สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (2 ส.ค.) บรรลุเป้าหมายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็มแก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ 70% ล่าช้ากว่าที่คาดหวังเกือบ 1 เดือน ในขณะที่การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดผลักให้จำนวนผู้ติดเชื้อรักษาตัวในโรงพยาบาลพุ่งแตะระดับเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว
ในเบื้องต้น รัฐบาลของไบเดน วางเป้าหมายฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างน้อย 1 เข็ม ให้ครอบคลุมถึง 70% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ ในวันชาติสหรัฐฯ วันที่ 4 กรกฎาคม และจะใช้โอกาสดังกล่าวประกาศชัยชนะเหนือสถานการณ์เลวร้ายของโรคระบาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนชะลอตัวลง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างๆ ที่มีแนวคิดทางการเมืองอนุรักษนิยมทางภาคใต้และแถบตะวันตกตอนกลางของประเทศ รวมถึงบรรดาคนหนุ่มสาว กลุ่มคนมีรายได้น้อยและชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ ส่งผลให้ความคาดหวังดังกล่าวพลาดเป้าไป
แม้ตอนนี้มีประชากรวัยผู้ใหญ่ถึง 60.6% และประชากรโดยรวม 49.7% ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่สหรัฐฯ กลับเป็นฝ่ายตามหลังชาติเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาค่อนข้างห่าง โดยแคนาดา เริ่มโครงการฉีดวัคซีนช้ากว่าสหรัฐฯ ทว่าเวลานี้ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนครบแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 59%
การบรรลุเป้าหมายล่าช้าของสหรัฐฯ มีขึ้นในขณะที่พวกเขากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ซึ่งขับเคลื่อนโดยตัวกลายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมาก ซึ่งทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศพุ่งเกินกว่า 70,000 คนต่อวันอีกครั้ง เพิ่มขึ้น 44% จากหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้
โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ มีค่าเฉลี่ยรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาตัวมากกว่า 6,200 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 41% และมีผู้เสียชีวิตวันละมากกว่า 300 ราย เพิ่มขึ้น 25%
"เคสเหล่านี้มีศูนย์รวมตามชุมชนต่างๆ ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนระดับต่ำ" เจฟ ไซนส์ ผู้ประสานงานคณะทำงานเฉพาะกิจโควิด-19 ของทำเนียบขาวบอกกับผู้สื่อข่าว "1 ใน 3 เคสทั่วประเทศในสัปดาห์ที่แล้ว เกิดขึ้นในฟลอริดาและเทกซัส" ในขณะที่ทั้ง 2 รัฐมีอัตราการฉีดวัคซีนไล่ตามรัฐอื่นๆ อย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตาม ไซนส์ เปิดเผยด้วยว่ามี 8 รัฐที่ปัจจุบันมีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุด พบเห็นค่าเฉลี่ยประชาชนเข้าฉีดวัคซีนรายวันเพิ่มขึ้นถึง 171% เมื่อเทียบกับ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ในนั้นรวมไปถึงลุยเซียนา มิสซิสซิปปี แอละแบมา และอาร์คันซอ
นอกจากนี้แล้ว แนวโน้มมาตรการบังคับฉีดวัคซีนในภาคเอกชนก็เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ในนั้นรวมถึงดิสนีย์และวอลมาร์ต ที่ใช้ทั้งมาตรการบังคับและจูงใจดึงให้พนักงานเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลไบเดน แถลงว่าลูกจ้างรัฐจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ต้องเข้ารับการตรวจเชื้อเป็นประจำ ความเคลื่อนไหวที่มีขึ้นหลังจากรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐนิวยอร์กดำเนินการแบบเดียวกัน
แม้ตัวกลายพันธุ์เดลตาคือภัยคุกคามหนักหน่วงที่สุดต่อประสิทธิภาพการป้องกันของวัคซีน แต่วัคซีนรุ่นปัจจุบันยังคงสามารถปกป้องผู้ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จากการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต
ข้อมูลที่รายงานไปยังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม ระบุว่า วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์ของโรค 8 เท่า ลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตถึง 25 เท่า
ในรัฐเทนเนสซี ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม 97% ของคนไข้โควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและ 98% ของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
ขณะเดียวกัน เอเอฟพีระบุว่าเคสคนฉีดวัคซีนครบแล้วแต่ติดเชื้อ (breakthrough infection) ยังพบได้น้อย แต่ถ้ามันเกิดขึ้น ผลการวิจัยเบื้องต้นบ่งชี้ว่าความเสี่ยงแพร่เชื้อของตัวกลายพันธุ์เดลตาจะมีมากกว่าตัวกลายพันธุ์อื่นๆ ในอดีต
ในเรื่องนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางซีดีซีจึงได้กลับมาแนะนำคนฉีดวัคซีนครบแล้วสวมหน้ากากยามอยู่ในร่มตามพื้นที่ต่างๆ ที่พิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 79% ของเคาน์ตีต่างๆ ทั้งหมดทั่วประเทศ
เวลานี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลกลางกำลังโต้เถียงกันว่ามีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 แก่ประชากรบางกลุ่มหรือไม่ เช่น กลุ่มคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แบบเดียวกับอิสราเอล
(ที่มา : เอเอฟพี)