(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
China must lead the new industrial revolution
By JUSTIN YIFU LIN
15/10/2021
จีนมีความจำเป็นที่จะต้องนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งศตวรรษของตน ในเรื่องการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจสังคมนิยมสมัยใหม่ โดยที่มีจีดีพีต่อหัวในระดับราวครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ ภายในปี 2049 ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขต่างๆ ยังเอื้ออำนวยให้จีนเป็นผู้นำการปฏิวัติครั้งนี้อีกด้วย
ในฐานะที่เป็นอาณัติการมอบหมายสั่งการของประเทศชาติ สมัชชาผู้แทนประชาชนทั่วประเทศครั้งที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเมื่อปี 2017 ได้ประกาศ “2 เป้าหมายแห่งศตวรรษ” ของพรรค ซึ่งได้แก่ เป้าหมายประการแรก จะบรรลุการสร้างสังคมมั่งคั่งระดับมีกินมีใช้อย่างรอบด้านให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ขึ้นมาในประเทศจีน ซึ่งก็สามารถทำได้สำเร็จในวาระครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2021 ส่วนเป้าหมายประการที่สอง จะสร้างสาธารณรัฐประชาชนจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจสังคมนิยมสมัยใหม่ภายในปี 2049 อันเป็นวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรค
ความเป็นประเทศสมัยใหม่นั้น ต้องมีคุณลักษณะอยู่จำนวนหนึ่ง อย่างแรกเลยคือ จีดีพีต่อหัว (GDP per capita) ของจีน ควรจะไปถึงระดับอย่างน้อยที่สุดครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศทรงอำนาจที่สุดอีกประเทศหนึ่ง
จีนเป็นประเทศใหญ่ มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกซึ่งระดับรายได้ค่อนข้างสูง ไปจนถึงภาคกลางและภาคตะวันตกที่ระดับรายได้ค่อนข้างต่ำ เฉพาะพวกมณฑลและนครเทียบเท่ามณฑลของจีนที่มีการพัฒนามากกว่าส่วนอื่นๆ อันได้แก่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เทียนจิน, เจียงซู, เจ้อเจียง, ฝู่เจี้ยน, และกวางตุ้ง ซึ่งรวมกันแล้วมีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 350 ล้านคนนั้น จีดีพีต่อหัวจะอยู่ในระดับเดียวกันกับของสหรัฐฯทีเดียว
เมื่อระบบเศรษฐกิจ 2 ระบบ มีจีดีพีต่อหัวอยู่ในระดับเดียวกัน และมีประชากรขนาดเดียวกัน เทคโนโลยีและความสำเร็จด้านอุตสาหกรรมของพวกเขาก็ควรต้องอยู่ในระดับเดียวกันด้วย ดังนั้น เมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายแห่งศตวรรษประการที่ 2 แล้ว อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในภูมิภาคที่ผ่านการพัฒนาแล้วมากกว่าส่วนอื่นๆ ของจีน ซึ่งมีจำนวนประชากรขนาดใกล้เคียงกับของสหรัฐฯ ก็จะอยู่ในระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ
การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The fourth industrial revolution) เวลานี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และปี 2049 จะเป็นหลักหมายของยุคสมัยที่พวกอุตสาหกรรมใหม่ๆ จะมีฐานะเหนือกว่าพวกอุตสาหกรรมเดิมๆ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาคพัฒนาแล้วของจีนที่มีประชากร 350 ล้านคนดังกล่าวข้างต้น ควรที่จะมีฝีก้าวทัดเทียมกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในสหรัฐฯ สหรัฐฯนั้นได้ประกาศเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่พวกเขามีอยู่กับจีน จากการเป็นหุ้นส่วนกันในระหว่างยุคสมัยที่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดกว้าง กลายเป็นคู่แข่งขันกันแล้ว
ตั้งแต่ที่สหรัฐฯกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดของโลกในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 นั้น สหรัฐฯได้กำราบปราบปรามพวกระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในอันดับ 2 ของโลกครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะเมื่อระบบเศรษฐกิจอันดับ 2 รายใดมีจีดีพีบรรลุถึงระดับ 60% ของจีดีพีสหรัฐฯ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาสามารถคุกคามสถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้ ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ ได้แก่ ญี่ปุ่นเมื่อช่วงทศวรรษ 1980 ในเวลานั้น ญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในระดับเกินกว่า 60% ของสหรัฐฯ และยังแซงหน้าสหรัฐฯแล้วด้วยซ้ำในแง่ของจีดีพีต่อหัว ญี่ปุ่นขณะนั้นยังเป็นผู้นำของโลกในเรื่องภาคเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังเกิดขึ้นมาใหม่ๆ สหรัฐฯในฐานะเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ได้ใช้ความได้เปรียบต่างๆ จากฐานะการเป็นเจ้าเหนือใครๆ ของตนมากำราบปราบปรามอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น เวลานี้จีดีพีต่อหัวของญี่ปุ่นได้ตกต่ำลงจนมาอยู่ในระดับแค่ 63% ของสหรัฐฯ ขณะที่จีดีพีของญี่ปุ่นเท่ากับเพียงแค่ 24% ของสหรัฐฯเท่านั้น
เมื่อคำนวณด้วยการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาด ขนาดเศรษฐกิจของจีนในเวลานี้บรรลุถึงระดับ 70% ของสหรัฐฯแล้ว เทคโนโลยี 5จี ของจีนก็ได้กลายเป็นผู้นำของโลกในการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ใช้ลูกไม้เก่าๆ ของตนซ้ำอีกครั้ง และกำลังใช้ทรัพยากรแห่งชาติทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐฯเข้ากำราบปราบปรามพวกบริษัทจีนด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูล ถ้าหากสหรัฐฯประสบความสำเร็จในการกำราบปราบปรามจีนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเป็นการสกัดปิดกั้นการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่แล้ว จีนก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งศตวรรษประการที่ 2 ของตนได้
จีนจะสามารถทะลวงผ่านการสกัดกั้นของสหรัฐฯได้อย่างไร? จีนจะสามารถทำเรื่องนี้ได้ก็ด้วยการทำงานอย่างหนักเพื่อนำการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ให้เดินหน้าไปเท่านั้น เมื่อทำได้อย่างนั้นแล้ว จีนก็จะไม่ถูกปิดกั้น แต่บรรดามณฑลและนครที่พัฒนาแล้วของจีน จะมีระดับเทคโนโลยีก้าวไกลไปถึงระดับของสหรัฐฯกันทีเดียว ขณะที่ทั่วทั้งประเทศจีนก็มีจีดีพีต่อหัวในระดับเท่ากับครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯได้สำเร็จภายในปี 2049 ด้วยเหตุนี้ จีนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายแห่งศตวรรษประการที่ 2 ของตนภายในปี 2049 ดังกล่าว
ศักยภาพของจีนในการนำการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่
เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่แห่งการฟื้นฟูประเทศชาติขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเช่นนี้ มีความจำเป็นที่จีนจะต้องนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ทว่ามันมีเงื่อนไขต่างๆ เอื้ออำนวยให้จีนสามารถทำสิ่งนี้ได้สำเร็จหรือไม่? ในเรื่องนี้ ผมมีความเห็นพ้องเป็นอย่างยิ่งกับทัศนะต่างๆ ของ เจ้า ฉางเหวิน (Zhao Changwen อธิบดีกรมพัฒนาอุตสาหกรรม, ศูนย์วิจัยการพัฒนาแห่งคณะรัฐมนตรีจีน) และ สีว์ เจ้าหยวน (Xu Zhaoyuan นักวิจัยของศูนย์วิจัยการพัฒนาแห่งคณะรัฐมนตรีจีน) นั่นคือ ประเทศที่จะนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมได้นั้น ไม่สามารถเป็นประเทศซึ่งมีรากฐานทางเศรษฐกิจและทางอุตสาหกรรมที่อ่อนแอได้ แต่ก็ไม่จำเป็นที่ประเทศนั้นๆ ต้องเป็นประเทศที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอยู่ในระดับนำหน้าสูงสุด
ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่สหรัฐฯกับเยอรมนีนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 19 นั้น สหราชอาณาจักรต่างหากคือผู้ที่อยู่ในระดับสูงที่สุดทั้งเรื่องรายได้และเทคโนโลยี สหรัฐฯและเยอรมนียังคงอยู่ในขั้นตอนของการไล่ตามเท่านั้นเมื่อดูจากแง่มุมของระดับรายได้ ทั้งนี้หากคำนวณกันเป็นภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity) แล้ว จีดีพีต่อหัวของอเมริกาเมื่อปี 1870 อยู่ในระดับ 76.6% ของสหราชอาณาจักร ขณะที่ของเยอรมนีอยู่ในระดับ 57.6% ของสหราชอาณาจักร
เจ้า ฉางเหวิน และ สีว์ เจ้าหยวน ชี้เอาไว้ในหนังสือของพวกเขาเรื่อง China’s Industrial Upgrading in the Background of the New Industrial Revolution (การยกระดับอุตสาหกรรมของจีนภายใต้ภูมิหลังของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่) ว่า นครของจีนที่นวัตกรรมอยู่ในระดับสูงที่สุด 5 แห่ง คือ เซินเจิ้น, ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กว่างโจว, และ หางโจว นครเหล่านี้รวมกันแล้วมีประชากร 84 ล้านคน ใหญ่กว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเยอรมนีซึ่งปัจจุบันมีประชากร 82 ล้านคน ถ้าหากพิจารณาโดยใช้ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ จีดีพีต่อหัวของนครท็อป 5 ของจีนเหล่านี้ขึ้นไปถึงระดับ 72.9% ของสหรัฐฯแล้ว สัดส่วนเช่นนี้คิดอย่างหยาบๆ ก็คืออยู่ในระดับเดียวกันกับสัดส่วนจีดีพีต่อหัวของอเมริกาเมื่อเทียบกับจีดีพีต่อหัวของสหราชอาณาจักร ในตอนที่สหรัฐฯขึ้นเป็นผู้นำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในปี 1870 นั่นเอง
นอกจากนั้น หากพิจารณาในวงกว้างมากขึ้น นั่นคือจากพวกมณฑลและนครฐานะเทียบเท่ามณฑลของจีนที่มีจีดีพีต่อหัวอยู่ในระดับสูงที่สุดรวม 7 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เทียนจิน, เจียงซู, เจ้อเจียง, ฝู่เจี้ยน, และกวางตุ้ง พวกเขามีจำนวนประชากรรวมกันทั้งสิ้นราว 350 ล้านคน สูงกว่าเล็กน้อยจากจำนวนประชากร 330 ล้านคนที่อยู่ในสหรัฐฯปัจจุบัน เมื่อดูกันที่ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ จีดีพีต่อหัวของมณฑลและนคร 7 แห่งเหล่านี้อยู่ในระดับ 54.5% ของสหรัฐฯแล้ว นี่ก็เช่นกัน สัดส่วนเช่นนี้ดูกันคร่าวๆ ก็เป็นสัดส่วนเดียวกันกับของเยอรมนีเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักร ในตอนที่เยอรมนีนำการปฏิวัติอุตสาหรกรมครั้งที่ 2
ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของหนังสือเล่มนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ของจีดีพีต่อหัว ซึ่งเป็นตัวแทนของเงื่อนไขต่างๆ ทางวัตถุ อย่างเช่น ระดับทางอุตสาหกรรมและระดับทางเทคโนโลยีแล้ว จีนมีความสามารถพรักพร้อมแล้วที่จะนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมรอบใหม่
นอกจากนี้ ผมจะขอเพิ่มเติมขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง นั่นคือ ไม่เพียงจีนมีเงื่อนไขต่างๆ ทางวัตถุที่จะนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่เท่านั้น แต่จีนยังมีความได้เปรียบในหลายๆ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและแข็งแกร่งที่สุด ต่อไปนี้คือเหตุผล 3 ประการในเรื่องนี้:
