานของการพัฒนา อาร์เซ็ป ขึ้นมา และพวกเขาทั้งหมดต่างลงนามในข้อตกลงนี้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020
เมื่อตอนที่ญี่ปุ่นให้สัตยาบัน อาร์เซ็ป ในวันที่ 25 มิถุนายนปีนี้ ฮิโรชิ คาจิยามะ (Hiroshi Kajiyama) รัฐมนตรีเศรษฐกิจ, การค้า, และอุตสาหกรรมของประเทศนั้น บอกกับสื่อมวลชนว่า “ข้อตกลงนี้จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความเชื่อมโยงระหว่างญี่ปุ่นกับภูมิภาค (เอเชีย-แปซิฟิก) ซึ่งกำลังเป็นศูนย์กลางแห่งการเติบโตของโลก และจะมีคุณูปการแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุนเมื่อข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้”
อาร์เซ็ป ซึ่งครอบคลุมเศรษฐกิจของโลกเอาไว้ราวๆ 30% ยังเป็นข้อตกลงการค้าฉบับแรกซึ่งเชื่อมโยงญี่ปุ่น, จีน, และเกาหลีใต้เข้าด้วยกัน ข้อตกลงนี้จะขจัดการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากพวกสินค้าที่มีการซื้อขายกันประมาณ 90% และสร้างความเป็นมาตรฐานให้แก่กฎระเบียบด้านศุลกากร, การลงทุน, ทรัพย์สินทางปัญญา, และอี-คอมเมิร์ซ จำนวนมาก
ถึงแม้มีการกล่าวหากันต่างๆ –โดยที่สำคัญที่สุดคือการกล่าวหาจากฝ่ายอเมริกัน— ว่า อาร์เซ็ป เป็นข้อตกลงอันต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งจะเอื้ออำนวยผลประโยชน์ต่างๆ อย่างจำกัด แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับประมาณการเอาไว้ว่า ข้อตกลงนี้จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 2.7% พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดอกผลที่มีศักยภาพจะเกิดขึ้นมาได้นั้น อยู่ในระดับใหญ่โตมหึมา
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ https://asiatimes.com/2020/11/asia-pacific-trade-moves-on-without-the-us/)
น่าสังเกตว่า ออสเตรเลียยังคงเดินหน้าให้สัตยาบัน อาร์เซ็ป ถึงแม้มีข้อพิพาทอันดุเดือดเผ็ดร้อนอยู่กับจีน โดยที่ในเอกสารเผยแพร่ข่าวของรัฐบาลแดนจิงโจ้ย้ำว่า “เมื่อมีผลบังคับใช้สำหรับผู้ร่วมลงนามทั้งหมดทั้ง 15 รายแล้ว อาร์เซ็ป จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหญ่ที่สุดของโลก และทำให้บรรดาคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย 15 รายแรก มีถึง 9 รายทีเดียวที่จะเข้าสู่กรอบโครงทางเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน”
สำหรับเอกสารเผยแพร่ข่าวของสมาคมอาเซียนนั้น ได้บรรจุคำแถลงของเลขาธิการอาเซียน ดาโต๊ะ ลิม จก โฮย (Dato Lim Jock Hoi) เอาไว้ด้วย ดังนี้ “กระบวนการให้สัตบายันของบรรดารัฐผู้ร่วมลงนาม ที่เป็นไปอย่างฉับไวเช่นนี้ คือผลสะท้อนอย่างแท้จริงของความมุ่งมั่นผูกพันอย่างเข้มแข็งของพวกเรา อันมีต่อระบบการค้าพหุภาคีแบบเป็นธรรมและเปิดกว้าง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาคและของโลก”
อินเดียนั้นได้รับคำเชื้อเชิญให้เข้าร่วม อาร์เซ็ป ในแบบพร้อมเมื่อใดก็เข้ามา แต่เท่าที่เป็นอยู่จนถึงเวลานี้นั้น นิวเดลียังคงปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ด้วยความหวาดกลัวว่าเศรษฐกิจของตนจะต้องประสบความสูญเสีย ในสภาพแวดล้อมที่จะถูกจำกัดทำให้ใช้พวกมาตรการการกีดกันการค้าได้ลดน้อยลง
สหรัฐฯก็ปฏิเสธไม่เข้าร่วม ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันนี้ ขณะที่สำหรับ อาร์เซ็ป แล้ว สหรัฐฯไม่เคยได้เข้ามีส่วนร่วมในแผนการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย
เวลาเดียวกันนั้น สหรัฐฯมีการเอ็กเซอร์ไซส์ส่งเรือรบแล่นเข้าไปในทะเลจีนใต้อยู่เป็นประจำเพื่อเป็นการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) โดยระบุว่าการกระทำเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาเส้นทางเดินเรือทะเลตรงนี้ให้เปิดกว้างเอาไว้สำหรับการค้าเสรี
แต่มันก็มีความเสี่ยงที่การเอ็กเซอร์ไซส์ทางนาวีอย่างคึกคักกระตือรือร้นเกินเหตุ อาจกลับกลายเป็นการรบกวนการเดินเรือในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น ในปี 2017 เรือรบอเมริกันลำหนึ่งได้ชนปะทะกับเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ชักธงฟิลิปปินส์ ที่บริเวณนอกชายฝั่งของญี่ปุ่น แล้วยังมีอีกลำหนึ่งชนกับเรือบรรทุกเคมีภัณฑ์ที่บริเวณใกล้ๆ กับสิงคโปร์
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง เรือดำนำอเมริกันลำหนึ่งซึ่งปฏิบัติการอยู่ในทะเลจีนใต้ ได้แล่นชนสิ่งที่กองทัพเรือสหรัฐฯวินิจฉัยในเวลาต่อมาว่าเป็นภูเขาใต้ทะเลที่ยังไม่มีการระบุอยู่ในแผนที่
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/11/us-probe-of-undersea-sub-collision-raises-doubts/)
นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานเรื่องที่เรือของนาวีสหรัฐฯกับเรือของนาวีจีน “หวุดหวิดที่จะชนกัน” มาแล้วหลายครั้ง
สกอตต์ ฟอสเตอร์ เป็นนักวิเคราะห์ซึ่งทำงานอยู่กับ ไลต์สตรีม รีเสิร์ช (Lightstream Research), โตเกียว