(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Hints of a thaw in US-Russia relations
by MK Bhadrakumar
16/07/2021
สหรัฐฯกับรัสเซียจู่ๆ ก็สามารถร่วมไม้ร่วมมือกันได้ในหลายๆ เรื่อง ขณะที่ถ้อยคำโวหารต่อต้านวอชิงตันของทางฝ่ายมอสโกก็ลดน้ำหนักลงมาอย่างฉับพลัน เหล่านี้เป็นสัญญาณเครื่องบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านท่าทีและในเรื่องทิศทาง
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย กำลังแสดงอาการว่ากลับมีความเป็นมิตรต่อกันเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสามารถลงมติกันด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ในเรื่องให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติการส่งความช่วยเหลือเข้าไปสู่ซีเรียโดยผ่านทางตุรกีออกไปอีก ควรต้องถือว่าเป็นช่วงจังหวะที่สำคัญทีเดียว
เรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้ เนื่องจากการประนีประนอมในการพูดจากันนาทีสุดท้ายระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น วาสซิลี เนเบนเซีย (Vassily Nebenzia) บอกกับพวกผู้สื่อข่าวภายหลังการโหวตครั้งนี้ว่า “เราหวังว่ามันอาจจะกลายเป็นจุดพลิกผัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นไปตามแนวทางของสิ่งที่ (ประธานาธิบดีวลาดิมีร์) ปูติน กับ (ประธานาธิบดีโจ) ไบเดน ได้หารือกันในนครเจนีวา มันสาธิตให้เห็นว่าพวกเราสามารถที่จะร่วมมือกันได้เมื่อมีความจำเป็น และเมื่อมีความมุ่งมั่นตั้งใจด้วย”
ด้านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ (Linda Thomas-Greenfield) บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า “มันแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เราสามารถดำเนินการกับฝ่ายรัสเซีย ถ้าหากเราทำงานกับพวกเขาในทางการทูตบนเป้าหมายต่างๆ ที่มีร่วมกัน ดิฉันตั้งตารอคอยมองหาโอกาสอื่นๆ อีกที่จะทำงานกับฝ่ายรัสเซียในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”
รัสเซียนั้นไม่ได้เข้ามีปฏิสัมพันธ์อะไรด้วยในระยะหลายๆ สัปดาห์ของการพูดจากันก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับญัตติซึ่งร่างขึ้นโดยไอร์แลนด์และนอร์เวย์ฉบับนี้ จนกระทั่งกระโดดออกมาร่วมวงอย่างสร้างเซอร์ไพรซ์ในวันที่ 8 กรกฎาคม ต่อจากนั้นได้มีการเจรจากันขึ้นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นระหว่าง โธมัส-กรีนฟิลด์ กับ เนเบนเซีย และฉับพลันนั้นเอง คณะมนตรีความมั่นคงก็ออกเสียงกันอย่างเป็นเอกฉันท์รับรองญัตติที่มีเนื้อหาเป็นการประนีประนอมกัน เพื่อขยายอาณัติสำหรับการปฏิบัติการนำความช่วยเหลือข้ามพรมแดนนี้
เป็นที่ชัดเจนว่า มอสโกได้ชี้แนะ เนเบนเซีย ว่า ฝ่ายรัสเซียกำลังมีการปรับเปลี่ยนเส้นทาง ถึงแม้ก่อนหน้านั้นจนกระทั่งถึงวันที่ 30 มิถุนายนทีเดียว รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียเก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ยังแสดงท่าทีว่ากำลังเล่นเกมหนักไม่มีผ่อนปรนอยู่เลย ทั้งนี้ภายหลังการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ เมฟลุต คาวูโซกลู (Mevlut Cavusoglu) ของตุรกี ที่เมืองอันตัลยา (Antalya) ของตุรกี ในวันนั้นแล้ว ลาฟรอฟ ถึงขนาดกล่าวโจมตีเล่นงานเรื่องที่สหรัฐฯใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่อซีเรีย รวมทั้งการที่วอชิงตันใช้เรื่องความช่วยเหลือมาสร้างข้อเท็จจริงใหม่ๆ ขึ้นทางภาคพื้นดินในซีเรีย ตลอดจนการที่อเมริกันพยายามส่งเสริมสนับสนุนความโน้มเอียงไปในทิศทางการแบ่งแยกดินแดนในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรตีส (Euphrates)
