ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอเมริกากลับมาพุ่งขึ้นอีกรอบ หลังลดลงต่อเนื่องหลายเดือน จากการระบาดของตัวกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ขณะอัตราผู้รับการฉีดวัคซีนเริ่มชะลอตัวลง รวมทั้งมีกิจกรรมรวมตัวของผู้คนอย่างช่วงเทศกาลฉลองวันชาติ ทางด้านเกาหลีใต้และออสเตรเลียประกาศวันพุธ (14 ก.ค.) ยกระดับสกัดไวรัสเนื่องจากจำนวนเคสใหม่ยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด
ข้อมูลบนเว็บไซต์สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในสหรัฐฯ วันจันทร์ (12) อยู่ที่ประมาณ 23,600 คน เปรียบเทียบกับ 11,300 คนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน เท่ากับเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จาก โดยที่ทุกๆ รัฐยกเว้นรัฐเมนและรัฐเซาท์ดาโกตา ต่างรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
นพ.บิลล์ พาวเวอร์ลี ผู้อำนวยการร่วมของแผนกโรคติดเชื้อ คระแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเซนต์หลุยส์ บอกว่า นี่เป็นสิ่งที่คาดหมายกันอยู่แล้วว่าเคสผู้ป่วยจะต้องเพิ่มขึ้นภายหลังสุดสัปดาห์ฉลองวันชาติอเมริกัน 4 ก.ค.
ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ในอเมริกาประสบปัญหาประชาชนต่อต้านการฉีดวัคซีน ในภาวะที่สัดส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาเพิ่มสูงขึ้น
ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (ซีดีซี) ระบุว่า ขณะนี้ชาวอเมริกัน 56% ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และที่น่าสังเกตคือ 5 รัฐที่พบเคสใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาล้วนเป็นรัฐที่มีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนต่ำ ได้แก่ มิสซูรี 45.9% อาร์คันซอส์ 43% เนวาดา 50.9% หลุยเซียนา 39.2% และยูทาห์ 49.5%
อย่างไรก็ดี แม้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอีกระลอก แต่ยังห่างไกลจากสถิติสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนมกราคม ซึ่งอยู่ที่วันละ 250,000 คน เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่เฉลี่ยอยู่ที่วันละไม่ถึง 260 คน จากกว่า 3,400 คนในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ตอกย้ำประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19
กระนั้น นพ.เจมส์ ลอว์เลอร์ ผู้นำศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพโลกของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเนแบรสกา เมืองโอมาฮา แนะนำว่า การสวมหน้ากากและจำกัดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมอีกครั้งอาจช่วยควบคุมการระบาดได้ แต่ยอมรับว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่ปฏิเสธมาตรการเหล่านี้
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กระทรวงสุขภาพและบริการประชาชนของสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์หลังพบปะรับฟังการบรรยายสรุปของตัวแทนจากไฟเซอร์ ซึ่งกำลังเสนอให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่คนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยทางกระทรวงยืนยันว่า เรื่องนี้ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (8) ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา ได้เปิดเผยผลศึกษาที่พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาอาจไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นในระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าไวรัสโคโรนาจะกลายพันธุ์และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ และสำทับว่า จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่า การฉีดวัคซีนเพิ่มอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงหรือไม่
เกาหลีใต้-ซิดนีย์ยังหนัก
ทางด้านเกาหลีใต้ประกาศในวันพุธ (14) ยกระดับความเข้มงวดในการกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม ในพื้นที่ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ หลังเคสผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งทำสถิติอีกครั้งที่ 1,615 คน จากสถิติเดิมเมื่อวันศุกร์ (9) ซึ่งอยู่ที่ 1,375 คน สภาพเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการฉีดวัคซีน และการระบาดของเดลตาที่เป็นต้นเหตุให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่กระจายอยู่ทั่วกรุงโซลและปริมณฑล
นายกรัฐมนตรีคิม บู-คยุม แถลงว่า นับจากวันพฤหัสฯ (15) รัฐบาลจะใช้กฎการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งเข้มงวดขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นต้นว่า ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเกิน 8 คน ขณะที่ร้านอาหารและบาร์เปิดได้ถึงเที่ยงคืนเท่านั้น
ขณะที่ออสเตรเลียในวันเดียวกัน เกลดิส เบเรจิกเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประกาศขยายเวลาใช้มาตรการล็อกดาวน์ในซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐและของออสเตรเลีย ออกไปอย่างน้อยจนถึงวันที่ 30 เดือนนี้ หลังพบผู้ติดเชื้อในท้องถิ่น 97 คน ลดลงเล็กน้อยจากที่รายงานในวันอังคาร (13) กระนั้น ในบรรดาเคสใหม่เหล่านี้มีถึง 24 คนที่ติดเชื้อในชุมชน เท่ากับว่า อาจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกในช่วงไม่กี่วันนี้
นับจากพบเคสแรกเมื่อกลางเดือนที่แล้วจนถึงขณะนี้ ซิดนีย์มีผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 900 คน และเสียชีวิต 2 คน ถึงแม้ใช้มาตรการล็อกดาวน์มาเกือบ 3 สัปดาห์
(ที่มา : เอพี, รอยเตอร์, เอเอฟพี)