(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China’s crypto ban a big boon for little Laos
By RICHARD S EHRLICH
01/10/2021
รัฐบาลลาวอนุญาตให้ทำเหมืองคริปโตเคอร์เรนซีได้ ในความพยายามที่จะยกระดับการใช้ประโยชน์จากศักยภาพไฟฟ้าพลังน้ำของตน ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ยังคงมุ่งเน้นอยู่ที่การผลิตเพื่อส่งออก
กรุงเทพฯ - หลังจากจีนดำเนินการปราบปราม คริปโตเคอร์เรนซี ไปเมื่อไม่นานมานี้ ถึงตอนนี้ ลาว ซึ่งเป็นชาติยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับกำลังอนุมัติให้เปิดดำเนินกิจการทำเหมืองขุดหาเหรียญบิตคอยน์ โดยชูข้อได้เปรียบจากการมีกระแสไฟฟ้าพลังน้ำอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งผลิตได้จากแม่น้ำโขง พร้อมกันนั้นก็ไม่แยแสสนใจคำเตือนของสหรัฐฯในเรื่องที่ว่ามันจะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักหน่วงถึงขั้นหายนะ
ประกาศชวนให้เซอร์ไพรซ์ ฉบับที่ออกมาเมื่อวันที่ 9 กันยายนจากสำนักนายกรัฐมนตรีของลาว ซึ่งระบุอนุมัติให้ดำเนินการสร้าง คริปโตเคอร์เรนซีสกุลดังๆ อย่าง บิตคอยน์ อีเธอเรียม ตลอดจนสกุลเงินตราดิจิตอลเข้ารหัสที่อิงอยู่กับเทคโนโลยีบล็อกเชนสกุลอื่นๆ จึงทำให้ลาวกลายเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอนุญาตและเข้าร่วมในการทำเหมืองขุดเหรียญคริปโตอย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ จีนเคยอนุญาตให้พวกนักทำเหมืองคริปโตเข้าไปดำเนินงานอยู่หลายปี โดยข้อได้เปรียบที่กลายเป็นแรงจูงใจของแดนมังกรคือกระแสไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผลิตอยู่ในพวกมณฑลอย่างมองโกเลียใน, ซินเจียง, เสฉวน, และยูนนาน ทว่าจีนได้สั่งปิดไม่ให้ทำเรื่องนี้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ด้วยการบังคับระเบียบกฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น
พวกนักลงทุนชาวต่างประเทศที่พากันวิตกหวั่นไหว ด้านหนึ่งจึงต้องพยายามหาทางส่งคอมพิวเตอร์ราคาแพงที่ทรงพลังและทำงานได้อย่างละเอียดซับซ้อนออกไปนอกประเทศจีน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็คอยสำรวจสืบค้นไปทั่วโลก เพื่อหาสถานที่ใหม่ๆ สำหรับใช้ดำเนินการทำเหมืองคริปโต ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องใช้ไฟฟ้ากันมหาศาล
เมื่อช่วงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนยังได้ออกประกาศห้ามการทำธุรกรรมเกี่ยวกับ คริปโตเคอร์เรนซี ทุกชนิด โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการควบคุมกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าไหลออกจากประเทศ
“จีนเพิ่งจะทำร้ายตัวเองเข้าแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ จากการไล่ปราบปรามพวกนักทำเหมืองบิตคอยน์” นิตยสาร์ฟอร์บส์ รายงานเอาไว้อย่างนี้ พร้อมกับกล่าวด้วยว่า “สหรัฐฯกำลังกลายเป็นประเทศทำเหมืองรายใหญ่ขึ้นแทนที่จีนไปแล้ว”
โดยที่เวลานี้ การทำเหมืองขุดหาเหรียญบิตคอยน์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ทั้งในรัฐเทกซัส, เซาทดาโคตา, เนแบรสกา, นอร์ทแคโรไลนา, โอไฮโอ, เพนซิลเวเนีย, และอื่นๆ อีกหลายรัฐ
นอกจากนั้นพวกนักทำเหมืองนานาชาติยังได้โยกย้ายจากจีนไปที่ แคนาดา, คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, รัสเซีย, ตลอดจนที่อื่นๆ
การดำเนินการทำเหมืองขุดเหรียญคริปโตเหรียญใหม่ๆ นั้น เกี่ยวข้องกับการสร้าง “เครื่องขุดเจาะ” ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกันขนาดมหึมาขึ้นมา และนำเอาเครื่องขุดเจาะนี้มาดำเนินการวินิจฉัยคาดทายตัวเลข “hash” ระบบฐานสิบหกชุดหนึ่งซึ่งมีตัวเลขรวม 64 หลัก และยึดโยงอยู่กับอัลกอริทึมที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ –นั่นหมายความว่าโดยเนื้อหาสาระแล้ว มันเป็นการใช้คอมพิวเตอร์คาดเดาคำตอบที่อาจเป็นไปได้จำนวนเป็นหลายล้านล้านคำตอบนั่นเอง
ด้วยการทำเช่นนี้ นักทำเหมืองจึงสามารถพิสูจน์ยืนยันว่าได้ลงแรงทำงานหาบิตคอยน์จริงๆ และธุรกรรมเป็นของจริงของแท้ และเหรียญที่พวกเขา “ขุด” ได้ ก็จะถูกเพิ่มเข้าไปในบล็อกเชน
ในการแข่งขันเพื่อดึงดูดให้พวกนักทำเหมืองเข้ามาดำเนินงานในประเทศตนเอง หลายๆ ชาติในซีกโลกเหนือโฆษณาจูงใจว่า ด้วยสภาพอุณหภูมิที่หนาวเย็นกันตลอดทั้งปี จะช่วยลดความร้อนจากกระบวนการขุด ซึ่งเป็นการสร้างฐานข้อมูลขนาดมหึมามโหฬารนั่นเอง
โฆษณาชักชวนจากไอซ์แลนด์ หนึ่งในชาติอากาศหนาวเย็นทางซีกโลกเหนือ ยังอวดโอ่เรื่องที่ประเทศนั้นมีไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้เปลือกโลกปริมาณมหาศาล
ในแง่นี้สำหรับลาวแล้วต้องถือเป็นความเสียเปรียบ เนื่องจากอากาศโดยปกตินั้นร้อนชื้น ขณะที่ภูเขาซึ่งอุดมด้วยป่าไม้ก็ไม่มีหิมะตก อย่างไรก็ดี ไฟฟ้าพลังน้ำราคาถูกของลาวคือมนตร์เสน่ห์ที่สามารถสร้างอัศจรรย์ได้
ลาวนั้นมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำเป็นจำนวนถึง 73 โรง จนกระทั่งไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ นั่นคือมีมูลค่าเท่ากับ 30% ของยอดส่งออกโดยรวม และมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ลาวยังสามารถเสนอข้อได้เปรียบในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาไม่แพง, คนงานค่าจ้างถูก, การบังคับใช้ระเบียบกฎหมายเป็นไปอย่างหลวมๆ, และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีมาตรการทางการเงินแบบส่งเสริมเอื้ออำนวยเหล่านักลงทุน
แต่ข้ออ่อนของประเทศนี้ ได้แก่กำลังแรงงานที่การศึกษาอยู่ในระดับย่ำแย่, ระบบราชการที่ปฏิบัติงานอย่างไม่ค่อยโปร่งใส, เส้นทางขนส่งคมนาคมที่มีอยู่จำกัด, มีเสียงกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น, และระบบกฎหมายที่ไร้ประสิทธิผล เหล่านี้อาจลดทอนความกระตือรือร้นของชาวต่างประเทศบางรายที่จะเข้ามาทำกิจการเหมืองคริปโตในลาว
รัฐบาลลาวจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ก็ต่อเมื่อมีพวกผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในด้านคอมพิวเตอร์เดินทางเข้ามายังลาว เพื่อสร้าง, ดำเนินการ, ซ่อมแซม, ทำความสะอาด, และทดสอบฐานข้อมูลคริปโต ภายในโกดังขนาดใหญ่ๆ ซึ่งต่อเชื่อมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของลาวต่างแสดงท่าทีพรักพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เป็นต้นว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่, กระทรวงวางแผนและการลงทุน, กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร, และกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ
ขณะที่พวกนักลงทุนระดับท้องถิ่นซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาวให้ดำเนินการทดลองขุด ใช้ และซื้อขายเงินคริปโต ภายในลาวแล้ว ได้แก่ บริษัทวาบป์ ดาตา เทคโนโลยี ลาว จำกัด บริษัทพงซับทะวี ก่อสร้างขัวทาง จำกัด บริษัทสีสะเกด ก่อสร้างครบวงจร จำกัด บริษัทบุผา พัฒนาก่อสร้างเคหะสถาน ขัวทาง และสำรวจ ออกแบบ จำกัด ธนาคารร่วมพัฒนา และ บริษัทพูสี กรุ๊ป จำกัด ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อ Laotian Times.
ธนาคาร ส.ป.ป.ลาว ที่เป็นแบงก์ชาติของลาว จะเป็นผู้จัดทำกฎระเบียบสำหรับควบคุมการใช้เงินคริปโตเคอร์เรนซี ภายในประเทศขนาดเล็กที่มีภาระหนี้สินหนักอึ้งแห่งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ, เงินกู้จากจีน, การลงทุนของไทย, และแหล่งเงินต่างชาติอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับพลเมืองลาวทั่วไปแล้ว การซื้อหรือขายเงินคริปโตเคอร์เรนซี ในเวลานี้ยังกระทำไม่ได้ ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
กระนั้นก็มีธุรกิจลาวบางแห่งที่เพิกเฉยต่อกฎหมาย และยอมรับเงินคริปโตสำหรับการชำระหนี้ รวมทั้งโฆษณาถึงโอกาสต่างๆ สำหรับการลงทุนในสกุลเงินดิจิตอลอีกด้วย สื่อ Laotian Times รายงาน
ถึงแม้ระบุว่าตนเองเป็นระบอบปกครองคอมมิวนิสต์ แต่ลาวก็ยินดีต้อนรับพวกนายทุนระหว่างประเทศ ที่มุ่งเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของตน
รัฐบาลลาวส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อทำให้ชาติซึ่งไม่มีทางออกทางทะเลแห่งนี้ อยู่ในฐานะเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” โดยส่งออกกระแสไฟฟ้าไปยังพวกประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการพลังงาน อย่างเช่น ไทย
เวลาเดียวกับที่ลาวคาดหวังว่า การทำเหมืองคริปโตจะช่วยให้งานจัดการพลังน้ำของแม่น้ำโขงและแควสาขาของตน ได้รับเงินตอบแทนอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นนั้นเอง สหรัฐฯก็กำลังใช้วาทกรรมโจมตีเล่นงานเขื่อนเหล่านี้
แม่น้ำโขงเริ่มต้นจากธารน้ำแข็งในทิเบต ไหลผ่านจีน และเลี้ยวลดคดเคี้ยวจากพรมแดนตอนเหนือของลาว ลงมาทางใต้กลายเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างลาวกับไทย แล้วจึงเข้าสู่กัมพูชา
ครั้นแล้วแม่น้ำโขงซึ่งมีขนาดขยายใหญ่ขึ้นก็เข้าสู่ภาคใต้ของเวียดนามกลายเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ก่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ในบริเวณใกล้ๆ นครโฮจิมินห์
สหรัฐฯแสดงความสนับสนุนความพยายามของกัมพูชาและเวียดนามในการระงับโครงการสร้างเขื่อน และบังคับใช้กฎระเบียบในการกำหนดช่วงเวลาของแต่ละฤดูกาลและปริมาณของน้ำ ที่เขื่อนต่างๆ สามารถเก็บกักและปล่อยออกมา เพื่อที่ภาคการประมงและภาคเกษตรกรรมของชาติปลายแม่น้ำทั้งสองรายนี้ จะได้ไม่ประสบปัญหาเดือดร้อนย่ำแย่
สหรัฐฯและพวกวิพากษ์วิจารณ์รายอื่นๆ พากันวาดภาพเขื่อนเหล่านี้ ว่าเป็นตัวก่อวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอันเลวร้ายที่สุดซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเประสบอยู่ในปัจจุบัน ท่ามกลางความกังวลที่ว่าปักกิ่งได้เข้าร่วมกับนักลงทุนรายอื่นๆ ในการเร่งรัดการก่อสร้างเขื่อนเพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไรกันอย่างรวดเร็ว
กระแสไฟฟ้าพลังน้ำของลาวส่วนใหญ่นั้นขายให้แก่กิจการรัฐวิสาหกิจของไทย คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งได้ใช้ในการให้แสงสว่างแก่กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, และเมืองใหญ่อื่นๆ
ลาวจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากมีประชากรเพียง 7 ล้านคนซึ่งอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย พวกบริษัทจีนเป็นผู้ที่สร้างเขื่อนในลาวเป็นจำนวนมาก ขณะที่แห่งอื่นๆ ก่อสร้างและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทุนไทยและอื่นๆ
คาดหมายกันว่าในท้ายที่สุดแล้วลาวจะมีเขื่อนรวมทั้งสิ้น 140 แห่ง และถ้าหากแผนการที่คิดไว้นี้สามารถเดินหน้าได้ ก็จะกลายเป็นเชื้อเพลิงทำให้กิจการทำเหมืองคริปโตเฟื่องฟูตลอดทั่วประเทศเล็กๆ และยากจนแห่งนี้
ริชาร์ด เอส เออร์ลิช เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวอเมริกันซึ่งตั้งฐานอยู่ที่กรุงเทพฯ ปฏิบัติงานรายงานข่าวจากเอเชียมาตั้งแต่ปี 1978
ทดลองอ่านบางส่วนจากหนังสือสารคดี 2 เล่มใหม่ของเขา คือเรื่อง “Rituals. Killers. Wars. & Sex. — Tibet, India, Nepal, Laos, Vietnam, Afghanistan, Sri Lanka & New York” และเรื่อง “Apocalyptic Tribes, Smugglers & Freaks” ได้ที่ https://asia-correspondent.tumblr.com/