MGR Online - “ไมเคิล ฮีธ” พร้อม อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กต.ไทย ร่วมพิธีเปิดหน้าดินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสถานทูตสหรัฐฯ รูปแบบอาคารและภูมิทัศน์สะท้อนวัฒนธรรมไทย คาดแล้วเสร็จในปี 2568
วานนี้ (7 ต.ค.) ทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล ฮีธ และ นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย แขกผู้มีเกียรติหลายท่าน ร่วมพิธีเปิดหน้าดินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสถานทูตสหรัฐฯ อันเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทย ซึ่งมีรากฐานอยู่ในประวัติศาสตร์และมุ่งก้าวสู่อนาคต
อุปทูตฮีธ กล่าวว่า “ในปี 2560 เป็นโอกาสครบรอบ 200 ปี แห่งมิตรภาพระหว่างเราทั้งสองชาติ ในปี 2563 เราเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปี ของการก่อตั้งสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ในเชียงใหม่ และได้มีพิธีเปิดหน้าดินสถานกงสุลหลังใหม่ไปแล้ว วันนี้ ผมภูมิใจที่ได้เปิดหน้าดินร่วมกับทุกท่านในพื้นที่ซึ่งเป็นตัวอย่างล่าสุดของความทุ่มเทเพื่ออนาคตที่เรามีร่วมกับไทย”
อธิบดีวิชชุ กล่าวว่า “อาคารสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ทุกแห่งในประเทศไทย มิได้เป็นเพียงแค่อิฐและปูน แต่ประกอบขึ้นด้วย มิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เป็นสัญลักษณ์สะท้อนความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการเดินหน้าร่วมกับประเทศไทยในทุกสถานการณ์ บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน อาคารใหม่แห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์และช่วยผลักดันเป้าหมายและความพยายามร่วมกันในอนาคตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ”
รูปแบบอาคารและภูมิทัศน์สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมของไทย โดยมีการใช้โครงสร้างคล้ายชานเพื่อสร้างพื้นที่พบปะที่มีร่มเงา ตลอดจนมีลักษณะการออกแบบสไตล์ล้านนา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมไทยเดิมของภาคเหนือ
โครงการก่อสร้างอาคารที่ทันสมัยนี้ ยังตั้งเป้าที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมระดับ Silver ภายใต้มาตรฐาน Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) และผสมผสานองค์ประกอบด้านการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบการบริหารจัดการน้ำฝนบนพื้นผิวและหลังคา และระบบปรับอากาศแบบแลกเปลี่ยนพลังงาน คุณลักษณะการออกแบบและเทคโนโลยีการก่อสร้างเหล่านี้จะลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองและแบ่งเบาภาระการใช้สาธารณูปโภคของกรุงเทพฯ ได้ ทั้งนี้ การก่อสร้างอาคารคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า
เพื่อเป็นการยกย่องประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ และอนุรักษ์พรรณไม้อันน่ารื่นรมย์โดยรอบพื้นที่ อาคารใหม่นี้จะมีพื้นที่สีเขียวที่แสดงถึงความงามตามธรรมชาติของไทย อีกทั้งยังลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (heat-island effect) ที่เป็นผลจากการพัฒนาเมืองอีกด้วย การบูรณะศาลาที่มีความสำคัญ 2 หลังจะช่วยให้มีพื้นที่พบปะกันนอกอาคารมากขึ้น อีกทั้งยังแสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์ที่ไทยและสหรัฐฯ มีร่วมกัน
อาคารหลังใหม่ซึ่งจะตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของสถานทูตสหรัฐฯ ในปัจจุบัน บนถนนวิทยุ เขตปทุมวัน จะเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติงานของสถานทูต ตลอดจนพัฒนาพื้นที่สำหรับภารกิจ