รู้ไม่จริง หรือตั้งใจบิดเบือน! “เลขาฯ เม้ง” จวก หน.ก้าวไกล ปมด้อยค่า ATK ลั่นรัฐไม่เลือกของไม่มีคุณภาพ ตรวจละเอียดกว่าจะผ่านได้ ชี้ มีอคติทางการเมืองชัด แต่ชีวิต ปชช.ละเลิกบ้าง อย่าเอาชีวิตคนมาเล่น
วันนี้ (14 ต.ค.) จากกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาวิจารณ์ชุดตรวจ ATK ที่จัดหามาโดยภาครัฐ ว่า ด้อยมาตรฐาน ถึงขั้นที่ สสจ.นครศรีธรรมราช สั่งงดใช้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงนั้น
ด้าน นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายพิธา นำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วนเอาใจแฟนคลับ แต่กำลังบิดเบือนสังคม ปัญหาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเรื่องของการใช้ผิดวัตถุประสงค์ เขาห้ามใช้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ยังไปฝืนใช้กัน มันก็ต้องออกประกาศ คือ เรื่องนี้ ไม่ใหม่เลย ทางคุณหมอออกมาเคลียร์ปมแล้ว นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช อธิบายว่า ตามมาตรฐานของชุดตรวจ ATK แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สำหรับทางการแพทย์ (Professional Use) ที่ต้องให้แพทย์ใช้ตรวจเท่านั้น ด้วยวิธีแยงเข้าไปหลังโพรงจมูกซึ่งอยู่ต่อกับลำคอ
และ สำหรับประชาชนทั่วไป (Home Use) ด้วยการแยงเข้าไปในรูจมูกส่วนหน้า ซึ่งตามหลักการแล้ว หากเป็นประชาชนเสี่ยงสูง สัมผัสผู้ติดเชื้อมา ไปถึงโรงพยาบาลก็ต้องใช้วิธีการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อผลที่ชัดเจน หรือหากจะตรวจด้วยแอนติเจน ก็ต้องใช้แบบทางการแพทย์ โดยแพทย์เป็นผู้เก็บตัวอย่าง
แต่พบโรงพยาบาลบางแห่ง นำชุดตรวจ ATK แบบที่ประชาชนตรวจ มาตรวจให้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จึงต้องออกประกาศว่า หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องใช้การตรวจแบบทางการแพทย์เท่านั้น
หมอย้ำว่า ตัวชุดตรวจไม่มีปัญหาเลย แต่เอามาใช้กันผิดวัตถุประสงค์ มันก็ต้องออกประกาศให้ชัดว่าอะไร ทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่นายพิธา ไม่พูดถึงเรื่องนี้ ดันไปละเลยรายละเอียดสำคัญแล้ววกมาด่าชุดตรวจ
รู้ไหม ชุดตรวจที่นาย ATK วิจารณ์นั้นได้รับการยอมรับในระดับสูง มีผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการจาก 3 แหล่ง ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศไทย ดังนี้
1. สถาบัน BIOMEX GmbH Heidelberg ณ ประเทศเยอรมนี ได้มีผลการศึกษาและทดสอบเพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ATK SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test หลังจากออกสู่ตลาดโดยการใช้งานของบุคคลทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีผลการศึกษาและทดสอบตามลำดับ ดังนี้ ในเดือนเมษายน 2564 พบว่า ความไวในการวินิจฉัย คือ ร้อยละ 91.30 ความจําเพาะร้อยละ 100 และเดือนมิถุนายน 2564 พบว่าความไวในการวินิจฉัยคือ ร้อยละ 95.5 และความจําเพาะร้อยละ 100
2. คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีผลการศึกษาและทดสอบ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ความไวในการวินิจฉัยคือร้อยละ 92 ความจำเพาะร้อยละ 99.3
3. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลการศึกษาพบว่า มีความไวในการวินิจฉัยร้อยละ 90 ความจำเพาะร้อยละ 100 และความไม่จำเพาะร้อยละ 0
ซึ่งผ่านตามเกณฑ์ทางกฎหมาย และเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด รวมถึงสอดคล้องกับประกาศจาก อย.ประเทศไทย
ทั้งนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี, สวีเดน, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, อิตาลี, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น เป็นต้น
“ผมไม่คิดว่ารัฐ จะจิ้มเลือกของไม่มีประสิทธิภาพมาให้บริการประชาชน กว่าที่ชุดตรวจยี่ห้อนี้จะผ่านมาได้ มันมีการตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งจาก อย.และสถาบันการแพทย์ อย่างคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว ข้อมูลครบถ้วน และเปิดเผยไม่เป็นความลับ แต่นายพิธากลับไม่พูดถึง คำชี้แจงของ สสจ.นครศรีฯ ก็ชัดเจน แต่นายพิธา กลับไม่รู้ แกล้งลืม หรือลืมจริง ผมไม่ทราบ แต่ นายพิธา กำลังให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน นายพิธา มีอคติทางการเมืองแน่นอน แต่เรื่องชีวิตประชาชน ก็ละเลิกบ้าง จำได้ไหม ตอนวัคซีนเข้ามา แนวร่วมของนายพิธา และพรรคของนายพิธา ก็ไปด้อยค่าจนคนไม่กล้าฉีด รอวัคซีน ทิ้งสิทธิพึงมี บางคน รอจนติดเชื้อ และเสียชีวิต กราบวิงวอนนายพิธา อย่าเอาชีวิตคนมาเล่นการเมือง เรื่อง ATK เราต้องการให้คนเข้าถึงการตรวจ แต่นายพิธา กำลังสร้างความกลัว จนคนไม่ตรวจ ทำให้ระบบการควบคุมโรคมีปัญหา เลิกเถอะ นิสัยมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ”