การเจรจาหารือในระดับสูงแบบเจอหน้ากัน ระหว่างนักการทูตของสหรัฐฯ กับของจีนเมื่อวันจันทร์ (26 ก.ค.) เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความผิดแผกแตกต่างกันระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน ถึงแม้น้ำเสียงในคราวนี้ดูเหมือนลดระดับการทะเลาะโต้เถียงกันลงมาจากการหารือครั้งสุดท้ายที่อะแลสกา
ฝ่ายจีนนั้นเสนอรายการข้อเรียกร้องและข้อร้องทุกข์อย่างยาวเหยียด กล่าวหาสหรัฐฯ ว่ากำลังพยายามที่จะปิดล้อมและบีบคั้นทำลายการพัฒนาของจีน ขณะที่ฝ่ายอเมริกาได้หยิบยกความห่วงใยของตนในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและปัญหาอื่นๆ รวมทั้งเร่งเร้าให้ทั้งสองชาติร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ อย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อิหร่าน และเกาหลีเหนือ
รองรัฐมนตรีต่างประเทศ เซี่ย เฟิง ของจีน เรียกร้องสหรัฐฯ ให้ “เปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อซึ่งไปในทางที่ผิดเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนนโยบายที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง” ของฝ่ายสหรัฐฯ
เซี่ย กล่าวประณามสหรัฐฯ ว่าเป็นตัวการทำให้เกิด “ภาวะชะงักงัน” ในความสัมพันธ์ทวิภาคี พร้อมกับบอกด้วยว่า มีชาวอเมริกันบางคนพยายามวาดภาพจีนให้เป็น “ศัตรูในจินตนาการ” ขึ้นมา ทั้งนี้ตามบันทึกคำพูดของเขาอย่างเป็นทางการในระหว่างการพบปะหารือครั้งนี้
เซี่ย พบหารือกับรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ เวนดี้ เชอร์แมน ณ โรงแรมรีสอร์ตแห่งหนึ่งในเมืองเทียนจิน เมืองท่าสำคัญของจีนซึ่งอยู่ไกลจากกรุงปักกิ่งชั่วเวลาขับรถราว 1 ชั่วโมง เชอร์แมนถือว่าเป็นนักการทูตสหรัฐฯ ระดับสูงที่สุดซึ่งไปยือนจีน นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขึ้นครองอำนาจเมื่อ 6 เดือนก่อน
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้เสื่อมทรามลงอย่างรุนแรงในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป ประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนหน้าไบเดน และเวลานี้ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความไม่ลงรอยกันในประเด็นปัญหาจำนวนมาก ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสิทธิมนุษยชน
เซี่ย บอกว่าจีนต้องการแสวงหาพื้นที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถยืนร่วมกันได้ ขณะเดียวกับที่ค่อยๆ แก้ไขความผิดแผกแตกต่างระหว่างกัน นี่เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความแตกแยกไปกันคนละทางในเรื่องแบบแผนวิธีการพื้นฐานซึ่งจะใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกัน เนื่องจากคณะบริหารไบเดนนั้นพูดว่าจะร่วมมือกับจีนในเรื่องต่างๆ อย่างเช่น ภูมิอากาศ แต่จะประจันหน้ากับจีนในเรื่องอื่นๆ เป็นต้นว่า สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้วอชิงตันกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองว่า เป็นความสัมพันธ์ที่มีทั้งการร่วมมือกัน การแข่งขันกัน และการเป็นปรปักษ์กัน
ระหว่างที่ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวเอพีทางโทรศัพท์ ภายหลังการเจรจากับฝ่ายจีนเสร็จสิ้นลงแล้ว เชอร์แมนกล่าวว่า “นี่เป็นกระบวนการที่เราเพิ่งก้าวไปได้อีกก้าวหนึ่ง เรามาสู่การสนทนาเหล่านี้ โดยที่ไม่ได้มีการตั้งความคาดหมายว่าจะต้องเกิดผลลัพธ์พิเศษเจาะจงอะไรทั้งสิ้น”
ในวันจันทร์ (26) นั้น เชอร์แมนได้พบปะหารือกับทั้ง เซี่ย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ของฝ่ายจีน และกับ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ
