xs
xsm
sm
md
lg

เค้าลางที่จะได้เห็นการประชุมซัมมิต ‘ไบเดน-สีจิ้นผิง’ ขณะที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนกำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับ โจ ไบเดน ซึ่งเวลานั้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ชนแก้วเพื่อดิ่มอวยพรให้กันและกัน ในงานเลี้ยงอาหารกลางวันซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน กรุงวอชิงตัน วันที่ 25 กันยายน 2015  ช่วงที่ สี เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Biden-Xi summit coming into view
by MK Bhadrakumar
18/07/2021

การไปเยือนทำเนียบขาวของ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา น่าจะส่งผลอย่างสูงต่ออนาคตของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน โดยมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะมุ่งสร้างความร่วมมือกับจีนมากขึ้น ขณะที่ลดทอนการประจันหน้ากันลงมา

การเดินทางไปทำเนียบขาวของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี เพื่อ “การเยือนพร้อมเจรจาทำงานอย่างเป็นทางการ” (official working visit) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีส่วนซึ่งโดดเด่นสะดุดหูสะดุดตาที่สุด ตรงน้ำเสียงอันค่อนข้างเงียบเชียบในเวลาพาดพิงถึงหัวข้อสำคัญที่สุดของการหารือระหว่างเธอกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั่นก็คือในเรื่องว่าด้วยจีน

การที่แมร์เคิลให้ความเห็นเกี่ยวกับจีนอย่างระมัดระวังตัวสูง ณ การประชุมแถลงข่าวร่วมของผู้นำทั้งสอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/07/15/remarks-by-president-biden-and-chancellor-merkel-of-the-federal-republic-of-germany-in-press-conference/) เป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างเซอร์ไพรซ์อะไร ทว่าสิ่งซึ่งน่าตื่นเต้นระทึกใจก็คือ ไบเดนก็ก้าวย่างอย่างนิ่มนวลในหัวข้อนี้ด้วยเช่นกัน

แมร์เคิลนั้นเป็นรัฐสตรีผู้มีประสบการณ์สูง โดยที่เชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมในเรื่องการลงรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่พึงปรารถนาสำหรับเธอ

เธอเห็นพ้องกับไบเดนในเรื่องที่ว่า ความสัมพันธ์กับจีนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องให้ลำดับความสำคัญสูงๆ เป็นจำนวนมากในด้านนโยบายการต่างประเทศทุกวันนี้ โดยที่ “ตรงไหนก็ตามทีที่ไม่มีหลักประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็จะส่งเสียงของเราให้ได้ยินกัน และสร้างความชัดเจนขึ้นมาว่าเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้” ทว่า เยอรมนี “ยังให้ความสนับสนุนเช่นกันในเรื่องการรับรองบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกๆ ประเทศของโลกนี้”

แมร์เคิลเปิดเผยว่า เธอกับไบเดน “หารือกับถึงมิติต่างๆ จำนวนมากของการร่วมมือกัน และในเรื่องการแข่งขันกับจีนด้วย ไม่ว่าจะในแวดวงเศรษฐกิจ, ในแวดวงการพิทักษ์ปกป้องภูมิอากาศ, ในเรื่องของภาคการทหารและว่าด้วยความมั่นคง” –นี่ทำให้เป็นที่กระจ่างว่า เธอเห็นว่าไม่สามารถที่จะประทับตราจีน เพียงด้วยการพิจารณาเงื่อนไขแบบมิติเดียวว่าอยู่ในฐานะที่เป็นศัตรู

ทั้งนี้แมร์เคิลบอกว่า “มีความเข้าใจร่วมกันอยู่มากมายทีเดียว (ระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐฯ) ว่า จีนนั้นในหลายๆ เรื่องแล้วเป็นคู่แข่งขันของเรา” และในการค้าขายกับจีน “จำเป็นที่จะต้องยืนหยัดยึดมั่นบนสมมุติฐานที่ว่า เราจะต้องมีสนามแข่งขันแบบที่มีความเรียบเสมอกัน” ครั้นแล้วเธอก็ชี้ออกมาว่า “พลังผลักดัน” เบื้องหลังข้อตกลงอียู-จีนว่าด้วยการค้า ซึ่งมีการเจรจาออกมาจนสำเร็จในขั้นหลักการเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว --ถึงแม้สร้างความไม่พอใจให้แก่คณะบริหารไบเดนเป็นอย่างมากก็ตามที เป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าที่เป็นธรรม

