รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริสของสหรัฐฯ เริ่มต้นเยือนสิงคโปร์ ย้ำความสัมพันธ์อันยาวนานและวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันเกี่ยวกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ทั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งความพยายามของวอชิงตันในการตอบโต้การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของปักกิ่ง ทว่าถูกบดบังด้วยเรื่องสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน
แฮร์ริส กล่าวในวันจันทร์ (23) ระหว่างแถลงข่าวภายหลังหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ ว่า ยังมีเวลาอีกมากมายในการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วและจะเกิดขึ้นต่อไปจากการที่อเมริกาและนานาชาติถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน แต่สิ่งที่ควรมุ่งเน้นขณะนี้คือการอพยพพลเมืองอเมริกัน ตลอดจนถึงชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้อเมริกาและที่อยู่ในอันตราย ให้ออกมาจากอัฟกานิสถาน
การถอนทหารออกมา ซึ่งเปิดช่องให้กลุ่มตอลิบานบุกยึดอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็ว และเกิดภาพความโกลาหลอลหม่านในการอพยพผู้คนจากสนามบินคาบูล ทำให้บรรดาพันธมิตรทั่วโลกของสหรัฐฯพากันกังวลกับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอเมริกา ดังนั้น ถึงแม้การเยือนสิงคโปร์และเวียดนามของแฮร์ริสในสัปดาห์นี้ซึ่งที่จริงมีการวางแผนเอาไว้ก่อนล่วงหน้านานแล้ว ถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญครั้งแรกว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะสามารถฟื้นความมั่นใจของเหล่าพันธมิตรได้หรือไม่
ทางด้านนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แสดงความหวังว่า อัฟกานิสถานจะไม่กลายเป็นศูนย์กลางการก่อการร้ายอีกครั้ง และเสริมว่า สิงคโปร์เสนอเครื่องบินขนส่งเพื่อช่วยในภารกิจอพยพดังกล่าว
แฮร์ริสย้ำว่า การเดินทางเยือนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อย้ำความสัมพันธ์อันยาวนานกับสิงคโปร์ และวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันเกี่ยวกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
ขณะที่ลีกล่าวว่า สหรัฐฯจะมีความเด็ดเดี่ยวและความมุ่งมั่นผูกพันกับภูมิภาคนี้มากน้อยแค่ไหน จะได้รับการวินิจฉัยโดยสิ่งที่สหรัฐฯกำลังจะทำต่อไปข้างหน้า, จุดยืนที่สหรัฐฯกำหนดขึ้นมาใหม่ในภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไร และการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและหุ้นส่วนตลอดจนพันธมิตรในวงกว้างของสหรัฐฯจะเป็นอย่างไร
สิงคโปร์นั้นไม่ได้มีฐานะเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่ทำเอาไว้กับสหรัฐฯแต่อย่างไร ทว่าก็ถือเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่แข็งแกร่งที่สุดของอเมริกาในภูมิภาคและมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับวอชิงตัน กระนั้น ประเทศเกาะแห่งนี้ก็ต้องการรักษาดุลความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับอเมริกาและกับจีนด้วยการไม่เลือกข้าง
แฮร์ริสกล่าวย้ำว่า อเมริกามุ่งมั่นในการร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในการสนับสนุนกฎระเบียบสากลและเสรีภาพในการเดินเรือซึ่งรวมถึงในทะเลจีนใต้ โดยที่ภูมิภาคนี้เดิมเรียกกันว่าเอเชีย-แปซิฟิก แต่วอชิงตันกำลังเรียกเสียใหม่ว่า อินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายให้ครอบคลุมถึงอินเดียด้วย
อย่างไรก็ตาม อเล็กซานเดอร์ เฟลด์แมน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสภาธุรกิจอเมริกา-อาเซียน กล่าวว่า แฮร์ริสจะต้องระมัดระวังในการหารือกับผู้นำสิงคโปร์และเวียดนาม โดยไม่มุ่งเน้นประเด็นจีนมากเกินไป หรือกดดันให้เลือกเอาระหว่างวอชิงตันหรือปักกิ่ง แต่ต้องนำเสนอความสัมพันธ์กับสหรัฐฯในเชิงบวกและสร้างสรรค์
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน ก็ให้สัมภาษณ์ว่า สิงคโปร์จะไม่ยอมถูกใช้เป็นเครื่องมือในความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีน ขณะที่นายกฯลี ได้กล่าวเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ไม่เห็นด้วยที่อเมริกาใช้แนวทางก้าวร้าวเกินไปกับจีน
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (21) สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนได้ออกบทบรรณาธิการชี้ว่า การเยือนของแฮร์ริสเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการชักชวนประเทศต่างๆ ปิดล้อมจีน แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังลังเลที่จะเลือกข้าง ซึ่งสุดท้ายแผนการของอเมริกาจะล้มเหลว
ข้อตกลงด้านความมั่นคงและไซเบอร์
อเมริกาและสิงคโปร์ยังบรรลุข้อตกลงด้านความมั่นคงในวันจันทร์ (23) ซึ่งเป็นการยืนยันรับรองให้อเมริกาปรากฏตัวในภูมิภาคนี้ ในรูปแบบที่อเมริกาจะจัดส่งเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล พี-8 และเรือโจมตีชายฝั่ง สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปประจำการในสิงคโปร์ ทั้งนี้ตามเอกสารประกอบของการหารือระหว่าง แฮร์ริส กับ ลี ที่ทำเนียบขาวนำออกมาแจกจ่าย
ตามรายละเอียดที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาว ทั้งสองชาติยังตกลงขยายความร่วมมือทางความมั่นคงไซเบอร์ในด้านภาคการเงินและการทหาร และเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนแบบปันข้อมุลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องในแผนการริเริ่มด้านอื่นๆ รวมทั้งจะเริ่มต้นการสนทนาระหว่างสหรัฐฯกับสิงคโปร์ในเรื่องการสร้างสายโซ่อุปทาน ซึ่งกำลังมีปัญหาติดขัดรุนแรง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนหรือมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถในอเมริกาและทั่วโลก ตลอดจนทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้น
อเมริกาและสิงคโปร์ยังเห็นพ้องร่วมมือต่อสู้โควิด-19 และเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งรับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ และการสร้างมาตรฐานการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งสมาคมอาเซียน
นอกจากนั้นในวันจันทร์ แฮร์ริสได้เดินทางไปยังฐานทัพเรือชางงีของสิงคโปร์ และเรือรบยูเอสเอส ทัลซา ของสหรัฐฯ
(ที่มา: รอยเตอร์, เอพี, เอเอฟพี)