การล่มสลายของกองทัฟอัฟกานิสถานและปล่อยให้ตอลิบานเข้าครองกรุงคาบูลอย่างง่ายดาย สะท้อนชัดเจนถึงความผิดพลาดตลอด 2 ทศวรรษของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ที่ใช้จ่ายเงินทองหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปในประเทศนี้
อาวุธล้ำเกิน
วอชิงตันนั้นทุ่มเงินถึง 83,000 ล้านดอลลาร์ หวังสร้างกองทัพอัฟกานิสถานให้ทันสมัยเหมือนกองทัพอเมริกัน ซึ่งในทางปฏิบัติต้องพึ่งการสนับสนุนทางอากาศและเครือข่ายการสื่อสารไฮเทค ขณะที่มีประชากรในประเทศนี้เพียง 30% ที่วางใจได้ว่าพวกเขาจะมีไฟฟ้าใช้
อเมริกาทุ่มไม่อั้นเพื่อให้กองทัพอัฟกานิสถานมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยครบครัน ทั้งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ โดรน ยานยนต์หุ้มเกราะ กล้องมองกลางคืน เมื่อเร็วๆ นี้เองกระทั่งส่งเฮลิคอปเตอร์โจมตี “แบล็ก ฮอว์ก” รุ่นล่าสุดให้
แต่แล้วทหารอัฟกัน --ซึ่งจำนวนมากเป็นคนหนุ่มผู้ไม่รู้หนังสืออาศัยอยู่ในประเทศที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทโธปกรณ์ล้ำยุค กลับไม่สามารถต้านทานข้าศึกที่ทั้งอาวุธและกำลังพลมีน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้
จอห์น ซอปโก ผู้ตรวจการพิเศษเพื่อการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน (ซิการ์) ของอเมริกาบอกว่า สมรรถนะของกองทัพอัฟกันถูกประเมินให้สูงกว่าความเป็นจริงไปมากมาย เขาระบุว่า ทุกครั้งที่เขาพยายามประเมินศักยภาพกองทัพอัฟกานิสถาน ทางกองทัพสหรัฐฯ จะเปลี่ยนหลักเกณฑ์เพื่อให้ทหารอัฟกันผ่านเกณฑ์อย่างง่ายดาย แต่ในที่สุดเมื่อทำเช่นนั้นไม่ได้แล้ว กองทัพก็จัดให้พวกเครื่องมือการประเมินกลายเป็นความลับไปเลย นี่เท่ากับว่า เพนตากอนรู้ดีว่า กองทัพอัฟกานิสถานแย่แค่ไหน
รายงานล่าสุดที่ซิการ์เสนอต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ระบบอาวุธ ยานยนต์ และลอจิสติกส์ขั้นสูงที่กองทัพตะวันตกใช้นั้น เกินกำลังความสามารถของทหารอัฟกานิสถานที่ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ
ตัวเลขสูงเกินจริง
เพนตากอนยืนยันมาหลายเดือนว่า กองกำลังอัฟกานิสถานมีความได้เปรียบในแง่กำลังพล โดยมีตำรวจและทหารรวมกัน 300,000 นาย ส่วนตอลิบานมีนักรบแค่ 70,000 คน
ทว่า ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายของโรงเรียนนักเรียนนายร้อย “เวสต์พอยต์” อันทรงเกียรติ กลับแย้งว่า เป็นการแต่งตัวเลขสูงเกินจริง โดยข้อมูลการประเมินของศูนย์แห่งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ระบุว่า ตัวเลข 300,000 นายนั้นเป็นทหารและสมาชิกกองกำลังปฏิบัติการพิเศษภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมเพียง 185,000 นาย ที่เหลือคือตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอื่นๆ
การวิเคราะห์ของเวสต์พอยต์สำทับว่า มีทหารอัฟกันแค่ 60% ที่ได้รับการฝึกสู้รบ และถ้าตัดบุคลากรของกองทัพอากาศออกไป 8,000 คน จะเหลือตัวเลขจริงแค่ 96,000 คน
รายงานของซิการ์ยังระบุว่า การหนีทัพเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปกติในกองทัพอัฟกานิสถาน ทำให้ต้องสับเปลี่ยนกำลังพลใหม่ 25% ทุกปี
สัญญาเลื่อนลอย
พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันประกาศอยู่เรื่อยว่า จะยังคงสนับสนุนกองทัพอัฟกานิสถาน ภายหลังถอนทหารสหรัฐฯชุดสุดท้ายเสร็จสิ้นในวันที่ 31 เดือนนี้ แต่ไม่เคยอธิบายว่า จะช่วยอย่างไร โดยเฉพาะในทางลอจิสติกส์
ระหว่างเยือนคาบูลครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการช่วยอัฟกานิสถานรักษากองทัพอากาศไว้ด้วยระบบลอจิสติกส์ “เหนือเส้นขอบฟ้า” ซึ่งหมายถึงการใช้การฝึกอบรมเสมือนผ่านแพลตฟอร์ม “ซูม” แต่นี่ดูจะเป็นการสร้างภาพมายาเท่านั้น เพราะก่อนอื่นเลยฝ่ายอัฟกันต้องมีระบบคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อไวไฟได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น ตอนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจนำพลเมืองอเมริกันทั้งหมดในอัฟกานิสถานกลับประเทศภายในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากกองทหารสหรัฐฯแล้ว ยังหมายรวมไปถึงพวกผู้รับเหมารับจ้างที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบบลอจิสติกส์ของอเมริกาในอัฟกานิสถานอีกด้วย
โรนัลด์ นิวแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำคาบูล ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวด้วยความไม่สบอารมณ์ว่า “เราสร้างกองทัพอากาศกองทัพหนึ่งขึ้นมาชนิดที่ต้องพึ่งพาพวกผู้รับเหมารับจ้างในเรื่องการซ่อมบำรุง แต่แล้วเรากลับดึงพวกผู้รับเหมารับจ้างเหล่านี้กลับบ้าน”
ไม่จ่ายเงินเดือน
ซ้ำร้าย นับจากที่อเมริกาประกาศแผนถอนกำลังในเดือนเมษายน เพนตากอนโอนความรับผิดชอบในการจ่ายเงินเดือนทหารอัฟกานิสถานกลับไปให้รัฐบาลคาบูลทันที
ทหารอัฟกันหลายนายโอดครวญผ่านโซเชียลว่า ไม่ได้เงินเดือนมาหลายเดือนแล้ว แถมบางหน่วยยังไม่มีอาหาร เสบียง หรือแม้กระทั่งกระสุนให้
นิวแมนทิ้งท้ายว่า การถอนกำลังอย่างรวดเร็วของอเมริกาคือระเบิดลูกสุดท้ายที่ถล่มใส่อัฟกานิสถาน
(ที่มา: เอเอฟพี)