(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Ruckus over AUKUS torpedoes united anti-China front
by MK Bhadrakumar
22/09/2021
การที่ 3 ชาติพูดภาษาอังกฤษอย่าง สหรัฐฯ-สหราชอาณาจักร-ออสเตรเลีย สมคบกันปกปิดฝรั่งเศสระหว่างแอบเจรจาจัดตั้งกลุ่ม “ออคัส” และฉีกข้อตกลงเรือดำน้ำ แสดงให้เห็นว่าวอชิงตันไม่เห็นความสำคัญของพวกมหาอำนาจอียู ขณะเดียวกันก็ทำให้แดนจิงโจ้ อยู่ในฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งแผนการของวอชิงตันในการปิดล้อมจีน
ผลกระทบต่อเนื่องในทางการทูต จากข้อตกลงจัดตั้งกลุ่มความมั่นคงกลุ่มใหม่ ระหว่างออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, และสหรัฐอเมริกา (ใช้อักษรย่อว่า AUKUS -- ออคัส) กำลังเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งหักพังเสียหายที่เกลื่อนพื้นยังต้องใช้เวลาในการสะสางทำความสะอาด กระทั่งอาจจะมีความเสียหายบางอย่างซึ่งยืนยาวถาวรด้วยซ้ำไปใช่หรือไม่?
เวลานี้ข้อเท็จจริงปรากฏออกมาให้เห็นกันแล้วว่า ไม่เพียงไม่ได้มีความพยายามที่จะรวมเอา ฝรั่งเศส เข้าไปในข้อตกลงความมั่นคง ออคัส เท่านั้น แต่กลุ่มประเทศวัฒนธรรมแองโกลเก่าแก่ทั้ง 3 รายเหล่านี้ยังสมคบคิดกันปกปิดไม่ให้ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส รับรู้รับทราบความเคลื่อนไหวในการจับกลุ่มกันของพวกเขาอีกด้วย
หนังสือพิมพ์ซันเดย์เทเลกราฟ (Sunday Telegraph) รายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 19 กันยายนว่า ดีลจับมือตั้งกลุ่ม ออคัส สรุปกันออกมาได้ระหว่างการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี7 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทว่า มาครง ซึ่งก็เข้าร่วมการหารือคราวนั้นด้วย กลับไม่ได้ตระหนักรับรู้เลยถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นลับหลังเขา ท่ามกลางบรรยากาศที่ดูมีมิตรไมตรีของซัมมิตคราวนั้น
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานเอาไว้ว่า การเจรจาหารือเกี่ยวกับดีลนี้ดำเนินการกันมาก่อนหน้านี้เป็นเดือนๆ แล้วในสหรัฐฯ โดยปราศจากการรู้เห็นของปารีสเช่นกัน กล้องถ่ายรูปถ่ายวิดีโอทั้งหลายของโลกต่างจับภาพให้เห็นถึงอาการของฝ่ายฝรั่งเศส ซึ่งทั้งงงงวยสงสัย โกรธเกรี้ยว เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกล้ำลึกต่างๆ
รัฐมนตรีต่างประเทศ ฌอง-อีฟส์ เลอ แดรง (Jean-Yves Le Drian) บรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็น “การแทงข้างหลัง” ซึ่งเป็น “ความประพฤติที่ยอมรับไม่ได้เลยที่มาทำกันในระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนด้วยกัน” ขณะที่ มาครง ก็ตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่เคยทำกันมาก่อนในหมู่พันธมิตร โดยออกคำสั่งเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐฯและประจำออสเตรเลีย ให้เดินทางกลับประเทศ
