xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดน-มาครงเคลียร์ดีลเรือดำน้ำชื่นมื่น แต่ปารีสยังคงไม่ยอมหายขุ่นเคืองออสซี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯกับฝรั่งเศสสืบเนื่องจากข้อตกลงเรือดำน้ำ ทำท่าคลี่คลายในวันพุธ (22 ก.ย.) หลัง ‘ไบเดน’โทรศัพท์คุย ‘มาครง’ ชื่นมื่น นัดพบพบคุยกันเดือนตุลาคมเพื่อเยียวยาความสัมพันธ์ รวมทั้งแดนน้ำหอมยังเตรียมส่งทูตกลับไปประจำในวอชิงตันสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ปารีสยังคงขุ่นข้องไม่ยอมติดต่อพูดจากับผู้ที่ฉีกสัญญาซึ่งทำไว้กับตนเองอย่างออสเตรเลีย

ทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันพุธ (22) ว่า การพูดคุยทางโทรศัพท์นาน 30 นาทีคราวนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้หารือกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส นับจากที่ปารีสเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศตอบโต้ที่อเมริกาทำสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพื่อให้ออสเตรเลียต่อเรือชนิดนี้ ทั้งที่แคนเบอร์ราทำข้อตกลงมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซลจากปารีสเอาไว้ตั้งแต่ปี 2016

ปารีสวิจารณ์ว่า แผนการดังกล่าวที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรทางทหารกลุ่มใหม่ที่ประกอบด้วยอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ เป็นการแอบแทงข้างหลัง

ในคำแถลงร่วมที่ออกมาภายหลังการพูดคุยทางโทรศัพท์คราวนี้ ระบุว่า ผู้นำทั้งสองตกลงเริ่มการหารือเชิงลึกเพื่อรับประกันความมั่นใจ และนัดพบกันที่ยุโรปปลายเดือนหน้า ขณะเดียวกัน มาครงได้สั่งให้เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสกลับไปประจำในวอชิงตันตั้งแต่สัปดาห์หน้า

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า การพูดคุยเป็นไปฉันมิตร และไบเดนหวังว่า นี่จะเป็นก้าวแรกในการปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติ

ในคำแถลงร่วมยังระบุว่า อเมริกาตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างระบบป้องกันของยุโรป เพื่อเป็นการเพิ่มเติมจากกลุ่มพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) โดยที่เรื่องนี้เป็นแนวคิดสำคัญซึ่งมาครงกำลังพยายามผลักดันอยู่ในเวลานี้

คำแถลงร่วมที่เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษซึ่งเผยแพร่โดยทำเนียบขาว กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดการเกี่ยวกับข้อตกลงเรือดำน้ำที่สร้างความขัดแย้งนี้ “สมควรที่จะใช้ประโยชน์จากการหารือแบบเปิดกว้างในหมู่พันธมิตร” ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า วอชิงตันรับรู้ว่า ปารีสไม่พอใจเรื่องนี้อย่างมาก

แต่คำแถลงร่วมเวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งออกโดยทำเนียบประธานาธิบดีแดนน้ำหอม ระบุชัดเจนกว่านั้นอีก โดยบอกว่า ถ้าหากมีการหารือกัน “จะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น”

เวลานี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการระบุรายละเอียดการนัดพบกันในยุโรปเดือนหน้า แต่ไบเดนนั้นมีกำหนดเดินทางไปโรมและกลาสโกว์ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อร่วมประชุมซัมมิตกลุ่มจี20 และการประชุมซัมมิตภูมิอากาศ คอป26

ขณะเดียวกัน ที่งานประชุมประจำปีสหประชาชาติในนิวยอร์ก ปรากฏว่า ฌอง-อีฟส์ เลอ แดรง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ที่มีท่าทีเย็นชามาตลอดหลายวัน ได้พูดคุยกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในการพบกันนอกห้องประชุม และคาดว่า จะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันพฤหัสฯ (23)

การที่ออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำกับฝรั่งเศสครั้งนี้ นอกจากสร้างความสูญเสียทางธุรกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของปารีสในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และทำให้ความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-อเมริกาตกต่ำสุดขีดนับจากเหตุการณ์ที่อเมริกานำนานาชาติเข้ารุกรานยึดครองอิรักในปี 2003 ท่ามกลางการคัดค้านของปารีส

เบนจามิน แฮดแด็ด ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรป ขององค์กรคลังสมอง แอตแลนติก เคาน์ซิล แสดงความเห็นว่า สารที่ออกมาหลังการพูดคุยระหว่างไบเดนกับมาครงบ่งชี้ในแง่ดี และอเมริกาเข้าใจว่า สิ่งที่กระทบกระเทือนใจปารีสมากที่สุดคือการทำลายความเชื่อมั่น ไม่ใช่ในแง่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ

นอกจากนี้ คำแถลงร่วมยังระบุว่า อเมริกามุ่งมั่นเพิ่มการสนับสนุนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในเขตซาเฮล ของทวีปแอฟริกา ซึ่งกองทหารฝรั่งเศสประจำการอยู่ที่นั่นเพื่อต่อสู้กับพวกนักรบญิฮาด

อย่างไรก็ดี สำหรับคู่กรณีกับฝรั่งเศสอีกรายหนึ่ง ได้แก่ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ เมื่อวันพุธได้แสดงอาการว่า ใกล้หมดความอดทนกับท่าทีโกรธเกรี้ยวไม่เลิกของปารีส ด้วยการกล่าวข้อความเป็นภาษาอังกฤษปนฝรั่งเศสว่า ถึงเวลาแล้วที่มิตรซึ่งเป็นที่รักที่สุดบางประเทศควร “ตั้งสติ”

ขณะเดียวกัน ยังไม่ปรากฏสัญญาณว่า ความหมางใจระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรเลียจะจบลงแบบใด โดยเจ้าหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสเผยว่า ยังไม่มีการตัดสินใจว่า เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำแคนเบอร์รา ซึ่งถูกเรียกตัวกลับประเทศพร้อมๆกับเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันนั้น จะกลับไปประจำที่ออสเตรเลียเมื่อใด รวมทั้งยังไม่มีกำหนดการโทรศัพท์พูดคุยระหว่าง มาครง กับนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

(ภาพจากแฟ้ม) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน (ซ้าย) กับ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ขวา) ดูสนิทสนมกันมากระหว่างเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี7 ที่สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2021
กำลังโหลดความคิดเห็น