เหตุผลประการแรก คือ ตามคำนิยามซึ่งให้กันไว้ ณ การประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ที่เมืองหางโจว (G20 Hangzhou Summit) การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่มีคุณลักษณะซึ่งโดดเด่นอยู่ที่การเชื่อมต่อกันแบบมีปัญญาความฉลาดระหว่างผู้คน, เครื่องจักร, และทรัพยากร นี่ก็คือคุณลักษณะของอุตสาหกรรมที่มีวงจรนวัตกรรมสั้น หรือที่เราเรียกกันว่าอุตสาหกรรม “แซงกันตรงทางโค้ง” (“overtake-on-a-curve” industry) ลักษณะหนึ่งของอุตสาหกรรมชนิดนี้ก็คือ วงจรแห่งการวิจัยและการพัฒนาเพื่อทำผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาของมันจะสั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทุนมนุษย์จึงกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่งยวดที่สุดในนวัตกรรม ทั้งนี้ทุนมนุษย์ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่่ การศึกษา และความรู้ความสามารถตั้งแต่กำเนิด
ปัจจุบัน การศึกษาของจีนตั้งแต่ระดับอนุบาล, โรงเรียนประถม, โรงเรียมมัธยมต้น, โรงเรียนมัธยมปลาย, และมหาวิทยาลัย ไปจนถึงระดับหลังปริญญาตรี ไม่ได้แตกต่างไปจากของพวกประเทศพัฒนาแล้วมากมายอะไรนัก สำหรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแล้ว ความรู้ความสามารถตั้งแต่กำเนิดมีความสำคัญมากยิ่งกว่าการศึกษา อัตราการเกิดปัจเจกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถอย่างโดดเด่นเป็นพิเศษในหมู่ประชากรหนึ่งๆ ในทางสถิติแล้วมีลักษณะที่กระจายตัวแบบปกติธรรมดา สัดส่วนของผู้เป็นอัจฉริยะในหมู่ประชากรหนึ่งๆ ไม่ว่าเป็นประชากรที่ไหนก็ตามที ควรที่จะเป็นอย่างเดียวกันในทุกๆ ประเทศไม่ว่าประเทศไหน อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญที่จะไขสู่ความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมนั้น ไม่ใช่อยู่ที่สัดส่วนของปัจเจกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถอย่างโดดเด่นเป็นพิเศษในหมู่ประชากรนั้นๆ หากแต่อยู่ที่จำนวนทั้งหมดของปัจเจกบุคคลดังกล่าวนี้ต่างหาก เนื่องจากจีนมีประชากรมากเป็น 4 เท่าตัวของสหรัฐฯ จำนวนของผู้เป็นอัจฉริยะในจีนก็ควรเป็น 4 เท่าตัวของคนอัจฉริยะในสหรัฐฯเช่นกัน การที่จีนมีกองกลางของทุนมนุษย์ขนาดใหญ่โตมหึมา ทำให้จีนมีความได้เปรียบเหนือประเทศใดๆ รวมทั้งสหรัฐฯด้วย ในเรื่องของการวิจัยและการพัฒนาชนิดวงจรสั้น
เหตุผลประการที่สองคือ หลังจากที่มีเทคโนโลยีใหม่ซึ่งมีการเชื่อมต่อกันอย่างมีปัญญาความฉลาด เปิดตัวออกมาแล้ว ก็จำเป็นต้องมีการวางมาตรฐานทางเทคโนโลยีสำหรับเรื่องแอปพลิเคชั่น อำนาจในการกำหนดมาตรฐานเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับขนาดของตลาดภายในของประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว เมื่อมีประเทศ 2 ประเทศแข่งขันชิงชัยกันในเรื่องเทคโนโลยีใหม่อย่างหนึ่ง ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่า และมีขนาดตลาดภายในใหญ่โตกว่า จะได้เปรียบในเรื่องมีต้นทุนที่ต่ำกว่าในการผลิตผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีนี้ สืบเนื่องจากเรื่องการประหยัดที่เกิดขึ้นจากขนาด (economies of scale) ผลิตภัณฑ์ของประเทศนั้นจึงจะมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่า และด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสมากกว่าที่จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสำหรับทั่วโลกในตลาดระหว่างประเทศ