อย่างไรก็ดี อีก 8 วันให้หลัง อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ก็มีการปรับเปลี่ยน จริงๆ แล้วในวันที่ 8 กรกฎาคมนั้น พวกผู้แทนพิเศษทั้งของรัสเซีย, ตุรกี, และอิหร่าน ได้พบปะหารือกันที่กรุงนูร์สุลต่าน (เพิ่งเปลี่ยนจากชื่อเดิมคือ อัสตานา เมื่อปี 2019 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Nur-Sultan -ผู้แปล) เมืองหลวงของคาซัคสถาน ภายในกรอบของสิ่งที่เรียกกันว่า กระบวนการอัสตานาว่าด้วยซีเรีย (Astana process on Syria) เพื่อออกแรงผลักดันอย่างมีพลังชีวิตชีวาให้แก่กระบวนการแก้ปัญหาซีเรียภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาตินี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นทำท่าร่อแร่เจียนตายอยู่แล้ว
จอห์น เคร์รี ไปเยือนรัสเซีย
อเล็กซานเดอร์ ลาฟเรนเตฟ (Alexander Lavrentyev) ผู้แทนพิเศษว่าด้วยซีเรียของทางรัสเซีย ซึ่งเข้าร่วมในการหารืออัสตานา 3 ฝ่ายนี้ ได้บอกกับสำนักข่าวทาสส์ (TASS) ของทางการหมีขาวในเวลาต่อมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1312355) ว่า มอสโกกับวอชิงตันมีปฏิสัมพันธ์กันในการพูดจาเกี่ยวกับเรื่องที่กองทหารสหรัฐฯจะถอนตัวออกจากซีเรีย โดยที่การถอนตัวนี้ “อาจจะเกิดขึ้นมาในเวลาไหนก็เป็นไปได้ทั้งนั้น”
เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรต้องระลึกเอาไว้ก็คือ ในช่วงระหว่างการเดินทางของลาฟรอฟไปยังอันตัลยา และเข้าร่วมการหารืออัสตานา 3 ฝ่ายที่กรุงนูร์-สุลต่าน ในอีก 8 วันต่อมานั้น รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียยังได้ต้อนรับ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯว่าด้วยเรื่องภูมิอากาศ ที่เข้าเยี่ยมคำนับเขาอีกด้วย
ในวันที่ 2 กรกฎาคม ทาสส์รายงานว่า “เคร์รีวางแผนไปเยือนมอสโก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1309769) รายงานข่าวชิ้นนี้อ้างแหล่งข่าวรายหนึ่งในมอสโกซึ่งกล่าวว่า “ถึงกำหนดที่ เคร์รี จะมาเยือนแล้ว ประเด็นปัญหาต่างๆ ทางด้านภูมิอากาศคือสิ่งที่อยู่ในวาระ วันเวลาของการพบปะหารือของเขาก็กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขึ้นมา”
แล้วก็จริงๆ นั่นแหละ ในวันที่ 8 กรกฎาคมนั้นเอง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯประกาศว่า เคร์รีกำลังมุ่งหน้าไปมอสโกเพื่อการเยือนเป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-15 กรกฎาคม “เพื่อพบปะกับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซีย และหารือกันถึงหนทางวิธีการต่างๆ ในการส่งเสริมเพิ่มพูนความทะเยอทะยานด้านภูมิอากาศของโลก”
