องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องในวันพุธ (8 ก.ย.) ให้ประเทศต่างๆ ชะลอการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นจนถึงสิ้นปี โดยชี้ว่ายังมีผู้คนอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว
"ผมจะไม่อยู่เงียบๆ ยามที่พวกบริษัททั้งหลายและประเทศต่างๆ ที่ควบคุมอุปทานวัคซีนโลกคิดว่าบรรดาชาติยากจนของโลกควรพึงพอใจกับของเหลือ" ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกบอกกับผู้สื่อข่าว
ทีโดรส กล่าวจากสำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลกในเจนีวา เรียกร้องประเทศร่ำรวยทั้งหลายและบรรดาผู้ผลิตวัคซีนจัดวางลำดับความสำคัญฉีดวัคซีนแก่บุคลากรด้านการแพทย์และประชาชนกลุ่มอ่อนแอในประเทศยากจน เหนือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น "เราไม่อยากเห็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนแข็งแรงที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว"
เมื่อเดือนที่แล้ว องค์การอนามัยโลกเคยออกมาเรียกร้องให้พักฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นจนถึงสิ้นเดือนกันยายน เพื่อจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมอย่างมากในด้านการกระจายวัคซีนระหว่างบรรดาประเทศร่ำรวยและเหล่าชาติยากจน
อย่างไรก็ตาม ทีโดรส ยอมรับในวันพุธ (8 ก.ย.) ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลกเพียงเล็กน้อยนับตั้งแต่นั้น "ดังนั้น วันนี้ผมจึงเรียกร้องขอให้ขยายพักฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี" เขากล่าว
บรรดาประเทศที่มีรายได้สูงให้สัญญาว่าจะบริจาควัคซีนมากกว่า 1,000 ล้านโดสแก่เหล่าประเทศยากจน เขากล่าว แต่กลายเป็นว่ามีการบริจาคจริงๆ แค่ 15% จากคำสัญญาทั้งหมดเท่านั้น "เราไม่ต้องการคำสัญญาอีกแล้ว" เขากล่าว "เราแค่ต้องการวัคซีน"
วอชิงตันตอบโต้กลับเสียงเรียกร้องขอให้พักการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยบอกว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน "มีหน้าที่รับผิดชอบทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อปกป้องประชาชนในสหรัฐฯ" เจน ซากี เลขานุการสื่อสารมวลชนทำเนียบขาวระบุ "เรากำลังทำทั้งสองอย่าง เราคิดว่าเราสามารถทำได้ทั้งสองอย่างและเราจะเดินหน้าทำทั้งสองอย่าง"
แม้มีเสียงเรียกร้องให้พักฉีดเข็มกระตุ้น ทว่าบางประเทศตัดสินใจฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ใช่เฉพาะกับกลุ่มคนอ่อนแอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยอ้างประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงเมื่อเผชิญกับตัวกลายพันธุ์เดลตา ที่แพร่เชื้อได้ง่ายมาก
องค์การอนามัยโลกยอมรับว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่เน้นย้ำว่าสำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง วัคซีนยังดูเหมือนมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในการป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรง
หน่วยงานของสหประชาชาติแห่งนี้วางเป้าหมายอยากเห็นทุกประเทศทั่วโลกฉีดวัคซีนประชากรของตนเองอย่างน้อยๆ 10% ในช่วงสิ้นเดือนนี้ และอย่างน้อย 40% ในช่วงสิ้นปี ขณะเดียวกัน ก็หวังว่าประชากรโลกอย่างน้อยๆ 70% ได้รับวัคซีนในช่วงกลางปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ทีโดรส คร่ำครวญว่า ในขณะที่ 90% ของบรรดาประเทศร่ำรวยบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนประชาชนเกินกว่าระดับ 10% และมีมากกว่า 70% ที่ฉีดวัคซีนประะชาชนเกิน 40% ไปแล้ว กลับไม่มีชาติรายได้ต่ำไหนๆ ที่ฉีดวัคซีนประชาชนบรรลุเป้าหมายทั้ง 2 อย่าง แม้แต่ประเทศเดียว
นอกจากนี้แล้ว เขายังแสดงความขุ่นเคืองต่อถ้อยแถลงขององค์กรอุตสาหกรรมยาหนึ่ง ที่บอกว่าตอนนี้บรรดาชาติร่ำรวยที่สุด 7 ประเทศของโลก หรือจี 7 มีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชากรวัยผู้ใหญ่และวัยรุ่นทั้งหมดแล้ว และเสนอฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่คนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ แทนที่จะปรับเปลี่ยนให้ความสำคัญกับการแบ่งปันวัคซีน
"ผมได้อ่านถ้อยแถลงนี้แล้ว ผมตกใจมาก" เขากล่าว "ในความเป็นจริงก็คือ พวกผู้ผลิตทั้งหลายและบรรดาชาติที่มีรายได้สูงต่างๆ มีศักยภาพมานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะกับการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ของตนเองเท่านั้น แต่ยังสามารถให้การสนับสนุนวัคซีนแก่คนกลุ่มเดียวกันนี้ในทุกประเทศทั่วโลกไปพร้อมๆ กัน"
(ที่มา : เอเอฟพี)