xs
xsm
sm
md
lg

มาทำไม! รัสเซียแพร่คลิปเจ็ตขับไล่เข้าประกบเครื่องบินทิ้งระเบิดซูเปอร์โซนิกสหรัฐฯ เหนือทะเลดำ (ชมวิดีโอ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัสเซียต้องรุดส่งเครื่องบินขับไล่ซูคอย ซู-30 จำนวน 2 ลำ เข้าประกบเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-1B ของสหรัฐฯ 2 ลำ ที่บินอยู่เหนือทะเลดำ จากการเปิดเผยและคลิปที่เผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมพญาหมีขาวเมื่อวันพุธ (20 ต.ค.) เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการเดินทางเยือนภูมิภาคแถบนี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า B-1B เครื่องบินซูเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น เดิมทีออกแบบมาเพื่อติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธ แต่ปัจจุบันบรรทุกอาวุธทั่วไป

"ลูกเรือเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียระบุตัวตนเป้าหมายทางอากาศ ว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ซูเปอร์โซนิก B-1B ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ 2 ลำ ซึ่งมาพร้อมกับเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KC-135 จำนวน 2 ลำ และเข้าประกบเหนือน่านน้ำของทะเลดำ" กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในถ้อยแถลง พร้อมเผยแพร่คลิปวิดีโอตอนที่อากาศยานของสหรัฐฯ กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า


"หลังจากฝูงบินรบของต่างชาติบ่ายหน้าไปจากชายแดนแห่งรัฐรัสเซีย เครื่องบินขับไล่ของรัสเซียได้กลับสู่ฐานทัพที่ตั้งอย่างปลอดภัย" ถ้อยแถลงระบุ

ถ้อยแถลงของกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า อากาศยานของรัสเซียปฏิบัติการเที่ยวบินตามกฎระเบียบน่านฟ้าสากลอย่างเข้มงวด และบอกว่าเขตแดนของรัสเซียต้องไม่ถูกล่วงละเมิด

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างเดินทางเยือนยูเครนในวันอังคาร (19 ต.ค.) ว่ารัสเซียเป็นอุปสรรคขัดขวางสันติภาพทางภาคตะวันออกของยูเครน และเรียกร้องมอสโกหยุดความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพในทะเลดำและตามแนวชายแดนของยูเครน


มอสโกกล่าวโทษเคียงต่อความคืบหน้าที่ล่าช้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพครอบคลุมทางภาคตะวันออกของยูเครน ข้อกล่าวหาที่ทางยูเครนปฏิเสธ

ก่อนหน้านี้เพิ่งเกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันเมื่อวันอาทิตย์ (17 ต.ค.) เครื่องบินขับไล่ มิก-31 ของกองทัพรัสเซีย ประกบเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ B-1B ของกองทัพสหรัฐฯ ที่บินเข้ามาในเขตน่านฟ้าสากลเหนือทะเลญี่ปุ่น ระหว่างที่กองทัพรัสเซียและจีนกำลังซ้อมรบร่วมกัน

นิตยสาร Air Force รายงานเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-1B ถูกใช้ในการซ้อมรบหลายต่อหลายครั้งกับพันธมิตรนาโต้ ทั้งในอาร์กติก บอลติก และทะเลดำ

(ที่มา : รอยเตอร์/รัสเซียทูเดย์)


กำลังโหลดความคิดเห็น