ด้วยจำนวนประชากร 1,400 ล้านคน จีนคือประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก หากคิดในแง่ของภาวะเสมอภาคทางอำนาจซื้อแล้ว จีนก็ขึ้นเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ในปี 2014 ด้วยเหตุนี้เมื่อแข่งขันกับพวกประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายในเรื่องใครจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของทั่วโลก จีนก็มีความได้เปรียบในทางเปรียบเทียบจากประชากรและขนาดตลาดของจีน
เหตุผลประการที่สามคือ จีนมีอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ หลากหลายนานากว้างขวางที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าแห่งใดในโลก และสามารถที่จะจัดหาผลิตภัณฑ์ทำจากโรงงานการผลิตอย่างหลากหลายนานาเต็มพิกัดเพื่อใช้สำหรับการประดิษฐ์สร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยฮาร์ดแวร์ เส้นทางจากแนวความคิดทางเทคโนโลยีแบบสร้างนวัตกรรม ไปจนถึงการผลิตพวกผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายออกมาเป็นจำนวนมากๆ จะทำได้อย่างรวดเร็วที่สุดและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดในประเทศจีน
เหตุผล 3 ประการเหล่านี้เองทำให้จีนอยู่ในฐานะที่ดีกว่าเมื่อจีนแข่งขันกับสหรัฐฯเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจีนมีฐานะที่ดีกว่าดังกล่าวนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่เฉพาะความได้เปรียบของประเทศนี้ในเรื่องเทคโนโลยี 5จี เท่านั้น หากแต่ยังดูได้จากจำนวนบริษัทระดับ “ยูนิคอร์น” ของจีนอีกด้วย (บริษัทระดับยูนิคอร์น คือ บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาไม่เกิน 10 ปี และมีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว เมื่อพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ในฐานะที่เป็นบริษัทเอกชน หรือจากมูลค่าตามราคาตลาดในกรณีเป็นบริษัทจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้น)
ตามรายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยการลงทุนแห่งประเทศจีน (China Investment Research Institute) ในปี 2018 จำนวนของบริษัท “ยูนิคอร์น” ที่ยังไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน มีจำนวน 150 แห่งอยู่ในจีน และ 107 แห่งอยู่ในสหรัฐฯ เท่ากับเป็น 46% และ 33% ตามลำดับของพวกบริษัท “ยูนิคอร์น” ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก
แล้วจีนจะเปลี่ยนศักยภาพความเป็นไปได้เช่นนี้ให้กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้อย่างไร? เจ้า ฉางเหวิน และ สีว์ เจ้าหยวน มีข้อเสนอแนะอยู่ 3 ประการในหนังสือของพวกเขา ได้แก่ การปรับปรุงยกระดับต่อไปอีกทั้งเรื่องระบบสิทธิในทรัพย์สิน และเรื่องการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา, การโฟกัสเน้นหนักในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อมทางระเบียบกฎหมายที่รอบคอบมองการณ์ไกลและเปิดให้ฝ่ายต่างๆ สามารถเข้าร่วมได้, และการธำรงรักษาให้วิสาหกิจต่างๆ สามารถเคลื่อนไหวได้ในแนวดิ่ง ในหลักเศรษฐศาสตร์เชิงโครงสร้างแบบใหม่ (new structural economics) แล้ว ทั้ง 3 ประการเหล่านี้คือการพูดถึงการจัดวางสภาพล้อมล้อมทางตลาดที่ยุติธรรมและมีการแข่งขันกันนั่นเอง
ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับจุดเหล่านี้ทั้งหมด พิจารณาจากทัศนะมุมมองของหลักเศรษฐศาสตร์เชิงโครงสร้างแบบใหม่แล้ว
ทั้ง 2 ส่วน คือ “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ”(effective market) และ “รัฐที่เอื้ออำนวย” (facilitating state)ล้วนแต่มีความสำคัญ ผมจะขอขยายรายละเอียดเกี่ยวกับ “รัฐที่เอื้ออำนวย” ใน 2 จุด