ในความเป็นจริงแล้ว แมร์เคิลเน้นย้ำความสำคัญว่า ข้อตกลงที่ทำกับจีนในเดือนธันวาคมนี้ ยังเป็นการผูกพันปักกิ่งให้ “ต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานหลักๆ ในเรื่องแรงงาน” ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization หรือ ILO) --นี่ก็คือการพาดพิงตอบโต้อย่างอ้อมๆ ถึงการที่สหรัฐฯพยายามกดดันให้ร่วมกันลงโทษคว่ำบาตรจีนด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานในซินเจียงนั่นเอง

แมร์เคิล “เชื่อมั่นว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ... ในด้านต่างๆ จำนวนมากมาย” แต่กระนั้น “เห็นได้ชัดเจนว่า มันเป็นความถูกต้องชอบธรรมของจีนเช่นกัน ในการที่มีความปรารถนาจะเป็นผู้นำในทางนี้ด้วย แต่ ขอยกเป็นตัวอย่างนะ เราจะร่วมมือกันในเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำยุคจำนวนมากมาย –ตัวอย่างเช่น ชิป” แมร์เคิลกล่าวต่อ

“แล้วมันก็มีเรื่องผลประโยชน์ เห็นได้ชัดว่า –บางครั้งผลประโยชน์ก็ไปกันคนะทาง แต่บางครั้งก็เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน แต่เป็นที่ชัดเจนว่าเราก็มีด้านที่พวกบริษัทอเมริกันแข่งขันกับบริษัทยุโรป และเราจำเป็นต้องยอมรับสภาพเช่นนี้ แต่ดิฉันคิดว่าโดยพื้นฐานแล้ว กฎเกณฑ์ในเรื่องที่ว่าเราจะรับมือกับจีนยังไงนั้น ควรที่จะต้องยึดโยงอยู่กับค่านิยมที่มีอยู่ร่วมกันของพวกเรา”

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ไบเดนน่าที่จะกำลังขยับเข้าใกล้มากขึ้นกับสิ่งที่แมร์เคิลคิดเห็นเกี่ยวกับจีน มีความเป็นไปได้อยู่มากที่ว่า ตัวไบเดนเองก็อยู่ในอารมณ์ความรู้สึกขบคิดพินิจพิเคราะห์ ภายหลังจากการมีปฏิสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในบรรยากาศแบบเป็นทางการและแบบไม่เป็นทางการ กับพวกผู้นำฝ่ายตะวันตก รวมทั้งตัวแมร์เคิลด้วย จากการที่เขาตระเวนเยือนยุโรปเมื่อเดือนที่แล้ว โดยที่เวลาส่วนใหญ่ทีเดียวมีการพูดเรื่องเกี่ยวกับจีน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่อย่างไรก็จำเป็นต้องพูดถึง

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ระหว่างที่ เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบขาวในแบบเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/press-briefings/2021/06/17/on-the-record-press-call-by-national-security-advisor-jake-sullivan-on-the-presidents-trip-to-europe/) มีร่องรอยแฝงเร้นอยู่มากมายทีเดียว ว่ากำลังมีการขยับปรับเปลี่ยนใหม่ๆ ในเรื่องนโยบายว่าด้วยจีนของสหรัฐฯ โดยที่ซุลลิแวนบอกกล่าวให้เป็นที่ทราบกันว่า ไบเดน “ตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะมีโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับประธานาธิบดีสี (จิ้นผิง) เพื่อการก้าวไปข้างหน้า”

