xs
xsm
sm
md
lg

CIA เพิ่งจัดตั้งแผนกงานใหม่มุ่งรวบรวมข่าวกรอง-วิเคราะห์เจาะลึก ‘จีน’ หลังจาก10 ปีก่อนถูกปักกิ่งทำลายเครือข่ายสายลับจนเสียหายหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดฟ มาคิชุค


ตราซีไอเอบนพื้นห้องโถง ณ สำนักงานใหญ่ของซีไอเอ ในเมืองแลงลีย์ รัฐเวอร์จิเนีย
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Mission China: CIA takes direct aim at The Dragon
By DAVE MAKICHUK
08/10/2021

ผู้อำนวยการซีไอเอประกาศจัดตั้ง “ศูนย์ภารกิจจีน” ขึ้นมา เพื่อรับมือความท้าทายในระดับทั่วโลกที่เกิดขึ้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

รัฐบาลจีนได้กวาดล้างทำลายเครือข่ายสปายสายลับของสำนักงานข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency หรือ CIA) สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในประเทศของตนอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 โดยเข่นฆ่าสังหารหรือคุมขังสายข่าวซีไอเอไปสิบกว่าคนในช่วงเวลา 2 ปี และทำให้การรวบรวมหาข่าวกรองในแดนมังกรกลายเป็นอัมพาตไปอีกหลายๆ ปีหลังจากนั้น

ตามรายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์ พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันพูดถึงการรั่วไหลทางการข่าวกรองครั้งนั้นว่า เป็นหนึ่งในครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีทีเดียว

มีบางคนมั่นใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นผลงานปฏิบัติการทรยศหักหลังของสายคนหนึ่งซึ่งแอบฝังตัวอยู่ภายในซีไอเอ ขณะที่คนอื่นๆ เชื่อว่าฝ่ายจีนสามารถแอบเจาะเข้าสู่ระบบปิดลับซึ่งซีไอเอใช้ในการติดต่อสื่อสารกับพวกสายข่าวต่างประเทศของตน การถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องนี้เวลานี้ยังคงไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน

ทว่าสิ่งซึ่งเห็นพ้องต้องกันชนิดไร้ข้อโต้แย้งก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมา

ตามการเปิดเผยของพวกอดีตเจ้าหน้าที่อเมริกัน นับแต่ช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของปี 2010 ไปจนถึงสิ้นปี 2012 ฝ่ายจีนได้สังหารสายข่าวของซีไอเอไปอย่างน้อย 12 คน มีอยู่รายหนึ่งซึ่งเป็นชาย ถูกยิงตายต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ของเขา เพื่อให้เห็นกันเป็นตัวอย่าง

รวมทั้งหมดแล้วบอกกันว่า ฝ่ายจีนสังหารหรือคุมขังสายข่าวซีไอเอในจีนไป 18 ถึง 20 คน ซึ่งส่งผลเท่ากับทำลายเครือข่ายที่ใช้เวลาในการสร้างกันอยู่หลายปี

โศกนาฎกรรมครั้งนั้นยังคงส่งเสียงก้องสะท้อนไม่จางหายอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของซีไอเอในเมืองแลงลีย์ รัฐเวอร์จิเนีย

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสปายสายลับสำคัญแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันมี วิลเลียม เจ เบิร์นส์ (William J. Burns) เป็นผู้อำนวยการ ดูเหมือนกำลังอยู่ในช่วงหักหัวเลี้ยวครั้งใหม่

ตามเอกสารแถลงข่าวสื่อมวลชนที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ต.ค.) ซีไอเอประกาศให้ทราบถึงการจัดตั้งกลุ่มงานใหม่กลุ่มหนึ่งขึ้นมา ซึ่งจะโฟกัสเน้นหนักอยู่ที่ จีน ล้วนๆ ตลอดจนความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากปักกิ่ง

ซีไอเอแจกแจงว่า กลุ่มงานใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ศูนยภารกิจจีน” (China Mission Center) แห่งนี้ จัดตั้งขึ้น “เพื่อรับมือกับความท้าทายในระดับทั่วโลกที่เกิดขึ้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีการแทรกซ่านปะปนอยู่ในเขตพื้นที่ภารกิจอื่นๆ ทั้งหมดของทางสำนักงานด้วย” รายงานข่าวของ อัลญะซีเราะห์ (Al Jazeera) สื่อกาตาร์รายงานเอาไว้เช่นนั้น

กลุ่มงานนี้ ซึ่งมีฐานะเป็นศูนย์ภารกิจหนึ่งในหลายๆ ศูนย์ที่ดำเนินการโดยซีไอเอนั้น จะจัดการประชุมหารือระดับผู้อำนวยการกันเป็นรายสัปดาห์ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการร่วมมือประสานงานกันที่ดียิ่งขึ้นในเรื่องยุทธศาสตร์ที่ใช้กับจีนของทางสำนักงาน

เอกสารแถลงข่าวบอกอีกว่า ศูนย์ภารกิจจีนจะดำเนินการกับพวกประเด็นปัญหาระดับโลกทั้งหลายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า พวกเทคโนโลยีอุบัติใหม่, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, และความท้าทายทางด้านสุขภาพ

วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการซีไอเอ (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 14 เม.ย. 2021)
ผู้อำนวยการซีไอเอ วิลเลียม เบิร์น กล่าวว่า ศูนย์ภารกิจใหม่แห่งนี้ “จะเพิ่มความเข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกให้แก่งานรวบรวมของเราว่าด้วยภัยคุกคามทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งสำคัญที่สุดที่เราเผชิญอยู่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งก็คือ รัฐบาลจีนที่กำลังมีความเป็นปรปักษ์มากขึ้นทุกที