การมาเยือนของเธอคราวนี้ มีขึ้นภายหลังการพบปะหารือครั้งแรกเริ่มที่เต็มไปด้วยการโต้แย้งกันอย่างดุเดือด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา โดยที่ในคราวนั้น ทั้ง หวาง และหยาง เจียฉือ นักการทูตมากประสบการณ์ของจีน ได้ปะทะคารมด้วยถ้อยคำอันกราดเกรี้ยวกับ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว เจค ซุลลิแวน
ทางด้าน เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ บรรยายสรุปถึงการพบปะหารือระหว่าง เชอร์แมน กับ หวัง ในคราวนี้ ว่า “เป็นการถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมาและเปิดกว้าง เกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ หลายหลาก ซึ่งสาธิตให้เห็นถึงความสำคัญของการธำรงรักษาสายการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศของพวกเราทั้งสองให้ยังคงเปิดเอาไว้”
ไพรซ์ ระบุว่า เชอร์แมนได้หยิบยกความกังวลใจของฝ่ายสหรัฐฯ ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เป็นต้นว่า ในฮ่องกง และทิเบต รวมทั้งสิ่งที่โฆษกผู้นี้เรียกว่า เป็น “การล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในซินเจียง” เขากล่าวต่อไปว่า เชอร์แมนยังได้หยิบยกพูดถึงประเด็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงของสื่อ และเสรีภาพของสื่อมวลชน พฤติการณ์ของปักกิ่งในไซเบอร์สเปซ และการปฏิบัติการต่อไต้หวัน ตลอดจนในทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้
เชอร์แมนยังได้หารือกรณีของพลเรือนชาวอเมริกันและชาวแคนาดาที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในจีน หรืออยู่ใต้ข้อห้ามไม่อนุญาตให้เดินทางออกจากจีน รวมทั้งเน้นย้ำความกังวลในเรื่องที่จีนไม่ปรารถนาที่จะร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก และเปิดทางใหมีการสอบสวนขั้นที่สองภายในจีนในเรื่องเกี่ยวต้นตอของโควิด-19 ทั้งนี้ ตามการแถลงของไพรซ์
ในส่วนทางด้านจีนนั้น ระหว่างการแถลงข่าวประจำวันเมื่อวันจันทร์ (26) เจ้า หลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ระบุถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ของฝ่ายจีนอย่างยาวเหยียด เป็นต้นว่า การขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกข้อจำกัดในการออกวีซ่าเข้าเมืองให้แก่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนและครอบครัวของพวกเขา การแซงก์ชันเหล่าผู้นำ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจีน รวมทั้งขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกการตั้งข้อจำกัดต่างๆ ในการออกวีซ่าเข้าเมืองให้แก่พวกนักศึกษาชาวจีน
เขาบอกด้วยว่า วอชิงตันควรยุติมาตรการที่สหรัฐฯ ใช้มาเล่นงานบรรดาวิสาหกิจ นักศึกษา สถานศึกษา และสื่อมวลชนของจีน รวมทั้งยกเลิกคำขอให้ส่งตัว เมิ่ง ว่านโจว ผู้บริหารของหัวเว่ย ที่เวลานี้ถูกกักตัวอยู่ในแคนาดา ให้ไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ
เชอร์แมนบอกว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการหารือในเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีการประชุมหารือกันระหว่าง ไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ถึงแม้มีผู้สังเกตการณ์บางรายคาดเดาว่า เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ในฐานะเป็นการประชุมข้างเคียงการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี 7 ในกรุงโรม ตอนสิ้นเดือนตุลาคมนี้
นักการทูตหมายเลข 2 ของอเมริกาผู้นี้ มีกำหนดเดินางต่อไปยังโอมาน โดยที่เธอจะเจรจาหารือกับรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ชัยค์ คอลิฟะ อัล ฮาร์ธี ในวันอังคาร (27) ทั้งนี้ ก่อนมาถึงเทียนจิน เชอร์แมนได้พบหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
(ที่มา : เอพี)