การพบปะหารือนัดแรกของ เคร์รี ภายหลังมาถึงมอสโกเมื่อวันจันทร์ (12 ก.ค.) ได้แก่การเจอกันกับลาฟรอฟ ผู้ให้การต้อนรับเขาอย่างมีมิตรไมตรี รวมทั้งได้กล่าวตั้งข้อสังเกตอย่างตรงไปตรงมาว่า “การเยือนของท่านคือสัญญาณที่สำคัญและเป็นผลบวก จากจุดยืนและทัศนะของการมุ่งส่งเสริมสนับสนุนความสัมพันธ์ทวิภาคี , การแก้ไขความตึงเครียด, และการสถาปนากิจกรรมอันมีเนื้อหาสาระอย่างมืออาชีพ ในด้านต่างๆ ซึ่งเราสามารถค้นพบว่ามีความสนใจร่วมกันอยู่
“แบบแผนวิธีการเช่นนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องอย่างเต็มที่กับจิตวิญญาณแห่งการประชุมซัมมิตที่เจนีวาระหว่างประธานาธิบดีของพวกเราทั้งสอง เราพรักพร้อมอยู่แล้วที่จะส่งเสริมสนับสนุนสิ่งนี้ในทุกๆ ทาง โดยยึดโยงอยู่กับการสนทนาอย่างเท่าเทียมกันและเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อการบรรลุจุดสมดุลแห่งผลประโยชน์ขึ้นมา” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mid.ru/en_GB/foreign_policy/news/-/asset_publisher/cKNonkJE02Bw/content/id/4812234)
คำกล่าวเช่นนี้ของ ลาฟรอฟ ก็คือการยกระดับความสำคัญในการมาเยือนของเคร์รี ให้เกินกว่าประเด็นปัญหาภูมิอากาศมากมายนัก อันที่จริง ฝ่ายรัสเซียดูเหมือนตื่นเต้นพอใจจนพูดอะไรไม่ถูกทีเดียว และถ้อยคำโวหารต่อต้านสหรัฐฯของมอสโกก็มีน้ำเสียงลดน้อยลงไปอย่างฉับพลัน
แท้ที่จริงแล้ว เอกอัครราชทูตของมอสโกประจำกรุงฮาวานา ถึงขนาดออกมาประเมิน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1313277) ว่า การประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ในคิวบา อันที่จริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเงื่อนไขภายในประเทศเท่านั้น สืบเนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ต่างๆ ได้เลวร้ายลง ด้วยผลของโรคระบาดใหญ่โควิด-19
ความตึงเครียดเรื่องยูเครนก็ผ่อนคลายลง
นี่คือมอสโกแสดงท่าทีว่าไม่ได้เห็นด้วยกับการกล่าวหาของประธานาธิบดีมิเกล ดิอัซ-กาเนล ของคิวบา ที่ว่าวอชิงตันเป็นผู้ปลุกปั่นยุยงให้เกิดการประท้วง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.yahoo.com/cuban-president-blames-u-social-144001478.html)
น่าสนใจมากว่า ปูตินได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการเกริ่นเป็นการทาบทามคณะผู้นำยูเครน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/66181) หลังจากนั้นแล้ว เขายังได้อธิบายเพิ่มเติมบทความของเขาเองชิ้นนั้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/66191) และต่อมายังประกาศด้วยว่า รัสเซียจะปฏิบัติตามภาระความรับผิดชอบต่างๆ ของฝ่ายตน ในเรื่องเกี่ยวกับการขนถ่ายแก๊สรัสเซียผ่านยูเครน
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ควรที่จะลดอุณหภูมิของการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในเรื่องยูเครนลงไป และเป็นไปได้ว่า มันเป็นการสร้างทางเบี่ยงให้แก่คณะบริหารไบเดน เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ต้องเพิ่มการเผชิญหน้า ด้วยการลงโทษคว่ำบาตรโครงการสร้างสายท่อส่งแก๊ส “นอร์ด สตรีม 2” (Nord Stream 2) อะไรกันต่อไปอีก