เลอ แดรง บอกกับสถานีโทรทัศน์ เฟรนช์ ทีวี (French TV) ในวันศุกร์ (17 ก.ย.) ว่า “มีการโกหกกัน มีการหลอกลวงตีสองหน้า มีการทำลายความไว้วางใจกันครั้งใหญ่ มีการหยามหยันสบประมาทกัน ดังนั้นในระหว่างเรามันไม่ใช่จะไปด้วยกันได้ดีหรอก ไม่ใช่แม้แต่นิดเดียว นี่หมายความว่าเกิดวิกฤตขึ้นมาแล้ว เรากำลังเรียกเอกอัครราชทูตของเรากลับประเทศเพื่อหารือ พยายามทำความเข้าใจ แต่พร้อมกันนั้นก็ยังเป็นการแสดงให้พวกประเทศอดีตหุ้นส่วนของเราทราบว่าเรามีความไม่พอใจอย่างแรงมากๆ จริงๆ ครับ เกิดวิกฤตที่ร้ายแรงขึ้นมาในระหว่างพวกเรา”
ผลสะท้อนที่จะกลับมาสู่การติดต่อคบค้ากันระหว่างฝรั่งเศส-ออสเตรเลีย น่าที่จะร้ายแรงมาก ฝรั่งเศสนั้นคือมหาอำนาจแปซิฟิกรายหนึ่งเหมือนกัน (ไม่เหมือนกับสหราชอาณาจักร) และเพื่อนบ้านทางทิศตะวันออกรายสำคัญที่อยู่ใกล้ที่สุดของแคนเบอร์ราก็คือ หมู่เกาะนิวแคลิโดเนีย (New Caledonia) ของฝรั่งเศสนั่นเอง
ออสเตรเลียยังจำเป็นต้องอาศัยฝรั่งเศสจึงจะสามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูได้ เอฟทีเอออสเตรเลีย-สหภาพยุโรป ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นการเปิดตลาดที่มีประชากรเกือบๆ 450 ล้านคนและยอดจีดีพีสูงกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้แก่พวกผู้ส่งออกออสเตรเลียนั้น เวลานี้อยู่ในภาวะไม่แน่นอนว่าจะจบลงด้วยความสำเร็จหรือไม่
เจ้าหน้าที่หลายรายในบรัสเซลส์บอกกับโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่า จังหวะเวลาการประกาศจัดตั้ง ออคัส ขึ้นมา ถือว่าหยาบคายไม่ให้เกียรติกัน เนื่องจากผู้แทนระดับสูงฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรปก็มีกำหนดจะประกาศแจกแจงยุทธศาสตร์ว่าด้วยอินโด-แปซิฟิกของตนเองอยู่แล้วในวันพฤหัสบดี (16 ก.ย.) ดังนั้นจึงสร้างความประทับใจขึ้นมาว่า 3 ประเทศนี้ไม่ได้พิจารณาอย่างจริงจังว่าอียูก็เป็นเพลเยอร์ทางภูมิรัฐศาสตร์รายหนึ่ง
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของ อียู บอกกับซีเอ็นเอ็นแบบถากถางเสียดสีว่า ประเทศทั้ง 3 เหล่านี้เป็น “พวกประเทศพูดภาษาอังกฤษ” ซึ่ง “ชอบรบราทำสงครามมาก” จึงได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาต่อต้านจีน แล้วก็พวกชาติกลุ่มเดียวกันนี้เองซึ่งเป็นผู้นำในการเข้ารุกรานอัฟกานิสถานและอิรัก – “แล้วเราทั้งหมดต่างทราบกันอยู่แล้วว่าผลลัพธ์ออกมายังไง”
ซีเอ็นเอ็นรายงานเอาไว้ว่า “ยุทธศาสตร์ของอียูในการรับมือจัดการกับจีนนั้น มีความแตกต่างจากสหรัฐฯในวิถีทางสำคัญประการหนึ่ง กล่าวคือ อียูมีความกระตือรือร้นในการหาทางร่วมมือกับจีน และมองจีนว่าเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ พวกเจ้าหน้าที่ในสำนักงานใหญ่ของอียูที่กรุงบรัสเซลส์เชื่อว่า ด้วยการค้าขายและการทำงานกับจีน พวกเขาไม่เพียงแต่จะสามารถโน้มน้าวปักกิ่งให้ปฏิรูปนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและด้านพลังงานของแดนมังกรเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่กับจีนมาเป็นกันชนระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน และดังนั้นจึงกำลังทำให้อียูมีบทบาททางภูมิรัฐศาสตร์ที่ชัดเจนและทรงความสำคัญ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2021/09/16/world/aukus-leaves-europe-in-the-cold-intl-cmd/index.html)
ฝรั่งเศสและเยอรมนีไม่มีเสียหรอกที่จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแล้ว วอชิงตันก็มีความปรารถนาที่จะใช้จ่ายทุนทางการเมืองตลอดจนลงทุนในการผูกพันด้านความมั่นคงและด้านกลาโหมกับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย มากกว่าที่จะกระทำกับพวกมหาอำนาจอียู
ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ไม่ได้แม้กระทั่งปรึกษาหารือกับพวกพันธมิตรยุโรปด้วยซ้ำไปก่อนที่จะประกาศตัดสินใจในเดือนเมษายนที่ผ่านมาในเรื่องการถอนทหารจากประเทศนั้น เมื่อมาเพิ่มเติมด้วยการประกาศจัดตั้ง ออคัส ขึ้นมาอีกเช่นนี้ จึงมีแต่จะยิ่งหนุนเสริมความหนักแน่นให้แก่ทัศนะความคิดเห็นของฝรั่งเศสที่ว่า อียูจำเป็นต้องมีศักยภาพในการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองในอินโด-แปซิฟิก
ในทำนองเดียวกัน ออคัส ก็เน้นย้ำให้เห็นว่าภายในกลุ่มสนทนาความมั่นคง 4 ฝ่าย (Quadrilateral Security Dialogue ประกอบด้วย สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย) หรือกลุ่มคว็อดนั้น จุดยืนของสหรัฐฯที่มีต่อออสเตรเลีย มีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับจุดยืนของสหรัฐฯที่มีต่อญี่ปุ่นและอินเดีย
ดังจะเห็นได้ว่า ในตอนที่เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งในวอชิงตันบรรยายสรุปแก่สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 กันยายน แล้วถูกถามว่า ในอนาคตทสหรัฐฯมีขอบเขตอย่างไรหรือไม่ ในการขยายความร่วมมือเช่นที่ให้กับออสเตรเลียนี้ ไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย คำตอบของเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้นี้มีดังนี้:
“ผมจะต้องขอเน้นย้ำกันตรงนี้ว่า เรามองเรื่องนี้ว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ที่หาได้ยากมากๆ ระหว่างออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, และสหรัฐฯ เราเคยทำเช่นนี้มาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง (การถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้แก่ประเทศอื่นๆ) ... นั่นคือเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นการให้กับสหราชอาณาจักร ... เทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่มีความอ่อนไหวอย่างที่สุด เรื่องนี้ ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ถือเป็นข้อยกเว้นในนโยบายของเราในหลายๆ ด้าน ผมไม่คาดหมายหรอกว่าจะมีการดำเนินการเช่นนี้อีกในสภาวการณ์อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในเวลาข้างหน้า เรามองเรื่องนี้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจบ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/press-briefings/2021/09/15/background-press-call-on-aukus/)
แน่นอนทีเดียว ไม่ว่าญี่ปุ่นหรืออินเดียต่างก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเหมาะเหม็งเข้าตาวอชิงตันเหลือเกินเหมือนกับออสเตรเลีย จนทำให้แดนจิงโจ้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของอเมริกาไป กล่าวคือออสเตรเลียมีมหาสมุทรอินเดียอยู่ทางด้านตะวันตกของตน และมีมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ทางด้านตะวันออก ดังนั้น นี่จึงเป็นการติดอาวุธให้แก่ออสเตรเลียด้วยกองเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์เทคโนโลยีล้ำหน้า เพื่อให้ทำหน้าที่ออกตรวจการณ์ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและในมหาสมุทรแปซิฟิก
ถึงแม้วอชิงตันกับนิวเดลีอาจจะมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายๆ อย่าง แต่พวกเขาก็มีความแตกต่างที่สำคัญหลายๆ ประการด้วยเช่นกัน อินเดียจะไม่มีทางหันไปร่วมหัวจมท้ายอยู่ข้างสหรัฐฯอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนกับออสเตรเลีย วอชิงตันกับนิวเดลีมีความต้องการทางการเมืองที่แตกต่างกันหลายๆ อย่างเมื่อพิจารณากันในระยะกลางจนถึงระยะยาว นอกจากนั้นแล้ว อินเดียก็มีความทะเยอทะยานของตนเอเงเช่นกัน
ชัดเจนอยู่แล้วว่า ออคัส จะถูกนำมาศึกษาพิจารณากันด้วยความรอบคอบระมัดระวังในโตเกียวและในนิวเดลี และจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อทางเลือกต่างๆ ในเชิงยุทธศาสตร์ของ 2 ประเทศนี้ ปัจจุบัน “ความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงไตรภาคีที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นกว่าเดิม” ในระหว่าง “ระบอบประชาธิปไตยทางทะเล” 3 รายนี้ ยังคงมีอะไรมากมายซึ่งไม่เป็นที่กระจ่าง เป็นต้นว่า จะมีการจัดทำเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งออกมาอย่างเป็นทางการหรือไม่?
ไม่ต้องสงสัยเลย สหรัฐฯต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งหนักแน่นมากขึ้นและกว้างขวางยิ่งขึ้นให้แก่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของตน โดยให้ ออคัส และกลุ่มคว็อด อยู่ในสภาพหนุนเสริมกันและกัน อย่างไรก็ดี ภายในกรอบของกลุ่มคว็อด เวลานี้ออสเตรเลียมีความโดดเด่นขึ้นมาในฐานะที่เป็นสมาชิก “ผู้มีความเท่าเทียมมากกว่า” (more equal) ญี่ปุ่นและอินเดียไปแล้ว เมื่อพิจารณาจากการที่สหรัฐฯเต็มอกเต็มใจที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีแกนกลางซึ่งมีความอ่อนไหวระดับซูเปอร์ให้เช่นนี้ และญี่ปุ่นและอินเดียจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้กลมกลืน ภายหลัง “การถูกตีกระหน่ำในทางจิตวิทยา” อย่างแรง
รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย สุพรหมณยัม ชัยศังกระ (Subrahmanyam Jaishankar) ได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ในเวลาต่อมา ชัยศักกระ ทวิตว่า “หารือพัฒนาการช่วงหลังๆ นี้ในอินโด-แปซิฟิกและอัฟกานิสถานกับเพื่อนของผม FM @JY_LeDrian รอคอยการพบปะหารือของเราในนิวยอร์ก”
ดูเหมือนว่ามิติด้านอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรในโครงการเรือดำน้ำนี้ คือปัจจัยที่ตัดสินให้เกิดกลุ่มหุ้นส่วน ออคัส ขึ้นมา น่าแปลกใจทีเดียว โดมินิก ราบบ์ (Dominic Rabb) ผู้ซึ่งในระหว่างการประชุมซัมมิต จี7 เมื่อเดือนมิถุนายนนั้น ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรอยู่ ได้แสดงทัศนะในเชิงไม่เห็นด้วยกับ ออคัส ซึ่งจะสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนและฝรั่งเศส ปรากฏว่าเขาถูกโยกย้ายออกจากกระทรวงการต่างประเทศแบบกะทันหันเมื่อวันที่ 15 กันยายน โดยได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นรัฐมนตรียุติธรรม
ตัวนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร บอริส จอห์นสัน ซึ่งได้แถลงเกี่ยวกับเรื่อง ออคัส เอาไว้ 2 ครั้งในวันที่ 15 กันยายนนั้น กล่าวย้ำให้ท่านผู้ชมผู้ฟังภายในประเทศได้เห็นถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่สหราชอาณาจักรเข้าเกี่ยวข้องด้วย
อย่างที่เขาพูดเองว่า “โอกาสอื่นๆ จาก ออคัส (จะเป็น) การสร้างตำแหน่งงานทักษะสูงจำนวนหลายร้อยตำแหน่งในทั่วทั้งสหราชอาณาจักร เป็นต้นว่าในสกอตแลนด์, ตอนเหนือของอังกฤษ และแถบมิดแลนด์ เป็นการเดินหน้าวัตถุประสงค์ที่ขับดันโดยรัฐบาลชุดนี้ในการยกระดับขึ้นไปตลอดทั่วทั้งประเทศ
“เราจะมีโอกาสใหม่ๆ ในการหนุนเสริมตำแหน่งแห่งที่ของสหราชอาณาจักรในจุดล้ำหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความเชี่ยวชาญระดับชาติของเรา ... เวลานี้ สหราชอาณาจักรจะเริ่มต้นเดินหน้าโครงการนี้เคียงข้างไปกับเหล่าพันธมิตรของเรา ในการทำให้โลกมีความปลอดภัยมากขึ้นและในการสร้างงานขึ้นมาทั่วทั้งสหราชอาณาจักรของเรา”
สหราชอาณาจักรจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุมัติจากวอชิงตัน สำหรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีเกี่ยวกับส่วนประกอบต่างๆ ของระบบขับเคลื่อนนิวเคลียร์ และบางทีนี่เองจึงทำให้ต้องกลายเป็นกลุ่มพันธมิตรแบบ 3 ฝ่ายขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ศักยภาพของออสเตรเลียในการใช้งานทรัพย์สินด้านกลาโหมที่ทรงอำนาจแต่แพงสุดโหดเหล่านี้ ยังอาจจะถูกสหรัฐฯวีโต้ยับยั้งได้เสมอ ซึ่งหมายความว่าโปรแกรมนี้โดยรวม จะนำไปสู่การบูรณาการในทางปฏิบัติการกับสหรัฐฯอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ไม่ต้องสงสัยเลย ออสเตรเลียกำลังยอมสละอธิปไตยของตนในระดับสูงทีเดียว
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ออคัส เป็นการที่ออสเตรเลียวางเดิมพันก้อนโตเอาไว้กับนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ถ้าหากอีก 3 ปีข้างหน้า ใครคนหนึ่งที่เหมือนๆ กับ โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นผู้ชนะได้ก้าวเข้าครองทำเนียบขาวขึ้นมาล่ะ? นี่คือเรื่องหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากกว่าเสียอีก ก็อย่างที่ ฮิวจ์ ไวต์ (Hugh White) นักเขียนและนักวิชาการด้านจีนชาวออสเตรเลียที่มีประสบการณ์สูง ตั้งข้อสังเกตเอาไว้นั่นแหละ ออคัส เป็นสิ่งที่ “มีความเสี่ยงเต็มไปหมด” ขณะที่มัน “เปลี่ยนแปลงวิถีทางที่ออสเตรเลียเข้าคบค้ากับสมาชิกในภูมิภาคนี้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://7news.com.au/politics/defence/australia-sub-deal-full-of-risks-expert-c-3977659)
เขาบอกว่า “ในการช่วงชิงแบบเป็นปรปักษ์กันระหว่างอเมริกากับจีนที่มีการขยายตัวออกไปมากขึ้นทุกทีนั้น เรากำลังอยู่ข้างเดียวกันกับสหรัฐฯ และเรากำลังวางเดิมพันว่าพวกเขาจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันนี้ แต่ข้อเท็จจริงก็คือเมื่อเรามองไป 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า ผมไม่คิดหรอกว่าเราสามารถทึกทักเอาว่าสหรัฐฯกำลังจะประสบความสำเร็จ ในการผลักจีนให้ถอยหลังกลับไปได้”
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย