xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ไว้หน้า! ปธน.ตุรกีสั่งตะเพิดทูตสหรัฐฯ กับอีก 9 ชาติ เคืองร้องปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี
ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี เปิดเผยในวันเสาร์ (23 ต.ค.) ว่าได้แจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ให้ขับไล่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ อีก 9 ชาติ โทษฐานที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว ออสมัน คาวาลา นักเคลื่อนไหว ซึ่งถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2016

ในบรรดาเอกอัครราชทูตทั้งหมดนั้น มีอยู่ 7 คนที่เป็นผู้แทนของประเทศพันธมิตรนาโต้ของตุรกี และการขับไล่ครั้งนี้ หากว่าดำเนินการจริงจะยิ่งเป็นการกัดกร่อนความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับตะวันตกให้ร้าวลึกที่สุดของช่วง 19 ปีที่ แอร์โดอัน ครองอำนาจ

คาวาลา ผู้มีส่วนร่วมในกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ถูกจองจำมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี ตามข้อกล่าวหาให้การสนับสนุนเงินทุนแก่การประท้วงทั่วประเทศในปี 2013 และมีความเกี่ยวข้องกับรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2016 เขายังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดี และปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหลาย

บรรดาเอกอัครราชทูตแคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ออกถ้อยแถลงร่วมเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เรียกร้องให้หาข้อยุติอย่างรวดเร็วในคดีของคาวาลา และปล่อยตัวเขาอย่างเร่งด่วน จากนั้นทางกระทรวงการต่างประเทศตุรกีจึงเรียกตัวพวกเขาเข้าพบ พร้อมกับประณามมันว่าเป็นถ้อยแถลงที่ไร้ความรับผิดชอบ

"ผมได้ออกคำสั่งที่จำเป็นถึงกระทรวงการต่างประเทศของเราและบอกว่าอะไรที่ต้องทำ นั่นก็คือต้องประกาศให้เอกอัครราชทูต 10 คนเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา คุณจะต้องชัดเจนในทันที" แอร์โดอัน กล่าวระหว่างปราศรัยที่เมืองเอสกิซีเฮียร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ "พวกเขาจะรูู้และเข้าใจตุรกี ในวันที่พวกเขาไม่รู้และไม่เข้าใจตุรกี พวกเขาจะต้องออกไป"

สหรัฐฯ สถานทูตฝรั่งเศส ทำเนียบขาวและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

แอร์โดอัน เคยบอกว่าเขามีแผนพบปะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ณ ที่ประชุมซัมมิตจี 20 ในกรุงโรม สัปดาห์หน้า

คาวาลา ได้รับการชำระคดีเมื่อปีที่แล้ว จากข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงปี 2013 แต่มีการกลับคำพิพากษาในปีนี้ และได้รวมมันเข้ากับข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหาร

กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างระบุว่า คดีของคาวาลา คือสัญลักษณ์แห่งการปราบปรามผู้เห็นต่างของแอร์โดอัน

6 ประเทศที่เกี่ยวข้องเป็นสมาชิกอียู ในนั้นรวมถึงเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งในเรื่องนี้ ดาวิด ซัสโซลิ ประธานรัฐสภายุโรปเขียนบนทวิตเตอร์ว่า "การขับไล่เอกอัครราชทูต 10 คน คือสัญลักษณ์แห่งแนวโน้มเผด็จการของรัฐบาลตุรกี เราจะไม่ยอมถูกข่มขู่ เสรีภาพเพื่อออสมัน คาวาลา"

นอร์เวย์เผยว่า สถานทูตของพวกเขายังไม่ได้รับการแจ้งใดๆ จากเจ้าหน้าที่ตุรกี ส่วน เจปป์ โคฟอด รัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์ก ระบุว่ากระทรวงของเขาก็ยังไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการเช่นกัน แต่เวลานี้พวกเขาอยู่ระหว่างติดต่อประสานงานกับมิตรสหายและพันธมิตร

"เราจะยังคงเดินหน้าปกป้องค่านิยมและหลักการร่วมของเรา ซึ่งได้แสดงออกในถ้อยแถลงร่วมไปแล้วเช่นกัน" เขากล่าวในถ้อยแถง

คาวาลาเปิดเผยในวันศุกร์ (22 ต.ค.) ว่าเขาจะไม่เข้ารับฟังการพิจารณาคดีต่อไป เนื่องจากความคิดเห็นของแอร์โดอันเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้การพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้การพิจารณาคดีนัดถัดไปของคาวาลา จะมีขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน

แอร์โดอันกล่าวในวันพฤหัสบดี (21 ต.ค.) ว่าบรรดาเอกอัครราชทูตทั้งหลายที่ถูกขับไล่นั้น คงไม่มีทางปล่อยผู้ร้าย ฆาตกร และพวกก่อการร้ายในประเทศของตนเองเช่นกัน

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น