xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก‘อาเซียน’แสดงจุดยืนเรื่อง‘พม่า’ได้เสียที ด้วยการไม่เชิญผู้นำคณะทหารไปร่วมประชุมซัมมิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เบอร์ทิล ลินต์เนอร์


ธงชาติพม่า (กลาง ทางซ้ายของธงชาติไทย) เรียงรายเคียงข้างธงชาติของรัฐสมาชิกอื่นๆ ในงานประชุมซัมมิตอาเซียนครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2019 แต่สมาคมอาเซียนแถลงแล้วว่า จะไม่เชิญหัวหน้าคณะปกครองทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมซัมมิต วันที่ 26-28 ต.ค.นี้
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Why ASEAN finally took a stand on Myanmar
By BERTIL LINTNER
18/10/2021

สมาคมอาเซียนมีเหตุผลดีๆ เป็นโขยง สำหรับการปิดกั้นไม่ให้ตัวแทนของคณะปกครองทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมซัมมิตในเดือนนี้

ใช่หรือไม่ว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้ทอดทิ้งนโยบายที่พวกเขายึดถือกันมาอย่างยาวนานในเรื่อง “การไม่เข้าแทรกแซง” ในกิจการภายในของรัฐสมาชิกอื่นๆ เป็นครั้งแรกแล้ว ด้วยการสกัดกั้นไม่ให้ตัวแทนของคณะปกครองทหารของพม่าเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของอาเซียนซึ่งกำลังจะจัดขึ้นที่บรูไน? และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ทำไมพวกเขาจึงตัดสินใจเช่นนี้?

ใช่หรือไม่ว่า อาเซียนมีความห่วงใยเกี่ยวกับการรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งติดตามมาด้วยการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตเพื่อกดขี่กำราบการคัดค้านของสาธารณชนในวงกว้างขวางมหึมาซึ่งไม่พอใจการเข้ายึดอำนาจของฝ่ายทหาร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 1,000 คน และจำนวนมากมายกว่านั้นถูกจับกุมคุมขังและถูกทรมาน?

หรือว่านี่เป็นเพียงการแสดงท่าทีเพื่อรักษาหน้าให้แก่องค์การรวมกลุ่มระดับภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหนาสาหัสขึ้นทุกทีว่าไร้ประสิทธิภาพ และดังนั้นจึงกำลังสูญเสียเครดิตความน่าเชื่อถือ ในจังหวะเวลาที่พวกอภิมหาอำนาจระดับโลกกำลังแสดงบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเกมการเมืองแห่งการช่วงชิงอำนาจของภูมิภาคแถบนี้?

อาเซียนนั้นยังต้องพึ่งพาอาศัยไมตรีจิตของสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นมาภายหลังโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ขณะที่สหรัฐฯและชาติตะวันตกเหล่านี้ต่างไม่มีการบันยะบันยังอะไรทั้งสิ้นในการประณามการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในพม่า รวมทั้งยังรบเร้ากดดันให้อาเซียนต้องทำอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นปกติขึ้นมาในประเทศนั้น

พวกผู้เดินขบวนประท้วงในพม่าก็พากันประณามอาเซียนเช่นเดียวกัน สำหรับการที่สมาคมนี้แทบไม่ได้ขยับเขยื้อนทำอะไร รวมทั้งได้จุดไฟเผาธงอาเซียนในที่ชุมนุมประท้วงในนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของแดนหม่อง

แน่นอนทีเดียว อาเซียนยากที่จะสามารถเรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมรวมตัวกันของเหล่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ประธานของอาเซียนในวาระปัจจุบัน คือ บรูไน นั้น เป็นประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมาชิกอีก 2 รายของสมาคม คือ เวียดนาม กับ ลาว เป็นรัฐที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียว

กัมพูชาถูกปกครองโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ผู้ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้ดำเนินการให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านกลายเป็นพรรคนอกกฎหมาย และในกระบวนการดังกล่าวก็ทำให้ประเทศนี้จมถลำลงสู่การปกครองแบบเผด็จการอัตตาธิปไตยหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นอีก

สิงคโปร์ก็ขาดไร้บรรดาเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เมื่อมาถึงเรื่องสื่อมวลชนและสิทธิพลเมืองทั้งหลาย ส่วนมาเลเซียอย่างเก่งที่สุดย่อมสามารถเรียกได้ว่าเป็นประเทศกึ่งประชาธิปไตยเท่านั้น โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์นั้นเล่า เป็นที่ขึ้นชื่อฉาวโฉ่เรื่องที่เขารังเกียจเหยียดหยามสื่อมวลชนตลอดจนพลังคัดค้านทุกๆ อย่างต่อการปกครองของเขา

ในประเทศไทย ฝ่ายทหารได้ก่อการรัฐประหารหลายครั้งเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และฝ่ายทหารยังคงมีบทบาททางการเมืองอย่างมากมายเป็นพิเศษถึงแม้มีการจัดการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 ก็ตามที นี่ทำให้อินโดนีเซียอยู่ในฐานะอันย้อนแย้ง เนื่องจากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แดนอิเหนาตกอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการมายาวนาน แต่ปัจจุบันกลับเป็นสมาชิกอาเซียนที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยที่บางคนอาจจะอยากบอกด้วยซ้ำว่าเป็นสมาชิกอาเซียนเพียงรายเดียวที่เป็นประชาธิปไตย

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ และหัวหน้าคณะปกครองทหารพม่า เป็นประธานตรวจพลสวนสนามในวันกองทัพของพม่า ที่กรุงเนปยีดอ วันที่ 27 มีนาคม 2021  เขากำลังถูกชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ มองว่าดื้อรั้น และฉุดลากอาเซียนให้พลอยเสื่อมเสียชื่อไปด้วย
หลักการสำคัญยิ่ง 2 ประการของอาเซียน ได้แก่ การไม่แทรกแซง และฉันทามติ จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ได้ทำให้สมาคมอยู่ในสภาพเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีปฏิบัติการอย่างเด็ดขาดแน่วแน่ใดๆ เมื่อเกิดความยุ่งยากขึ้นภายในรัฐสมาชิกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือในระหว่างรัฐสมาชิกขึ้นมา อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นที่กระจ่างชัดเจนด้วยเช่นกันว่า พวกผู้นำอาเซียนกำลังหมดความอดทนเต็มทีแล้วกับคณะปกครองทหารของพม่า ซึ่งในเวลานี้ใช้ชื่อเรียกว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council หรือ SAC)

ผู้นำของคณะปกครองทหารพม่า และเวลานี้แต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี คือ พลเอกอาวุโส มิน อ่อ่อง หล่าย ได้เดินทางไปเยือนกรุงจาการ์ตาเป็นเวลา 1 วันเมื่อวันที่ 24 เมษายน ณ ที่นั้น เขากับพวกหุ้นส่วนอาเซียนของเขาได้เห็นชอบร่วมกันในสิ่งที่เรียกกันว่า “ฉันทามติ 5 ข้อ” (a five-point consensus) ซึ่งประกอบไปด้วย การเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในทันที และการใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด รวมทั้งให้มีการสนทนาในระหว่างฝ่ายต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อหาหนทางแก้ไขวิกฤตคราวนี้อย่างสันติ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการตัดสินใจให้ประธานของอาเซียนแต่งตั้งผู้แทนพิเศษคนหนึ่งขึ้นมา เพื่อ “อำนวยความสะดวกในการเป็นคนกลางในกระบวนการสนทนา” ระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว และให้จัดหาความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยผ่าน“ศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” (ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistance หรือ AHA) เพื่อการบริหารจัดการภัยพิบัติ

กระทั่ง มิน อ่อง หล่าย ก็ยังเห็นชอบว่า ผู้แทนพิเศษผู้นี้ รวมทั้งคณะผู้แทนของเขา ควรที่จะได้รับสิทธิในการไปเยือนพม่า และพบปะกับ “ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ที่นั่น

การตัดสินใจของอาเซียนในการไม่ให้ตัวแทนของคณะปกครองทหารพม่าเข้าร่วมในการประชุมซัมมิต  ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้  ได้รับการอธิบายเอาไว้ในคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งออกโดยที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคม –ที่ก็ประชุมกันทางออนไลน์เช่นเดียวกัน— ในวันที่ 15 ตุลาคม

ขณะที่คำแถลงชี้ให้เห็นถึง “หลักการต่างๆที่ระบุเอาไว้ในกฎบัตรของอาเซียน” ซึ่งนี่ย่อมหมายถึงหลักการไม่แทรกแซง บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็ระบุด้วยว่า “สถานการณ์ในพม่ากำลังมีผลกระทบต่อความมั่นคงระดับภูมิภาค ตลอดจนต่อความสามัคคี, ความน่าเชื่อถือ, และความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ในฐานะที่เป็นองค์การหนึ่งซึ่งยึดโยงอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์”

ด้วยเหตุนี้ อาเซียนจึงตัดสินใจจะ “เชิญตัวแทนผู้หนึ่งที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองจากพม่า มาเข้าร่วมการประชุมซัมมิตที่กำลังจะจัดขึ้น” ใครจะเป็นปัจเจกบุคคล “ที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง” คนดังกล่าวนั้น ยังไม่มีความกระจ่างชัดเจน เช่นเดียวกับเรื่องที่ว่าเขาหรือเธอผู้นี้จะได้รับการคัดเลือกแต่งตั้งด้วยวิธีการใดและโดยใคร

ทางด้านคณะปกครองทหารพม่าได้ตอบโต้ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ด้วยการแถลงว่า พวกเขาได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ด้วยการยอมรับการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไน เอวีวัน เปฮิน ยูซอฟ (Erywan Pehin Yusof) เป็นผู้แทนพิเศษของอาเซียน –รวมทั้งพวกเขายังได้นำเอาความช่วยเหลือที่ส่งมาให้ผ่านทางAHA ไปแจกจ่ายให้แก่ “ผู้ซึ่งมีความจำเป็น” อย่างไรก็ตาม การที่ผู้แทนพิเศษผู้นี้ไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะกับ วิน มิ้น ประธานาธิบดีผู้ถูกถอดออกจากตำแหน่งและถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเวลานี้ รวมทั้ง อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นั้น คณะปกครองทหารซึ่งปัจจุบันคือสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) อ้างว่า เนื่องจากทั้งสองคนกำลังถูกพิจารณาคดีในศาลพม่าด้วยข้อหาความผิดทางอาญา

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สภาบริหารแห่งรัฐ ได้ปิดประตูสนิทไม่ยอมสนทนาใดๆ กับพวกผู้นำที่ถูกโค่นตลอดจนพวกที่คัดค้านการปกครองของทหาร กระทรวงการต่างประเทศพม่ายังบอกด้วยว่า พม่า “หวังว่าเขา (ผู้แทนพิเศษของอาเซียน) จะสามารถหลบหลีกจากการกระทำต่างๆ ของใครก็ตามทีซึ่งมีเจตนามุ่งกระทำต่อพม่าและกดดันพม่าด้วยแรงจูงใจทางการเมือง”

สภาบริหารแห่งรัฐกล่าวอ้างเรื่อยมาว่า พวกเขาขึ้นครองอำนาจอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประธานาธิบดีได้ตัดสินใจที่จะมอบอำนาจให้แก่ทางสภาบริหารที่ประกอบด้วยเหล่านายพลทรงอำนาจ โดยที่ประธานาธิบดีมีสิทธิกระทำเช่นนั้นได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ของประเทศ

ตามการกล่าวอ้างของสภาบริหารแห่งรัฐ มะหยิ่น ชเว พลโทเกษียณอายุที่ฝ่ายทหารแต่งตั้งให้เป็นรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งนั้น ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อจาก วิน มิ้น ผู้ซึ่งสภาบริหารแห่งรัฐอ้างว่าได้ลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพไม่ดี

แต่ระหว่างที่ วิน มิ้น ไปให้ปากคำต่อศาลเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา เขากลับแสดงให้เห็นกันทั่วหน้าอย่างชัดเจนว่าเขายังคงมีสุขภาพดี นอกจากนั้น ตามคำบอกเล่าของ ขิ่น หม่อง ซอ ทนายความของเขา ฝ่ายทหารได้พยายามบังคับ วิน มิ้น ให้ยอมออกจากตำแหน่ง ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยเตือนว่า เขาอาจได้รับอันตรายอย่างร้ายแรงถ้าหากปฏิเสธ

วิน มิ้น ตอบกลับไปว่า เขา “ยินดีที่จะตายแต่จะไม่ยินยอม” ตามความต้องการของฝ่ายทหาร ทนายความผู้นี้ระบุในข้อความทางเอสเอ็มเอสที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษส่งไปถึงพวกผู้ส่อข่าว เรื่องนี้คือการทำลายข้อกล่าวอ้างความถูกต้องตามกฎหมายใดๆ
ก็ตามของทางสภาบริหารแห่งรัฐ แม้กระทั่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ซึ่งร่างขึ้นมาด้วยการอุปถัมภ์ของฝ่ายทหารil หรือ SAC)

กลุ่มผู้ประท้วงชาวพม่าในเมืองย่างกุ้ง กำลังจะจุดไฟเผาธงของสมาคมอาเซียน ขณะพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมเดินขบวนแบบแฟลชม็อบ เพื่อต่อต้านฝ่ายทหารก่อรัฐประหาร เม่อวันที่ 14 มิถุนายน 2021  ทั้งนี้พวกผู้ประท้วงชาวพม่ารู้สึกโกรธเกรี้ยวที่อาเซียนแทบไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพวกเขา
ความเคลื่อนไหวของอาเซียนในการปิดกั้นคณะปกครองทหารพม่าไม่ให้เข้าร่วมประชุมซัมมิตเช่นนี้ ดูเหมือนริเริ่มขึ้นมาโดยรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ ผู้ซึ่งกระทั่งออกมาแถลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมว่า ถ้าหากสภาบริหารแห่งรัฐยังคงไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้ออย่างเต็มที่แล้ว ประเทศของเขาพร้อมที่จะพิจารณาเรื่องจัดการสนทนากับรัฐบาลสมัคคีแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) ของพม่า ซึ่งประกอบไปด้วยพวก ส.ส.ที่ถูกขับออกจากตำแหน่งสืบเนื่องจากการรัฐประหาร ตลอดจนบุคลากรของฝ่ายค้านคนอื่นๆ

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศปากกล้าของอินโดนีเซีย ไปไกลยิ่งขึ้นอีก โดยในข้อความทางทวิตเตอร์ที่โพสต์เมื่อวันที่
15 ตุลาคม เธอกล่าวว่า พม่า “ไม่ควรมีใครเป็นตัวแทนในระดับการเมือง จนกว่าพม่าจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยของตนโดยผ่านกระบวนการที่เปิดให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม”

แต่พวกนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคหลายๆ รายโต้แย้งว่า การที่อาเซียนรู้สึกรำคาญใจกับความดื้อรั้นของสภาบริหารแห่งรัฐพม่า ตลอดจนไม่สบอารมณ์กับการถูกตำหนิว่ากล่าวอย่างเลวร้ายที่ทางสมาคมพลอยได้รับสืบเนื่องจากความเป็นสมาชิกสมาคมของพม่านั้น น่าจะไม่ได้มาจากความวิตกกังวลในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนโดยตรงล้วนๆ
หรอก

มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องแบกรับกระแสผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามุสลิมที่ไหลทะลักออกจากพม่ามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ตามข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม เฉพาะในมาเลเซีย มีผู้อพยพลี้ภัยและผู้ขอพำนักอาศัยในฐานะผู้ลี้ภัย ซึ่งจดทะเบียนเอาไว้กับหน่วยงานสหประชาชาติแห่งนี้ เป็นจำนวน 179,390 คน

ในจำนวนนี้ เป็นชาวโรฮิงญา 102,990 คน ชาวชิน (Chin ชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคริสเตียน) 22,470 คน และอีก 29,390 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จากบรรดาพื้นที่ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนจากการสู้รบขัดแย้งกันในพม่า สำหรับที่อินโดนีเซียนั้น ถึงแม้ไม่ได้มีตัวเลขจำนวนที่ชัดเจน แต่เข้าใจกันว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเป็นพันๆ หมื่นๆ คนทีเดียวได้เสี่ยงภัยโดยสารเรือโทรมๆ สภาพย่ำแย่ ข้ามทะเลไปยังแดนอิเหนา

เรือไม้ที่ขนผู้ต้องสงสัยเป็นผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนราว 200 คน ถูกควบคุมตัวในเขตน่านน้ำมาเลเซียบริเวณนอกชายฝั่งเกาะลังกาวี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2020  มาเลเซียรวมทั้งอินโดนีเซีย ต้องแบกรับภาระผู้อพยพชาวโรฮิงญาซึ่งหลบหนีอการกดขี่บีฑาออกมาจากพม่าเป็นเวลาหลายปีแล้ว
ขณะที่ความพยายามเพื่อนำเอาพวกเขากลับคืนพม่า ต้องประสบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า มาเลเซียและอินโดนีเซียเองก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะบูรณาการผสมผสานผู้คนซึ่งหลบหนีการกดขี่และการกล่าวหาลงโทษในพม่าจำนวนสูงขนาดนี้ เข้ามาในสังคมของตน

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ยังถือเป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับธุรกิจในระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นปีหลังสุดก่อนเกิดรัฐประหาร สิงคโปร์ส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปยังพม่า ส่วนใหญ่เป็นพวกแร่เชื้อเพลิง, น้ำมัน, อิเล็กทรอนิกส์, และเครื่องจักรกล ทว่ามาถึงตอนนี้ บริษัทต่างๆ จากสิงคโปร์และรัฐสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาจจะต้องเผชิญกับการถูกแซงก์ชั่นและถูกคว่ำบาตร จากการติดต่อทำธุรกิจกับพม่า

การค้าระหว่างพม่ากับเวียดนามก็เฟื่องฟูมากเช่นกันในช่วงก่อนรัฐประหาร โดยที่พวกบริษัทเวียดนามเข้าไปลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งช็อปปิ้งมอลล์ทันสมัยขนาดยักษ์แห่งใหม่แห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง ขณะที่ ไมเทล (Mytel) ผู้ให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมรายท็อปรายหนึ่งของพม่า เป็นกิจการร่วมลงทุนระหว่างบรรษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิก คอร์เปอเรชั่น (Myanmar Economic Corporation) ที่ฝ่ายทหารพม่าควบคุมอยู่ กับ เวียตเทล (Viettel) ซึ่งเป็นของฝ่ายทหารเวียดนาม

เวียดนาม ซึ่งยากที่จะเรียกว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย ปกติแล้วจะไม่สนใจใยดีเกี่ยวกับเรื่องที่ฝ่ายทหารเข้ายึดอำนาจในประเทศต่างแดนรายหนึ่ง ทว่าทางเวียดนามย่อมยากที่จะรู้สึกปีติยินดีเมื่อได้เห็นเสาสัญญาณโทรคมนาคมซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย กำลังถูกระเบิดทำลายทิ้งโดยฝีมือพวกประท้วงต่อต้านคณะปกครองทหาร และการลงทุนอย่างอื่นก็กำลังได้รับความเสียหายเนื่องจากการรัฐประหาร

ผู้สังเกตการณ์ที่จริงจังในการติดตามสถานการณ์หลังการรัฐประหารในพม่า ไม่มีคนไหนเลยซึ่งเชื่อว่า สภาบริหารแห่งรัฐพม่าจะยอมเข้ามีปฏิสัมพันธ์ในรูปของการสนทนาอย่างมีความหมายความสำคัญ ไม่ว่ากับ วิน มิ้น, อองซาซูจี, หรือผู้นำคนอื่นๆ ที่ถูกโค่นล้ม—และเวลานี้ยังคงถูกจับกุมคุมขัง

ดังนั้น อาเซียนจึงกำลังติดแหง็กอยู่กับรัฐสมาชิกรายหนึ่งที่สังคมภายนอกพากันรังเกียจเหยียดหยาม และพลอยถูกดึงลากทำให้ชื่อเสียงเกียรติภูมิของสมาคมเองจมโคลนตมไปด้วย โดยที่แทบไม่มีอะไรอื่นอีกที่อาเซียนสามารถกระทำได้เพื่อแก้ไขคลี่คลายสภาวการณ์เช่นนี้ เพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้กระทำไปแล้ว และได้แต่เฝ้ารอคอยจับตาดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

คำแถลงของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ใช้ถ้อยคำที่เป็นคุณลักษณะของอาเซียนขนาดแท้ โดยบอกว่า พวกเขา “เน้นย้ำว่า พม่าคือสมาชิกรายสำคัญรายหนึ่งของครอบครัวอาเซียน” ดังนั้นพม่าจึงสมควรได้รับ “ที่ทางสำหรับการฟื้นฟูกิจการภายในของตน และหวนกลับคืนสู่ภาวะปกติ”

แต่จริงๆ แล้วย่อมไม่มีใครนักหรอกที่จะกำลังเฝ้ารอคอยด้วยความหวังในเรื่องนี้ พม่านั้นตกอยู่ในความปั่นป่วนวุ่นวาย และอาเซียนก็ทำอะไรได้น้อยนิดจริงๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกเหนือจากการแสดงท่าทีดูแคลนในเชิงสัญลักษณ์ โดยการไม่เชื้อเชิญให้เข้าร่วมประชุมซัมมิตด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น