xs
xsm
sm
md
lg

อินโดฯชาติแรกอนุมัติใช้วัคซีนโควิด'โนวาแว็กซ์' ผลทดลองพบป้องกันติดเชื้ออาการรุนแรง100%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อินโดนีเซีย ชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างหนัก กลายเป็นประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีนใหม่ต้านโควิด-19 ที่ผลิตโดยโนวาแวกซ์ (Novavax) บริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ จากคำแถลงของทางบริษัทเมื่อวันจันทร์(1พ.ย.)

ความเคลื่อนไหวอนุมัติครั้งนี้ จะเปิดทางให้ อินโดนีเซีย ซึ่งกำลังดิ้นรนอย่างหนักในการควานหาอุปทานวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้เพียงพอสำหรับประชากร 270 ล้านคน เป็นชาติแรกที่เข้าถึงวัคซีนตัวนี้ ซึ่งจะผลิตในอินเดีย ภายใต้แบรนด์ "โควาแว็กซ์"

วัคซีนของโนวาแว็กซ์ใช้เทคโนโลยีที่ต่างจากบรรดาวัคซีนที่ได้รับความเห็นชอบและถูกกระจายไปทั่วโลกในปัจจุบัน ไม่เหมือกับเทคโนโลยี mRNA ของไฟเซอร์/ไบออนเทค โมเดอร์นาและคียวร์แวค วัคซีน 2 เข็มของโนวาแว็กซ์พึ่งพิงเทคนิคดั้งเดิมกว่า โดยใช้โปรตีนจากส่วนของเชื้อไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรค ผสมกับตัวกระตุ้นภูมิ ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

นอกหนือจากนี้แล้ว วัคซีนโนวาแว็กซ์ยังสามารถจัดเก็บไว้ในอุณหภูมิที่สูงกว่าวัคซีนตัวอื่นๆๆ ที่ราวๆ 2-8 องศาเซลเซียส ทำให้มันขนส่งและจัดเก็บได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา

"การอนุมัติครั้งแรกวัคซีนโควิด-19 ของโนวาแว็กซ์ เป็นตัวอย่างในคำสัญญาของเราเกี่ยวกับการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมทั่วโลก และจะเติมเต็มความต้องการที่สำคัญยิ่งสำหรับอินโดนีเซีย ในกำลังเดินหน้าทำงานจัดหาวัคซีนให้เพียงพอแก่ประชาชนของพวกเขาทุกคน แม้จะมีประประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกก็ตาม"

วัคซีนจะผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย และการส่งมอบจะเริ่มขึ้นในทันที ถ้อยแถลงของโนวาแว็กซ์ระบุ

ในเดือนมิถุนายน ทางบริษัทรายงานว่าผลการทดลองวัคซีนในอาสาสมัคร 30,000 คนในสหรัฐฯและเม็กซิโก พบว่ามันมีประสิทธิภาพ 90.4% ในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ และมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการติดเชื้ออาการปานกลางและรุนแรง

เวลานี้ทางบริษัทยื่นขออนุมัติใช้วัคซีนในหลายประเทศ รวมถึงองค์การยาแห่งยุโรป และกำลังขอขึ้นบัญชีใช้ในกรณีฉุกเฉินกับองค์การอนามัยโลก

ส่วนการยื่นคำร้องต่อสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ ผู้ควบคุมกฎระเบียบของสหรัฐฯ จะดำเนินการในช่วงปลายปี

วัคซีนโควาแว็กซ์ มีคำสั่งซื้อในเบื้องต้น ระหว่างรอการอนุมัติ 200 ล้านโดสจากคณะกรรมาธิการยุโรปและอีก 150 ล้านโดสจากญี่ปุ่น

(ที่มา:เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น