ซุลลิแวนกล่าวอีกว่า “อีกไม่นานเกินรอ เราจะนั่งลงเพื่อจัดทำรูปแบบวิธีการอันถูกต้องเหมาะสมสำหรับที่ท่านประธานาธิบดีทั้งสองจะมีปฏิสัมพันธ์กัน” โดยที่เขาพูดถึงขนาดว่า ไบเดนมีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะ “ทำให้แน่ใจว่าเราจะมีการสื่อสารโดยตรง (กับประธานาธิบดีสี) แบบชนิดที่ (ได้สื่อสารโดยตรง) กับประธานาธิบดีปูตินเมื่อวานนี้ ซึ่งเราพบว่ามีคุณค่ามาก ... ถึงตอนนี้คำถามอยู่แค่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างไรเท่านั้น”

มีหลักฐานชัดเจนว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาซุลลิแวนก็อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมมาโดยตลอด ถึงตอนนี้เราจึงได้ยินข่าวว่า รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ เวนดี้ เชอร์แมน (Wendy Sherman) มีกำหนดพบหารือกับ รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน เซี่ย เฟิง (Xie Feng) ที่เมืองเทียนจิน เมืองท่าสำคัญของจีนในสัปดาห์นี้

ขณะที่รายงานข่าวเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์รายวัน เนซาวิซิมายา กาเซตา (Nezavisimaya Gazeta) ของรัสเซีย ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ถึงแม้ทำเนียบขาวได้ประทับตราจีนว่ามีศักยภาพที่จะเป็นศัตรูตัวฉกาจ แต่ไบเดนก็เชื่อว่าการติดต่อกันแบบเจอะเจอกันซึ่งหน้าจะทำให้เกิดความกระจ่างขึ้นมาว่า ประเด็นปัญหาใดที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถพบว่ามีสิ่งที่ร่วมกันอยู่ และประเด็นปัญหาใดที่ไม่มีสิ่งนี้”

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ยังมีสัญญาณที่แน่นอนชัดแจ้งบางประการซึ่งชี้ว่า แบบแผนวิธีรับมือกับจีนของสหรัฐฯน่าจะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนกันแล้ว สัญญาณที่ว่าปรากฏให้เห็นถนัดทีเดียว ในการพรีเซนเตชั่นเป็นเวลา 1 ชั่วโมงของ เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ผู้ประสานงานของทำเนียบขาวว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก และรองผู้ช่วยของประธานาธิบดี –หรือที่รู้จักกันมากกว่าว่า เขาเป็น “ซาร์ด้านเอเชีย” (Asia czar) ของไบเดน

งานนี้ แคมป์เบลล์ได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาที่สมาคมเอเชีย (Asia Society) องค์การทรงอิทธิพลซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก และในอดีตเคยมีบทบาทอย่างสำคัญในการแผ้วถางเส้นทางให้แก่สายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกา รวมทั้งการส่งเสริมเพิ่มพูนความเข้าใจระหว่างกันของประเทศทั้งสอง

ตัวแคมป์เบลล์เองได้ชื่อว่ามีทัศนะแบบเหยี่ยวในเรื่องเกี่ยวกับจีน และด้วยเหตุนี้ น้ำเสียงที่นุ่มนวลลงของเขาเมื่อพูดเกี่ยวกับเส้นทางโคจรในอนาคตของนโยบายสหรัฐฯจึงมีคุณค่าควรแก่การให้ความสนใจ มีหลักฐานอันชัดเจนว่าเมื่ออายุแห่งการเป็นประธานาธิบดีของไบเดนผ่านพ้นไปแล้ว 6 เดือน และบรรยากาศการฉลองแสดงความยินดีกันอย่างมากมายทั้งภายในอเมริกาเองและกับพันธมิตรชาติต่างๆ ของอเมริกาก็ผ่านพ้นไปแล้วเช่นกัน แคมป์เบลล์กำลังพูดโดยคำนึงถึงฉากหลังที่ว่า มีการเจรจาต่อรองกันอยู่เพื่อจัดให้มีการพบปะหารือกันระหว่าง ไบเดน กับ สี

ตอนหนึ่งจากพรีเซนเตชั่นของแคมป์เบลล์คราวนี้ ได้ถูกนำมาปรับปรุงให้กลายเป็นข้อเขียนข้างล่างนี้ เพื่อให้ได้รสชาติของสิ่งที่กำลังมีความเคลื่อนไหวกันอยู่ ทั้งนี้ หลังจากประธานของสมาคมเอเชีย เควิด รัดด์ (Kevin Rudd) ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี รวมทั้งเป็นอดีตนักการทูตและอดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ได้ตั้งคำถามแบบขวานผ่าซากและดุเดือดเข้มข้นขึ้นมาว่า สงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯกับจีนในที่สุดแล้วเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้หรือ แคมป์เบลล์ตอบดังนี้:

