พลเมืองอเมริกันและต่างชาติ 200 คนที่ยังตกค้างอยู่ในอัฟกานิสถานจะได้ขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำออกจากกรุงคาบูลในวันนี้ (9 ก.ย.) หลังจากที่รัฐบาลตอลิบานตกลงยอมอนุญาตให้มีการอพยพเพิ่มเติม
การอพยพชาวต่างชาติครั้งนี้มีขึ้นเพียง 2 วัน หลังจากที่ตอลิบานประกาศจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวซึ่งประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรีที่ส่วนใหญ่เป็น “ชาวปาชตุน” รวมไปถึงแกนนำอิสลามิสต์บางคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีก่อการร้ายของสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า ซัลไม คาลิซาด (Zalmay Khalizad) ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ไปเจรจากดดันตอลิบานจนยอมเปิดทางอพยพให้แก่ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า พวกเขาอยู่ในกลุ่มคนที่ตกค้างอยู่ในเมือง มาซาร์-อี-ชาริฟ มานานหลายวัน เนื่องจากเครื่องบินเช่าเอกชนไม่ได้รับอนุญาตให้ออกเดินทางหรือไม่
หลายฝ่ายเชื่อว่า โฉมหน้าของรัฐบาลชั่วคราวที่ตอลิบานประกาศจัดตั้งเมื่อวันอังคาร (7) เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะขยายฐานความนิยม หรือปรับตัวให้เป็นรัฐบาลที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นอย่างที่ให้สัญญาไว้กับประชาคมโลก
รัฐบาลต่างชาติส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการเลือกบุคคลเป็นรัฐมนตรีของตอลิบาน หรือไม่ก็แสดงท่าทีตอบรับอย่างระมัดระวัง
บรรดานักวิจารณ์ต่างเรียกร้องให้คณะผู้นำตอลิบานเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังเสี่ยงล่มสลายเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ, วิกฤตขาดแคลนอาหาร และการถูกต่างชาติตัดเงินช่วยเหลือ
เจน ซากี โฆษกหญิงของทำเนียบขาว ระบุว่า ไม่มีใครในรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน เลยสักคนเดียวที่คิดว่าตอลิบาน “เป็นสมาชิกของประชาคมโลกที่คู่ควรต่อการยอมรับนับถือ”
ทางด้านของสหภาพยุโรป (อียู) นั้นแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกบุคคลเป็นรัฐมนตรีของตอลิบาน แต่ยังรับปากจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป ส่วนมาตรการช่วยเหลือในระยะยาวนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลตอลิบานจะรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
นักวิเคราะห์ชี้ว่า รายชื่อคณะรัฐมนตรีของตอลิบานซึ่งมีทั้งอดีตผู้ต้องขังในเรือนจำกวนตานาโมของสหรัฐฯ รวมถึง “ซิราจุดดิน ฮักกานี” ซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายที่อเมริกาตั้งรางวัลนำจับเอาไว้ถึง 10 ล้านดอลลาร์ อาจทำให้ชาติตะวันตกยากที่จะยอมรับได้ ซึ่งก็หมายความว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจย่อมเป็นไปได้ยากด้วย
ที่มา: รอยเตอร์