อดีตประธานเจ้าหน้าที่ซอฟต์แวร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ชี้ จีนชนะอเมริกาในสงครามด้านเอไออย่างราบคาบ และกำลังมุ่งหน้าครองโลกโดยอาศัยความเหนือชั้นด้านเทคโนโลยี นอกจากนั้น เขาซัดการป้องกันทางไซเบอร์ในบางหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า มีพัฒนาการแค่ “ระดับอนุบาล”
ตามการประเมินของพวกหน่วยข่าวกรองตะวันตกนั้น จีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีแนวโน้มครอบงำโลกในด้านเทคโนโลยีอุบัติใหม่สำคัญๆ หลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ชีววิทยาสังเคราะห์ และพันธุกรรมภายในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ หรือหลังจากนั้นไม่มาก
นิโคลัส เชลาน (Nicolas Chaillan) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านซอฟต์แวร์ (chief software office) คนแรกของเพนตากอน ที่ลาออกเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อประท้วงความล่าช้าในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในกองทัพสหรัฐฯ กล่าวว่า ความล้มเหลวในการรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์และด้านอื่นๆ จากจีน ทำให้อนาคตลูกหลานของเขาตกอยู่ในความเสี่ยง
เชลาน วัย 37 ปี ที่ทำงานในเพนตากอน 3 ปีเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้สัมภาษณ์ไฟแนนเชียลไทมส์ สื่อด้านธุรกิจการเงินชื่อดังของอังกฤษ ว่า อเมริกาหมดโอกาสในการต่อสู้กับจีนใน 15-20 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะมีสงครามเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม
เขายังบอกว่า จีนกำลังจะครองโลกโดยควบคุมทุกอย่างตั้งแต่การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลของสื่อ ไปจนถึงภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากมีพัฒนาการล้ำยุคทั้งในด้านเอไอ การเรียนรู้ของเครื่องจักร และความสามารถด้านไซเบอร์ และสำทับว่า เทคโนโลยีอุบัติใหม่เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของอเมริกามากกว่าฮาร์ดแวร์อย่างเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ที่มีราคาสูงลิบอย่างเอฟ-35
เชลาน โจมตีว่า สาเหตุของความล่าช้าในการพัฒนานวัตกรรมคือการที่บริษัทอเมริกันอย่างกูเกิลลังเลที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในด้านเอไอ และการถกเถียงไม่จบสิ้นเกี่ยวกับแง่มุมด้านจริยธรรมของเทคโนโลยี
ในทางกลับกัน บริษัทจีนถูกบังคับให้ทำงานร่วมกับรัฐบาล อีกทั้งยังลงทุนมหาศาลด้านเอไอโดยไม่คำนึงถึงประเด็นจริยธรรม
เชลาน แจงว่า การป้องกันทางไซเบอร์ในบางหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ใน “ระดับอนุบาล” เท่านั้น เขาเสริมว่า เตรียมไปให้ปากคำต่อรัฐสภาเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ของจีนต่อความยิ่งใหญ่ของอเมริกา
เขายอมรับว่า เวลานี้อเมริกายังคงทุ่มงบประมาณด้านกลาโหมมากกว่าจีนถึง 3 เท่าตัว ทว่า มูลค่าที่สูงส่งนั้นไร้ความสำคัญโดยสิ้นเชิงเนื่องจากต้นทุนการจัดซื้อของอเมริกาสูงมากและมักทุ่มเทให้กับสิ่งที่ไม่สำคัญ ขณะที่ระบบราชการและข้อกำหนดที่มากเกินไปขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในเพนตากอน
ทั้งนี้ เชลานประกาศลาออกเมื่อต้นเดือนกันยายนโดยให้เหตุผลว่า เจ้าหน้าที่กองทัพมักได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบแผนการริเริ่มด้านไซเบอร์โดยที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน
การให้สัมภาษณ์นี้มีขึ้นหลังจากเมื่อต้นปี คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติที่ทำงานตามการมอบหมายของรัฐสภาอเมริกัน เตือนว่าจีนอาจแซงหน้าอเมริกาในฐานะมหาอำนาจเอไอภายในทศวรรษหน้า
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกลาโหมหลายคนยอมรับว่า อเมริกาต้องเพิ่มความพยายามในการดึงดูด ฝึกฝน และรักษาบุคลากรหนุ่มสาวที่มีความสามารถด้านไซเบอร์ แต่ขณะเดียวกัน ก็พยายามปกป้องแนวทางการยอมรับเอไออย่างมีความรับผิดชอบของตนเอง
นอกจากนั้น เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม ยังประกาศว่า เพนตากอนจำเป็นต้องพัฒนาเอไออย่างมีความรับผิดชอบและเร่งด่วนเป็นอันดับแรก และสั่งเพิ่มงบประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์เพื่อเร่งรัดการยอมรับเอไอในกระทรวงฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่สำทับว่า เพนตากอนจะไม่ละทิ้งความสำคัญด้านความปลอดภัย ความมั่นคง หรือจริยธรรม
ทางด้านโฆษกทบวงกองทัพอากาศแถลงว่า แฟรงก์ เคนดัลล์ รัฐมนตรีทบวงกองทัพอากาศ ได้หารือกับเชลานเกี่ยวกับข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ในอนาคตภายหลังจากที่เชลานลาออก และขอบคุณสำหรับการสนับสนุนดังกล่าว
เชลาน ซึ่งแปลงสัญชาติเป็นพลเมืองสหรัฐฯเมื่อปี 2016 และเป็นผู้นำโครงการมุ่งสร้างมาตรการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ชนิด “ไม่ไว้วางใจอะไรเลย” ขึ้นที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ก่อนที่จะมาทำงานกับเพนตากอน กล่าวยอมรับว่า เขาเป็นพลังที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายขึ้นในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และเขาถูกจับตามองด้วยความระแวงระวังจากเจ้าหน้าที่อาวุโสบางราย ผู้ซึ่งคิดว่าเขาควรจะเก็บเรื่องที่เขาโวยวายร้องเรียน เอาไว้จัดการกัน “ภายในครอบครัว” จะเหมาะสมกว่า
ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นชุด หลังจากเริ่มต้นธุรกิจแรกของเขาเมื่ออายุ 15 ปีในประเทศฝรั่งเศส กล่าวอีกว่า การที่เขาลาออกจากเพนตากอน ยังเนื่องมาจากเขาเริ่มรู้สึกจำเจซ้ำซาก เนื่องจากเขาใช้เวลา 3 ปีแห่งการดำรงตำแหน่งของเขาไปในการ “ซ่อมแซมแก้ไขพวกเกี่ยวกับคลาวด์ระดับเบสิกและแล็ปท็อป” เท่านั้น แทนที่จะเป็นเรื่องการมุ่งหน้าสร้างนวัตกรรม
(ที่มา : รอยเตอร์, ไฟแนนเชียลไทมส์)