xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : จับสัญญาณ ‘จีน’ ผูกมิตร ‘ตอลิบาน’ ปูทางเข้าถึงขุมทรัพย์ ‘แรร์เอิร์ธ’ ล้านล้านดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มุลเลาะห์ อับดุลกานี บาราดาร์ หัวหน้าฝ่ายการเมืองของกลุ่มตอลิบาน เข้าพบ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่เมืองเทียนจิน เมื่อวันที่ 28 ก.ค. (แฟ้มภาพ- รอยเตอร์)
หลังจากที่ตอลิบานกลับมายึดครองอัฟกานิสถานได้สำเร็จ นักวิเคราะห์เริ่มจับตามองท่าทีของ “จีน” ที่กำลังเดินเกมผูกมิตรกับนักรบอิสลามิสต์กลุ่มนี้ โดยคาดว่าปักกิ่งอาจหวังเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะบรรดา “แร่ธาตุหายาก” ที่ประเมินกันว่าน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไปมากในช่วง 2 ทศวรรษหลังจากที่สหรัฐฯ นำกำลังทหารบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็กระตุ้นให้ทั่วโลกมุ่งแสวงหา “แรร์เอิร์ธ” หรือแร่ธาตุหายาก โดยเฉพาะ “ลิเทียม” ซึ่งใช้ในการผลิตสินค้าหลายอย่าง ตั้งแต่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เรื่อยไปจนถึงยุทโธปกรณ์ทางทหาร

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยประเมินเมื่อปี 2010 ว่า ทรัพยากรแร่หายากที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผืนดินอัฟกานิสถานน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลอัฟกันให้ตัวเลขสูงกว่าที่สหรัฐฯ ประเมินถึง 3 เท่า

การสู้รบระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานถึง 4 ทศวรรษทำให้สินแร่มีค่าเหล่านี้ยังไม่ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร และคาดว่าสถานการณ์จะยังไม่เปลี่ยนแปลงในเร็ววัน เนื่องจากตอลิบานมีท่าทีว่าต้องการจะฟื้นฟูกฎหมายชารีอะห์ และหมุนเข็มนาฬิกานำอัฟกานิสถานกลับไปสู่ยุคที่ผู้หญิงยังถูกจำกัดสิทธิ มากกว่าจะปฏิรูปประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุ

กระนั้นก็ตาม ยังพอมีสัญญาณเชิงบวกปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง เมื่อชาติมหาอำนาจอย่าง “จีน” แสดงท่าทีพร้อมผูกมิตรกับตอลิบาน และสนับสนุนให้นักรบอิสลามิสต์เหล่านี้จัดตั้งรัฐบาลที่หลอมรวม (inclusive) ประชาชนทุกกลุ่ม รับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้แก่สตรีและชนกลุ่มน้อย รวมถึงต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อจีน สหรัฐฯ อินเดีย หรือประเทศอื่นๆ

“จีนถือเป็นมหาอำนาจที่สามารถให้ในสิ่งที่ตอลิบานต้องการมากที่สุดในเวลานี้ นั่นคือความเป็นกลางทางการเมือง และการลงทุนทางเศรษฐกิจ” โจว ป๋อ (Zhou Bo) อดีตนายทหารอาวุโสของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ระบุในบทความที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส “อัฟกานิสถานก็มีสิ่งที่จีนปรารถนา นั่นคือโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมต่างๆ และการเข้าถึงแหล่งแร่หายากที่ยังไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน”

สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะเร่งอพยพชาวอเมริกันและพลเมืองอัฟกันกลุ่มเสี่ยงเพื่อปิดฉากสงคราม 20 ปีลงอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ต้องไม่ลืมว่าอเมริกายังคงมีอิทธิพลที่จะล็อบบี้นานาชาติให้คว่ำบาตรรัฐบาลตอลิบาน รวมถึงขัดขวางไม่ให้บริษัททั่วโลกทำธุรกรรมกับอัฟกานิสถาน

แร่แบสต์นีไซต์ (Bastnaesite) ซึ่งเป็นหนึ่งในแร่ที่ประกอบด้วยธาตุโลหะหายาก
กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 มีคำแถลงร่วมเมื่อวันอังคาร (24 ส.ค.) เรียกร้องให้ตอลิบานพิสูจน์ยืนยันความชอบธรรมด้วยการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อนานาชาติ โดยเฉพาะการรับรองสิทธิมนุษยชนของสตรีและชนกลุ่มน้อยในประเทศ

“เราจะตัดสินกลุ่มต่างๆ ในอัฟกานิสถานจากการกระทำของพวกเขา ไม่ใช่แค่เพียงคำพูดลอยๆ” แถลงการณ์ร่วม G7 ระบุ

สหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรตอลิบานอยู่ และอาจใช้สิทธิ “วีโต” ขัดขวางความพยายามของจีนและรัสเซียที่จะเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่อนคลายบทลงโทษแก่นักรบอิสลามิสต์กลุ่มนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้อายัดทรัพย์สินประมาณ 9,500 ล้านดอลลาร์ของธนาคารกลางอัฟกานิสถานที่ฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ และสถาบันการเงินต่างๆ ในอเมริกา เพื่อป้องกันไม่ให้ตอลิบานนำเงินทุนเหล่านี้ไปใช้ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ประกาศระงับแพกเกจช่วยเหลืออัฟกานิสถาน รวมถึงวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ซึ่งมีกำหนดเบิกจ่ายในช่วงที่ตอลิบานเข้ายึดอำนาจพอดี

หากตอลิบานหวังที่จะเข้าถึงแหล่งทุนเหล่านี้ ก็จำเป็นที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมหาอำนาจตะวันตกในการเปิดทางอพยพชาวต่างชาติและพลเมืองอัฟกัน เจรจากับผู้นำชนเผ่าต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหม่ และหยุดการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า มีเหตุผลอยู่หลายประการที่ทำให้ตอลิบานต้องใคร่ครวญย่างก้าวต่อไปอย่างรอบคอบ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แป้งและน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ยารักษาโรคที่เริ่มขาดแคลน และวิกฤตขาดแคลนเงินสดในประเทศ

ซูเฮล ชาฮีน โฆษกตอลิบาน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CGTN ของจีนในสัปดาห์นี้ว่า บทลงโทษทางการเงินถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “และหากยังมีการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ก็จะถือเป็นการตัดสินใจที่ลำเอียงและขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวอัฟกานิสถาน”

ผู้นำตอลิบานยืนยันว่า พวกเขาต้องการสานความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ โดยเฉพาะจีน ขณะที่เจ้าหน้าที่และสื่อของปักกิ่งก็แบะท่าว่าพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้แก่นักรบกลุ่มนี้

หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายงานว่า การลงทุนจากจีน “น่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง” ในอัฟกานิสถาน และสหรัฐฯ “ไม่มีสิทธิที่จะก้าวก่ายความร่วมมือระหว่างจีนกับอัฟกานิสถาน รวมถึงในประเด็นแรร์เอิร์ธ”

หัว ชุนอิง โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงในสัปดาห์นี้ว่า “มีบางคนพยายามย้ำเตือนว่าตอลิบานเชื่อถือไม่ได้ แต่เราอยากจะบอกว่าไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมตลอดกาล... เราต้องมองทั้งอดีตและปัจจุบัน ต้องรับฟังคำพูดและดูการกระทำควบคู่กันไป”

อัฟกานิสถานถือเป็นดินแดนที่มีความสำคัญต่อจีนทั้งในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ที่ผ่านมา ผู้นำจีนเคยขอความร่วมมือจากตอลิบานให้ช่วยสกัดกั้นกลุ่มก่อการร้ายที่วางแผนก่อเหตุโจมตีในจีน และยังมองว่าการกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจะเป็นหัวใจที่นำไปสู่ความมั่นคง ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังเล็งเห็นโอกาสที่จะเข้าไปบุกเบิกสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุในอัฟกานิสถาน ซึ่งจะสามารถลำเลียงผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จีนสนับสนุน รวมถึงโครงการมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ในปากีสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น