คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำหนดประชุม 18 ต.ค.นี้ เตรียมหารือรัฐมนตรีด้านดิจิทัลทำแผนผลักดันอาเซียนไปสู่ยุคดิจิทัล และยกร่างแถลงการณ์ชงผู้นำรับรองในการประชุมปลายเดือนนี้ เผยยังจะติดตามความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจ การทบทวนแผนงาน AEC Blueprint 2025 ครึ่งทาง การทำวิสัยทัศน์อาเซียน และรับรองเอกสารสำคัญ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน แผนดิจิทัล การส่งเสริม MSMEs
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมฯ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 20 ในวันที่ 18 ต.ค. 2564 โดยมีไฮไลต์สำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือ การประชุมครั้งแรกของ AEC Council กับรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล เพื่อร่วมหาแนวทางผลักดันอาเซียนให้ไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) โดยจะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนว่าด้วยการยกระดับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ก่อนเสนอผู้นำอาเซียนรับรองและประกาศในการประชุมซัมมิตปลายเดือน ต.ค. 2564
ส่วนประเด็นอื่นๆ จะมีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตลอดปีที่ผ่านมา เช่น ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่บรูไน ในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้สำเร็จในปีนี้ การทบทวนแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2025) ระยะครึ่งทาง และการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี ค.ศ. 2025
นอกจากนี้ จะมีการร่วมรับรองเอกสารสำคัญ เช่น กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางที่อาเซียนสามารถนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แผนงานในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน (แผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน) เป็นแผนดำเนินการในระยะสั้นและระยะกลางให้อาเซียนเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านการสร้างความเข้มแข็งของนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกอาเซียนสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการเก็บข้อมูลทางธุรกิจของผู้ประกอบการ และการพัฒนาระบบการจดทะเบียนธุรกิจให้ทันสมัย โดยการนำเลขทะเบียนนิติบุคคลเดียวมาใช้ร่วมกันทั้ง 10 ประเทศสมาชิก
ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีมูลค่า 72,546 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.25% โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 42,024.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.91% และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 30,521.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.17% ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์