จุดแรก จีนควรที่จะใช้การกำหนดนโยบายต่างๆ ทางอุตสาหกรรมด้วยความเชื่อมั่นในตนเองเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ประเทศหนึ่งๆ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงกำลังไล่ตามประเทศอื่นๆ หรืออยู่ในช่วงกำลังนำหน้าใครเพื่อน ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็ตามที รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ก็สมควรที่จะเป็นฝ่ายริเริ่มกระตือรือร้นในการเอาชนะความล้มเหลวของตลาด (market failures) เพื่อเอื้ออำนวยให้ความสะดวกแก่ความพยายามในการสร้างนวัตกรรมของวิสาหกิจทั้งหลาย แน่นอนทีเดียว ความล้มเหลวของตลาดที่อาจเกิดขึ้นมาในช่วงกำลังไล่ตามประเทศอื่นๆ และในช่วงกำลังนำหน้าใครเพื่อนนั้น มีความผิดแผกแตกต่างกัน ดังนั้น รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จึงควรปรับเปลี่ยนทิศทางด้านนโยบายของตนและให้ความสนับสนุนอย่างสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้น
ในช่วงของการไล่ตามนั้น ความล้มเหลวของตลาดอาจหมายรวมถึงพวกปัญหาต่างๆ ภายนอกซึ่งเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ และการบ่มเพาะฟูมฟักทุนมนุษย์ที่พวกเทคโนโลยีใหม่ๆ เรียกร้องต้องการใช้, การขาดไร้เงินทุนและการที่เงินทุนซึ่งจัดหาให้โดยระบบการเงินต้องผ่านการกระจายความเสี่ยง, และความไม่สมบูรณ์แบบของโครงสร้างพื้นฐานทางอำนาจ ทางการคมนาคม ทางการสื่อสารโทรคมนาคม และทางสภาพแวดล้อมของธุรกิจ ความล้มเหลวของตลาดเหล่านี้
พวกวิสาหกิจเองไม่สามารถที่จะเอาชนะได้ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขคลี่คลายโดยรัฐบาล
เนื่องจากรัฐบาลย่อมสามารถเคลื่อนย้ายดำเนินการกับทรัพยากร ตลอดจนกับสมรรถนะในทางการบริหารได้ภายในขอบเขตจำกัด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้การกำหนดนโยบายต่างๆ ในทางอุตสาหกรรม มาเป็นตัวจัดสรรทรัพยากรของตนในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจทางอุตสาหกรรมแห่งใหม่ๆ ซึ่งสามารถที่จะสร้างคุณูปการใหญ่โตที่สุดให้แก่การสร้างงานและแก่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในช่วงของการเป็นผู้นำตลาด ก็จะมีความล้มเหลวของตลาดเกิดขึ้นได้เหมือนกัน นี่เป็นเพราะการที่จะประดิษฐ์สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ แบบมีนวัตกรรมขึ้นมาได้นั้น จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการวิจัยและการพัฒนาระดับพื้นฐาน พวกวิสาหกิจนั้นสนใจในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และเทคโนโลยีใหม่ ก็เพราะจะทำให้พวกเขาสามารถที่ได้สิทธิบัตร, สามารถผูกขาดตลาด, และสร้างรายได้ในรูปของค่าเช่าที่เก็บจากผู้ขอใช้สิทธิบัตรของพวกเขา แต่พวกเขาไม่ได้มีความสนใจในการลงทุนทางด้านการวิจัยพื้นฐานซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาคือผลประโยชน์ในเชิงวิชาการ นั่นคือ เป็นประโยชน์ทางสาธารณะซึ่งไม่สามารถที่จะนำไปจดสิทธิบัตรได้ ทว่าหากปราศจากการทะลุทะลวงต่างๆ ในการวิจัยพื้นฐานแล้ว วิสาหกิจทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะมีรากฐานใดๆ สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ได้เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงของการเป็นผู้นำตลาด รัฐบาลจึงควรโฟกัสเน้นหนักในเรื่องการสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานซึ่งเป็นที่ต้องการของพวกวิสาหกิจเพื่อนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ของพวกเขา ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลจึงควรที่จะใช้นโยบายต่างๆ ในทางอุตสาหกรรมมาเป็นตัวจัดสรรทรัพยากรและสมรรถนะต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดของตน เพื่อสนับสนุนการวิจัยพื้นฐาน เรื่องเช่นนี้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่พวกประเทศพัฒนาแล้วที่มีเทคโนโลยีระดับก้าวหน้าล้ำสมัยทั้งหลายกำลังทำกันอยู่ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย สิ่งนี้ยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ มาเรียนา มัซซูคาโต (Mariana Mazzucato) ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์แห่งนวัตกรรมและคุณค่าทางสาธารณะ (Economics of Innovation and Public Value) ณ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) เรียกสหรัฐฯตลอดจนประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ว่าเป็น “รัฐผู้ประกอบการ” (entrepreneurial states)
จากข้อพิจารณาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจีนควรที่จะฟูมฟักบ่มเพาะสภาพแวดล้อมแบบตลาดขึ้นมา ทว่าจำเป็นต้องแสดงบทบาทอย่างเป็นฝ่ายริเริ่มกระตือรือร้นด้วย รัฐบาลจีนไม่ควรปฏิเสธในเรื่องที่ว่าตนเองมีอิทธิพลในการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ เพียงเพื่อเป็นการสนองตอบต่อการที่ฝ่ายอเมริกันโจมตีเล่นงานโครงการ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) เวลาเดียวกันรัฐบาลจีนก็ไม่ควรเอาใจใส่กับการทัดทานของชาวจีนซึ่งคัดค้านการกำหนดนโยบายต่างๆ ทางอุตสาหกรรมสืบเนื่องจากยึดโยงอยู่กับความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ตัวผมนั้นเคยพูดเอาไว้ในหลายๆ วาระโอกาสและเขียนเอาไว้ในหลายๆ บทความว่า ผมยังไม่เคยเห็นว่ามีประเทศกำลังพัฒนาแห่งใดเลยซึ่งประสบความสำเร็จในการไล่ตามพวกประเทศพัฒนาแล้วโดยที่ไม่ได้มีการออกนโยบายต่างๆ ทางอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันผมก็ยังไม่เคยเห็นเหมือนกันว่ามีประเทศพัฒนาแล้วแห่งใดสามารถที่จะนำการพัฒนาของอุตสาหกรรมใหม่ต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการกำหนดนโยบายต่างๆ ทางอุตสาหกรรม
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว เยอรมนีได้เสนอยุทธศาสตร์ “อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) ของตนออกมา ส่วนสหรัฐฯก็ได้เสนอ “ยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นผู้นำของอเมริกันในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นก้าวหน้า” (Strategy for American Leadership in Advanced Manufacturing) ของตนออกมาเช่นกัน ดังนั้นจีนควรที่จะเจริญรอยตาม และรับเอาเรื่องการกำหนดนโยบายต่างๆ ทางอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง และใช้ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของตนเพื่อนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่
จุดที่สอง จีนควรที่จะเดินหน้าการเปิดกว้างเศรษฐกิจของตนให้ลงหลักปักฐานมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก
การเปิดกว้างเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ เหตุผลของเรื่องนี้อันดับแรกก่อนอื่นใดเลยก็คือ
เพราะอุตสาหกรรมใหม่ๆ จะมีการประหยัดที่เกิดจากขนาดขึ้นมาได้นั้นจะต้องมีขนาดมหึมายิ่ง ถึงแม้ประเทศจีนมีตลาดภายในที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งนี้หากวัดกันแบบเป็นตลาดเดี่ยวๆ แต่ขนาดของมันก็ยังไม่สามารถเปรียบเทียบกับตลาดทั่วโลกได้ นอกจากนั้นถึงแม้จีนจำเป็นต้องนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่เพื่อทะลุทะลวงฝ่าการสกัดปิดกั้นของสหรัฐฯออกไป
แต่มันย่อมเป็นไปไม่ได้หรอกที่จีนจะประดิษฐ์คิดสร้างเทคโนโลยีทุกๆ อย่างขึ้นมาเอง มันจะต้องเป็นอย่างที่เคยเป็นอยู่ในอดีต