“ผมน่ะไม่ชอบการถูกตีกรอบว่าเป็นสงครามเย็นเอามากๆ เลย ผมมีความซาบซึ้งประทับใจกับผลงานของคุณที่ได้กระทำในเรื่องนี้ แต่ผมกลัวเกรงว่าการตีกรอบเช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างความคลุมเครือมากกว่าที่มันจะส่องสว่างสร้างความชัดเจน และผมคิดว่ามันจะทำให้เราประสบความยากลำบากมากขึ้น จากการที่ต้องถอยหลังกลับไปสู่แบบแผนและการขบคิดซึ่งไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออะไรในขั้นรากฐานจริงๆ  สำหรับการรับมือกับอุปสรรคความท้าทายบางอย่างบางประการที่เสนอออกมาโดยจีน ...

“ผมเชื่อว่าลักษณะอันชัดเจนของระยะเวลาข้างหน้านี้ จะแวดล้อมที่เรื่องการแข่งขันกัน (ระหว่างสหรัฐฯกับจีน) และเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นการค้นหาพื้นที่ซึ่งสหรัฐฯสามารถ –มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการร่วมมือกันหรอก มันสามารถที่จะเป็นเพียงแค่การเป็นแนวร่วมกัน (กับจีน) ในนโยบายด้านต่างๆ  การท้าทายต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องการเสนอโอกาสบางอย่างบางประการให้แก่จีน ...”


คำพูดที่ยกมาข้างต้นนี้ น่าจะเป็นการให้ร่องรอยแก่เราว่า กำลังมีการจัดวางกลเม็ดเกี่ยวกับยนโยบายจีนที่ละเอียดอ่อนเอามากๆ อยู่ในทำเนียบขาว มีอยู่ช่วงหนึ่ง รัดด์ ถึงกับเริ่มพูดแบบกะเก็งคาดเดาว่า มันจะไม่ใช่เป็นไอเดียที่ดีล่ะหรือ สำหรับการที่ออสเตรเลียจะกดปุ่ม "หยุดพัก” ในเรื่องถ้อยคำโวหารต่อต้านจีน กันสักช่วงระยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดโอกาสขึ้นมา สำหรับการซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนที่เสื่อมทรามไปมาก

ในทำนองเดียวกัน ในเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน แคมป์เบลล์ก็ปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องที่อาจจะมีความพยายามเพื่อเจาะไชไส้ในของ “นโยบายจีนเดียว” กันจนทำให้มันกลายเป็นนโยบายที่ข้างในกลวงโบ๋ เขากล่าวอย่างหนักแน่นว่า ขณะที่สหรัฐฯสนับสนุน “ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่แข็งแกร่ง” กับไต้หวัน แต่มันไม่ได้เป็นคำถามใดๆ เลยในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯคิดที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราช เขายอมรับว่าท่าทีเช่นนี้อาจจะเป็นความพยายามสร้างความสมดุลอันละเอียดอ่อนและมีอันตรายยิ่ง แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องธำรงรักษาเอาไว้

เห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียว ในทำนองเดียวกับที่มีร่องรอยของการมีมิตรไมตรีกันมากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในระยะหลังๆ นี้ (ดูเพิ่มเติมได้ ที่ https://asiatimes.com/2021/07/hints-of-a-thaw-in-us-russia-relations/ หรือ ที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว https://mgronline.com/around/detail/9640000070648) นโยบายในเรื่องจีนของคณะบริหารไบเดนก็ดูเหมือนกำลังย่างเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน แคมป์เบลล์กล่าวยืนยันว่าการพบปะหารือกันระหว่าง ไบเดน กับ สี น่าที่จะเกิดขึ้นได้ “ในอนาคตอันไม่ไกลเกินไปนัก”

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับGlobetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย

กำลังโหลดความคิดเห็น