เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (27 ส.ค.) ว่า จีนกำลังขยายคลังแสงนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว และอาจกลายเป็น “ภัยคุกคามนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุด” ของสหรัฐฯ แทนที่รัสเซียในอนาคตอันใกล้ พร้อมเตือนว่าทั้ง 2 ชาติยังปราศจากกลไกที่จะช่วยป้องกันการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน
พล.อ.ท.โทมัส บัสเซียร์ (Thomas Bussiere) รองผู้บัญชาการกองบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ (U.S.Strategic Command) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมคลังแสงนิวเคลียร์ ระบุว่า การเพิ่มศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของจีนในเวลานี้ “ไม่สอดคล้อง” กับถ้อยแถลงของปักกิ่งที่อ้างว่าต้องการคงระดับการป้องปรามนิวเคลียร์ขั้นต่ำสุด
“เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ภัยคุกคามจากจีนจะมีมากกว่าภัยคุกคามที่เรากำลังเผชิญจากรัสเซียอยู่ในเวลานี้” บัสเซียร์ แถลงในเวทีเสวนาที่จัดผ่านระบบออนไลน์
นายพลอาวุโสผู้นี้ย้ำว่า การประเมินความเสี่ยงไม่เพียงต้องดูจากจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่จีนมี หากแต่ยังต้องพิจารณาถึงการนำอาวุธเหล่านั้นออกประจำการด้วย
“เราเชื่อว่าจุดตัด (crossover point) น่าจะเกิดขึ้นภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” บัสเซียร์ กล่าว
ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังไม่มีสนธิสัญญาหรือกลไกการเจรจาที่จะหลีกเลี่ยงความสับสนหรือความเข้าใจผิดกับจีน ซึ่งต่างกับกรณีของรัสเซีย
คำเตือนจาก บัสเซียร์ มีขึ้นในระหว่างที่สหรัฐฯ กำลังปรับนโยบายต่างประเทศเพื่อเน้นความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และต้านทานการสยายอิทธิพลทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหารของจีน
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เคยแสดงความกังวลเรื่องจีนยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ ระหว่างประชุมร่วมกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศเอเชียและประเทศหุ้นส่วนเมื่อต้นเดือนนี้
รายงานจากสถาบันวิจัยต่างๆ ซึ่งอ้างอิงภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า จีนกำลังก่อสร้างไซโลเก็บขีปนาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นนับร้อยแห่ง ขณะที่วอชิงตันก็กล่าวหาปักกิ่งว่าไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจาควบคุมนิวเคลียร์
จีนอ้างว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่ตนมีอยู่ยังเทียบไม่ได้เลยกับสหรัฐฯ และรัสเซีย และพร้อมที่จะเจรจาด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าสหรัฐฯ ต้องยอมลดปริมาณคลังแสงนิวเคลียร์ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับจีน
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในรายงานที่ส่งถึงสภาคองเกรสเมื่อปี 2020 ว่า จีนมีหัวรบนิวเคลียร์สะสมอยู่มากกว่า 200 หัวรบ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในอีกไม่ช้า เนื่องจากปักกิ่งมีนโยบายขยายและยกระดับกองกำลังนิวเคลียร์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
จากข้อมูล ณ วันที่ 1 มี.ค. สหรัฐฯ มีหัวรบนิวเคลียร์ประจำการอยู่ทั้งสิ้น 1,357 หัวรบ ตามเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญ (fact sheet) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
นอกจากปริมาณหัวรบนิวเคลียร์แล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนในการส่งหัวรบไปโจมตีเป้าหมายก็เป็นอีกเรื่องที่สหรัฐฯ กังวล โดย บัสเซียร์ ระบุว่า ปีที่แล้วจีนมีการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) มากกว่าทุกประเทศทั่วโลกรวมกันเสียอีก
ที่มา : รอยเตอร์