“ตลอดทั่วทั้งประวัติศาสตร์ของเรา ซีไอเอได้ก้าวขึ้นสูงเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เข้ามาขวางกั้นเส้นทางของเราไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที” เบิร์นส์ระบุในคำแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (7 ต.ค.) “และในการเผชิญหน้ากับบททดสอบทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยากลำบากที่สุดของเราในยุคใหม่แห่งการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจยิ่งใหญ่อย่างเวลานี้ ซีไอเอก็จะอยู่ตรงแนวหน้าของความพยายามนี้”

ในเวลาเดียวกันนี้ โทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า พื้นที่อื่นๆ 2 พื้นที่ซึ่งแต่เดิมมีลำดับความสำคัญสูง มาถึงตอนนี้ก็จะไม่แยกเป็นกลุ่มงานตามลำพังต่างหากแล้ว แต่ให้ไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของเขตภูมิภาคที่พวกเขาสังกัดอยู่ นั่นก็คือ ศูนย์ภารกิจอิหร่าน และศูนย์ภารกิจเกาหลี จะถูกนำเอาไปเป็นส่วนหนึ่งใน ศูนย์ภารกิจตะวันออกใกล้ (Near East Mission Center) และศูนย์เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific center) ตามลำดับ

ศูนย์ภารกิจเกาหลีถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2017 เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามทางด้านนิวเคลียร์และด้านขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ

ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอิหร่านและเกาหลีนั้น ในหลายๆ มิติมีลักษณะเป็นประเด็นปัญหาระดับภูมิภาค และการจัดศูนย์ภารกิจกันใหม่เช่นนี้ “นี่เป็นการสะท้อนอย่างเป็นจริงถึงขอบเขตลักษณะแห่งภูมิภาคของประเด็นปัญหาเหล่านี้ในมิติจำนวนมาก” เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของซีไอเอบอก พร้อมกับย้ำว่า การที่ จีน ต้องแยกเป็นกลุ่มงานเฉพาะต่างหาก ก็เพราะ “จีนมีลักษณะเป็นเรื่องระดับโลกอย่างแท้จริง”

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าใครจะเป็นหัวหน้าของศูนย์ภารกิจใหม่ทั้งสอง ขณะที่เอกสารแถลงข่าวสื่อมวลชนของซีไอเอบอกว่า รองผู้อำนวยการ เดวิด โคเฮน (David Cohen) จะเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงใหม่คราวนี้

ซีไอเอบอกด้วยว่า ได้แจ้งให้พวกผู้นำรัฐสภาสหรัฐฯทราบการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แล้ว โดยที่เรื่องการมุ่งโฟกัสที่จีนเพิ่มขึ้นนั้นอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะได้รับการต้อนรับด้วยความชื่นชมยินดี

พวกสมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายรีพับลิกันและฝ่ายเดโมแครตต่างแสดงความเห็นกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า หน่วยงานข่าวกรองทั้งหลายของสหรัฐฯจำเป็นต้องหันเหทรัพยากรมาโฟกัสที่จีนให้มากขึ้น และปรับปรุงยกระดับงานวิเคราะห์เกี่ยวกับรัฐบาลจีนของพวกเขา

ประกาศครั้งนี้ออกมาเพียงไม่กี่วันหลังจากมีรายงานว่า บรรดาที่ตั้งที่ทำการซีไอเอและฐานซีไอเอตลอดทั่วโลก ต่างได้รับรายงานลับสุดยอดฉบับหนึ่ง เตือนให้ระมัดระวังเรื่องที่มีสายข่าวถูกจับกุม ถูกสังหาร หรือถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนไปเป็นสายลับสองหน้า

ความก้าวหน้าต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยี ทำให้การรวบรวมข่าวกรองในจีนกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากขึ้นมาก กล้องทีวีวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ทุกหนทุกแห่ง และซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าซึ่งใช้พลังของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทำให้การหลบหลีกไม่ได้ถูกติดตามตรวจจับได้ในแดนมังกร กลายเป็นอุปสรรคความท้าทายที่ยากเย็นผิดธรรมดา

ความสัมพันธ์ระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสองยิ่งเขม็งเกรียวเป็นพิเศษทีเดียวในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา จากการที่จีนส่งเครื่องบินทหารบินเข้าใกล้เกาะไต้หวันวันละหลายสิบลำหลายๆ วันต่อเนื่องกัน

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งแถลงในวันวันพุธ (6 ต.ค.) ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน คาดหมายว่าจะจัดประชุมซัมมิตแบบเสมือนจริงกันภายในช่วงปลายปีนี้

นอกจากเรื่องการจัดศูนย์ภารกิจกันใหม่แล้ว ซีไอเอยังประกาศด้วยว่า จะแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีของทางสำนักงานขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในวงกว้างที่จะนำเอาวิธีการทางคอมพิวเตอร์ระดับล้ำหน้ามาใช้ในสำนักงาน

อนึ่ง ในข้อความที่ส่งถึงพวกพนักงานลูกจ้างซีไอเอในสัปดาห์นี้ เบิร์นบอกว่า จีนนี่แหละทำให้ สหรัฐฯ “กำลังเผชิญหน้ากับบททดสอบทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยากลำบากที่สุดของเราในยุคใหม่แห่งการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจยิ่งใหญ่”

(ที่มา: นิวยอร์กไทมส์, อัลญะซีเราะห์, วอชิงตันโพสต์, ซีเอ็นเอ็น โพลิติกส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น