รอยเตอร์ – ไบเดนให้ความมั่นใจอเมริกาพร้อมเคียงข้างอาเซียนเพื่อปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือและประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังวิจารณ์การปฏิบัติต่อไต้หวันของจีนเป็นการข่มขู่ อีกทั้งคุกคามสันติภาพและเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ยังประกาศเตรียมหารือกับหุ้นส่วนในอินโด-แปซิฟิกเกี่ยวกับการพัฒนากรอบโครงเศรษฐกิจแห่งภูมิภาค
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสนามต่อสู้เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญมากขึ้นระหว่างอเมริกากับจีนที่ควบคุมทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และปักกิ่งยังเพิ่มความกดดันทางทหารและการเมืองต่อไต้หวันเนื่องจากมองว่า เกาะมังกรน้อยเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงเมื่อวันพุธ (27 ต.ค.) ในระหว่างการประชุมสุดยอดเสมือนเอเชียตะวันออกที่มีนายกรัฐมนตรีหลี่ เคอะเฉียงของจีนเข้าร่วมด้วยว่า อเมริกามีพันธะสัญญาที่มั่นคงกับไต้หวัน พร้อมแสดงความกังวลต่อการข่มขู่ของจีนซึ่งคุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ทางด้านนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวในที่ประชุมเดียวกันว่า การส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้เป็นผลประโยชน์ของทุกประเทศ
สัปดาห์ที่แล้ว ไบเดนประกาศว่า อเมริกาซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในปี 1979 ในการให้การสนับสนุนเพื่อให้ไต้หวันสามารถป้องกันตัวเองได้นั้น จะปกป้องไต้หวันถ้าถูกจีนโจมตี คำประกาศดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากดูเหมือนเป็นการละทิ้งนโยบาย “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” ที่อเมริกายึดถือมานานเกี่ยวกับวิธีรับมือหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว
ร้อนถึงทำเนียบขาวต้องรีบชี้แจงว่า ไบเดนไม่ได้ต้องการส่งสัญญาณว่า จะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อไต้หวัน ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า คำพูดดังกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการเสียมารยาท
ช่วงหลายสัปดาห์มานี้สถานการณ์ระหว่างไต้หวันกับจีนตึงเครียดมากขึ้น หลังจากปักกิ่งส่งเครื่องบินรบบินเหนือช่องแคบไต้หวันถี่ผิดปกติ
จีนยังแสดงความไม่พอใจกับการแสดงความคิดเห็นของไบเดนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเรียกร้องวอชิงตันงดส่งสัญญาณผิดๆ สนับสนุนให้ไต้หวันประกาศอิสรภาพ เพื่อป้องกันความสัมพันธ์วอชิงตัน-ปักกิ่ง ตลอดจนถึงสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน
นอกจากประเด็นไต้หวันแล้ว ไบเดนยังร่วมกับผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตำหนิรัฐบาลทหารพม่า โดยกล่าวว่า จำเป็นต้องจัดการกับโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการรัฐประหารของกองทัพที่บ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาคมากขึ้น พร้อมเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองและกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เริ่มการประชุมสุดยอดเมื่อวันอังคาร (26 ต.ค.) โดยปราศจากตัวแทนจากพม่า หลังจากอาเซียนตัดสินใจไม่เชิญผู้นำพม่าที่เพิกเฉยต่อข้อเสนอสันติภาพ
ไบเดนยังพาดพิงถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและทิเบต รวมทั้งสิทธิของชาวฮ่องกง ขณะที่จีนปฏิเสธว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิในทั้งสามดินแดนดังกล่าว
ประมุขทำเนียบขาวสำทับว่า วอชิงตันจะเริ่มหารือกับหุ้นส่วนในอินโด-แปซิฟิกเพื่อพัฒนากรอบโครงเศรษฐกิจแห่งภูมิภาค หลังจากก่อนหน้านี้มีผู้วิจารณ์ว่า กลยุทธ์ของอเมริกาขาดองค์ประกอบด้านเศรษฐกิจ หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงการค้าที่มีชื่อว่า ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เมื่อปี 2017
คณะบริหารของไบเดนพยายามหลีกเลี่ยงการกลับสู่ข้อตกลงดังกล่าวเนื่องจากมีผู้วิจารณ์ว่า อาจกระทบต่อการจ้างงานในอเมริกา และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของคณะบริหารย้ำว่า แผนการริเริ่มที่ไบเดนกล่าวถึง “ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้า” แต่เป็นกรอบโครงเศรษฐกิจเพื่อกำหนดจุดยืนของอเมริกาสำหรับอนาคตโดยมุ่งเน้นที่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานและชนชั้นกลาง และนำทางสู่การเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจในเอเชีย
นอกจากนั้นเมื่อวันพุธ ออสเตรเลียยังตกลงกับอาเซียนในการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์อย่างครอบคลุม ส่งสัญญาณว่า แคนเบอร์ราต้องการมีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้มากขึ้น
นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลีย กล่าวว่า ความตกลงนี้จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและความมั่นคงระหว่างกันให้แน่นแฟ้นขึ้น
มอร์ริสันยังพยายามฟื้นความมั่นใจอาเซียนว่า ข้อตกลงความมั่นคงที่ทำกับอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียเข้าถึงเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์นั้น จะไม่เป็นภัยคุกคามอาเซียน