นั่นคือ จีนใช้ “ทั้งสองตลาดและสองทรัพยากร ทั้งภายในประเทศและในระดับโลก” โดยรวมไปถึงพวกทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีด้วย
เวลาเดียวกันนั้น สหรัฐฯอาจพยายามที่จะขีดวงล้อมและกำราบปราบปรามจีน ถ้าหากสหรัฐฯยังคงปิดกั้นและกำราบปราบปรามอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีนในการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่แล้ว จีนจะต้องดำเนินการตอบโต้อย่างฉับพลันทันที สหรัฐฯกำลังพยายามบงการควบคุมก็เพราะต้องการที่จะรักษาความเป็นเจ้าเหนือใครของตนในฐานะที่เป็น “พี่เบิ้มใหญ่ของโลก” เอาไว้
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯประสบความล้มเหลวไม่สามารถเรียกความสนับสนุนจากพวกประเทศพัฒนาแล้วรายอื่นๆ โดยที่ข้อพิจารณาอันดับแรกเลยของประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ ย่อมต้องเป็นการเพิ่มพูนยกระดับระบบเศรษฐกิจของตนเอง และการปรับปรุงยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของตน ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องลงทุนเป็นจำนวนมากมาย เพื่อเข้าร่วม หรือเพื่อเป็นผู้นำในอาณาบริเวณบางส่วนของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่นี้ และหลังจากสามารถทะลุทะลวงฝ่าทางตันทางเทคโนโลยีได้แล้ว พวกเขาก็จำเป็นต้องมีตลาดขนาดมหึมา เพื่อจะได้เงินลงทุนขั้นต้นของพวกเขากลับคืนมา และสะสมเงินทุนใหม่ๆ สำหรับการทะลุทะลวงครั้งต่อไป “สองตลาดและสองทรัพยากร” จึงเป็นสูตรแห่งความสำเร็จในประเทศจีน และก็สำหรับประเทศอื่นๆ ด้วย
ขณะที่สหรัฐฯมุ่งอาศัยการสกัดปิดกั้นเพื่อกำราบปราบปรามจีนและประเทศอื่นๆ ด้วยจุดประสงค์ที่จะธำรงรักษาความเป็นเจ้าเหนือใครของตนเอาไว้นั้น จีนจะต้องเดินหน้าขยายการเปิดกว้างของตนและอนุญาตให้ประเทศอื่นๆ ได้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี, การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว, และตลาดขนาดมหึมาของตน ในการค้าโลกแบบเปิดกว้างนั้น พวกประเทศเล็กๆ สามารถได้รับประโยชน์มากกว่าพวกประเทศขนาดใหญ่กว่า ถ้าหากจีนยังคงเดินหน้าขยายการเปิดกว้างของตนต่อไปแล้ว พวกประเทศพัฒนาแล้วนอกเหนือจากสหรัฐฯ ก็จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากกว่าประเทศจีนเอง พวกเขาจะไม่สามารถแบกรับการสูญเสียตลาดจีนที่ทั้งใหญ่มหึมาและทั้งเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะที่กำลังมีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ได้ พวกเขาจะไม่ยอมเสียสละผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขาเองเพื่อปกป้องฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครของสหรัฐฯ และความพยายามของฝ่ายอเมริกันในการกำกราบปราบปรามการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งใหม่ของจีนโดยอาศัยการปิดล้อม ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
จัสติน อี้ฟู หลิน เป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และรองประธานกรรมการบริหารอาวุโสของธนาคารโลก หนังสือเล่มใหม่ของเขาที่เขียนเป็นภาษาจีน และมีการตั้งชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษว่า “On China’s Economy” สามารถติดตามได้ที่
https://www.amazon.com/%E8%AE%BA%E4%B8%AD%E5%9B%BD%E7%BB%8F%E6%B5%8E-%E6%8C%91%E6%88%98%E5%BA%95%E6%B0%94%E4%B8%8E%E5%90%8E%E5%8A%B2-%E4%B8%AD%E5%9B%BD%E7%BB%8F%E6%B5%8E%E5%8F%82%E8%80%83%E7%B3%BB%E5%88%97-%E6%9E%97%E6%AF%85%E5%A4%AB/dp/7521727592