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็อย่างที่พวกผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันตั้งข้อสังเกตกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/technology/2021/07/13/revil-disappears-kaseya-hack/) ว่า กลุ่มก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ชื่อฉาวโฉ่ ซึ่งรู้จักเรียกขานกันในนามว่า “REvil” และฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯสงสัยว่าเป็นพวกที่ตั้งฐานอยู่ในรัสเซียนั้น จู่ๆ ก็หายสาปสูญไปเลยจากวงการออนไลน์
REvil นี้ เห็นกันว่าเป็นกลุ่มที่รับผิดชอบก่อเหตุแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่มหึมา ตัวการโจมตีเจาะระบบของ เคซียา (Kaseya) บริษัทอเมริกันที่ให้บริการซอฟต์แวร์ระบบจัดการไอที ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สหรัฐฯจะเริ่มต้นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ยาวๆ ฉลองวันชาติอเมริกัน 4 กรกฎาคม
เหตุการณ์นี้กระตุ้นความไม่พอใจของไบเดน จนกระทั่งเขาต่อโทรศัพท์ถึง ปูติน ในวันที่ 9 กรกฎาคม และกล่าวเตือนปูตินอย่างบูดบึ้งว่า สหรัฐฯจะโจมตีเล่นงานข้างในรัสเซียเลย ถ้าหากปูตินไม่ลงมือทำอะไร (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/politics/russia-united-states-ransomware-attacks-biden/2021/07/09/034ac07e-e0d7-11eb-b507-697762d090dd_story.html) ครั้นแล้วเว็บไซต์ของREvilก็หายหน้าหายตาไปอย่างน่าประหลาดใจ ในช่วงเช้าๆ ของวันที่ 13 กรกฎาคม
วอชิงตันโพสต์เสนอรายงานข่าวเอาไว้ในวันพุธ (14 กรกฎาคม) มีเนื้อหาเน้นย้ำความเป็นไปได้ที่ “วังเครมลินโอนอ่อนเมื่อถูกสหรัฐฯบีบคั้น และบังคับREvilให้เก็บฉากปิดร้าน ...ทั้งนี้ปูตินอาจจะตัดสินใจแล้วว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การต่อสู้ที่คุ้มค่าควรแก่การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.washingtonpost.com/politics/2021/07/14/cybersecurity-202-there-are-three-big-theories-about-why-major-ransomware-gang-disappeared-online/?outputType=amp)
แน่นอนทีเดียว ปูติน กับ ไบเดน ได้ตกลงเห็นพ้องกันระหว่างการเจรจาซัมมิตที่เจนีวา ในเรื่องจะเปิดการหารือระดับสูงของทั้งสองประเทศเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ ในเวลานี้ กลุ่มเช่นนี้กำลังหารือกันอยู่ ขณะที่ก่อนหน้านั้นฝ่ายรัสเซียเคยร้องบ่นในเรื่องความเชื่องช้าของการดำเนินการเรื่องนี้ ไบเดนนั้นเป็นนักการเมืองประสบการณ์โชกโชน เขาทราบดีว่ามัน'jายดายขนาดไหนในการพะเน้าพะนอความหยิ่งทะนงของฝ่ายรัสเซีย
การจับคู่เต้นแทงโก้กันได้เข้าขากันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเช่นนี้ น่าจะเพิ่งเข้าที่เข้าทาง ถ้าหากจะยึดถือเอาบทความพิเศษที่ ลาฟรอฟ เขียนให้แก่เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เป็นหลักหมาย บทความชิ้นนั้นใช้ชื่อเรื่องว่า “กฎหมาย, สิทธิ, และกฎเกณฑ์” (The Law, the Rights and the Rules) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mid.ru/en/foreign_policy/news/-/asset_publisher/cKNonkJE02Bw/content/id/4801890) เป็นบทความขนาดยาวที่มีเนื้อหาโจมตีด้วยถ้อยคำแรงๆ ต่อการที่สหรัฐฯใช้ “ท่าทีดูหมิ่นเหยียดหยาม” รัสเซีย ทว่ามาถึงตอนนี้ มันดูเหมือนกับกลายเป็นประวัติศาสตร์ยุคโบราณไปเสียแล้ว
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับGlobetrotter
(https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย