xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำพม่าอดเข้าประชุมสุดยอดผู้นำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย
รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าแสดงความรู้สึกผิดหวังที่ผู้นำประเทศ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของผู้นำภูมิภาค ซึ่งบรูไน ประธานกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม

นี่เป็นผลจากมติการประชุมฉุกเฉินของรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มอาเซียนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงออกถึงความไม่พอใจที่รัฐบาลของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ไม่ยอมตอบสนองข้อเรียกร้องของอาเซียนและประชาคมโลกอย่างน้อย 2 ครั้ง

กลุ่มอาเซียนต้องการให้รัฐบาลทหารพม่าลดละเลิกการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม เข่นฆ่าประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1 พันราย บาดเจ็บอีกหลายร้อย

อาเซียนยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวบรรดานักโทษการเมือง และผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังอันเป็นผลมาจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร

มติของอาเซียนถือเป็นการหักหน้าพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ที่ได้ประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม และเป็นครั้งสำคัญในการแสดงให้เห็นว่าอาเซียนสามารถยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศของสมาชิกถ้าเกิดสถานการณ์จำเป็น

ในคำแถลงของอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศบรูไน ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมและนโยบายของรัฐบาลพม่าได้สร้างปัญหาด้านความมั่นคงในภูมิภาค ผลกระทบด้านความสามัคคี ความน่าเชื่อถือ และสภาวะความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

โดยธรรมเนียมปฏิบัติ อาเซียนมีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในของประเทศสมาชิก แต่การรัฐประหารและผลที่ตามมาในพม่าเป็นความฉาวโฉ่รุนแรง

คำแถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศพม่าระบุว่า “เป็นที่น่าเสียใจอย่างมากที่พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้เข้าร่วมในการประชุม และการตัดสินใจไม่ได้เป็นไปอย่างเห็นพ้องต้องกัน และขัดวัตถุประสงค์ของอาเซียน”

“การเพิกเฉยต่อธรรมเนียมปฏิบัติ ความดำรงความเป็นเอกภาพ ในด้านความหลากหลายและความแตกต่างโดยการปรึกษาหารือ แสวงหามติเอกฉันท์ จะส่งผลกระทบต่อความเป็นหนึ่งเดียวและความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” แถลงการณ์ชี้

โฆษกรัฐบาลทหารพม่าแถลงก่อนหน้านี้ว่ามติของอาเซียนในการกันไม่ให้ผู้นำพม่าเข้าร่วมประชุมเป็นผลมาจาก “การแทรกแซงจากต่างประเทศ” แต่ไม่ได้ระบุ

กระทรวงการต่างประเทศบรูไนระบุว่า รัฐบาลพม่ายังคงสามารถส่งตัวแทนที่ไม่ได้ไปจากภาคการเมืองเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นระดับรัฐมนตรีหรือไม่ และพม่ายังไม่ตอบในเรื่องนี้

นักวิเคราะห์มองว่าถ้ายอมรับให้พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุม ก็จะเหมือนเป็นการยอมรับสถานภาพความเป็นผู้นำรัฐประหารโดยปริยาย และรัฐบาลทหารพม่าจะอ้างความชอบธรรมว่าได้รับการยอมรับจากนานาประเทศด้วย

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย พยายามแสวงหาโอกาสสำคัญเช่นนี้โดยตลอดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ นอกจากผู้นำอาเซียนแล้ว ยังมีผู้นำชาติอื่นๆ ที่เป็นคู่เจรจากับอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ด้วย

กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ก็แถลงด้วยว่า เห็นด้วยกับมติของอาเซียน “ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ลำบาก แต่ก็จำเป็นเพื่อยังคงรักษาความน่าเชื่อถือของอาเซียน” ทั้งยังขอให้รัฐบาลพม่าต้อนรับตัวแทนของอาเซียนและข้อเสนอ 5 ข้อก่อนหน้านี้ด้วย

สิงคโปร์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าต้อนรับตัวแทนซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศบรูไน และโฆษกรัฐบาลก็ตอบว่าพร้อมจะรับเจรจาด้วย แต่ปฏิเสธที่ตัวแทนจะพบกับอดีตผู้นำ นางอองซาน ซูจี โดยอ้างว่าเธอถูกฟ้องในคดีอาญาอยู่

อาเซียนได้เผชิญกับแรงกดดันจากนานาประเทศให้แสดงจุดยืนอย่างจริงจังกับรัฐบาลทหารพม่า ก่อนหน้านี้ก็ถูกตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงว่าได้อ่อนข้อให้กับพฤติกรรมของผู้นำในอาเซียนที่ทำลายแนวทางประชาธิปไตย คุกคามฝ่ายค้าน

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็แสดงความเห็นพ้องกับจุดยืนและมติของอาเซียนในการลดระดับความสำคัญของพม่าในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และจะมีตัวแทนและที่ปรึกษาของรัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเคนมาหารือด้วย

กำหนดการเยือนมี 3 ประเทศคือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย คาดว่าประเด็นของสถานการณ์ในพม่าจะเป็นเรื่องหนึ่งในการสนทนา และอาจมีเรื่องท่าทีของประเทศจีน จุดยืนของสหรัฐฯ และพันธมิตรในความพยายามสกัดอิทธิพลของจีน

รัฐบาลทหารพม่ายังคงเผชิญกับการต่อต้านทั่วประเทศ มีการลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐและทหารอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งการปะทะด้วยอาวุธ เพราะกลุ่มผู้ประท้วงให้เข้าร่วมฝึกอาวุธกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และทำลายธุรกิจที่เป็นของกองทัพ

เป้าหมายคือธุรกิจด้านโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ และเครือข่ายร้านค้าซึ่งเป็นของกองทัพและเครือข่ายของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย สร้างความเสียหายไม่น้อย

ทหารได้ตอบโต้หนักด้วยการยิงปืนใหญ่ถล่มใส่หมู่บ้าน ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องทิ้งบ้านเรือนอพยพเข้าไปอยู่ตามภูเขา และพื้นที่ภายใต้การครอบครองของชนกลุ่มน้อย สร้างความขาดแคลนด้านอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างมาก

องค์การสหประชาชาติคาดว่าประชาชนจะเผชิญกับความอดอยาก

ค่าเงินจั๊ตของพม่าได้ตกลงอย่างมาก ประชาชนประสบความลำบากในการเบิกเงินจากธนาคาร ทั้งการระบาดของโควิด-19 ยังมีอยู่ทั่วไป การรักษาพยาบาลไม่ทั่วถึง แพทย์และบุคลากรโรงพยาบาลได้เข้าร่วมต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่รัฐประหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น