รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอเมริกัน เวนดี้ เชอร์แมน มีกำหนดไปถึงนครเทียนจิน เมืองท่าสำคัญของแดนมังกรซึ่งอยู่ใกล้ๆ กรุงปักกิ่งในวันอาทิตย์ (25 ก.ค.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของคณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเดินทางไปเยือนจีน
หลังจากเยือนหลายชาติพันธมิตรของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออก รวมทั้งญี่ปุ่น เชอร์แมนจะเข้าพบเจรจากับ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ และ เซี่ย เฟิง รองรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนในวันจันทร์ (26)
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ หลายคนกล่าวเมื่อวันเสาร์ (24) ระหว่างการบรรยายสรุปภูมิหลังให้สื่อมวลชนฟังที่กรุงวอชิงตันว่า สหรัฐฯ มองการพบปะหารือระดับสูงระหว่างนักการทูตอเมริกันและจีนคราวนี้ เป็นโอกาสที่จะป้องกันไม่ให้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีอันร่วงหล่นลงสู่ความเข้าใจผิดและกระทั่งเข้าสู่การขัดแย้งกัน
การหารือที่เทียนจินครั้งนี้ ซึ่งฝ่ายจีนเน้นว่าเป็นไปตามการเสนอของฝ่ายอเมริกัน ส่วนพวกเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารไบเดน ก็ย้ำว่า นี่ไม่ใช่เป็นโอกาสของการเจรจาเพื่อทะเลาะถกเถียงกันในเรื่องต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่อย่างเฉพาะเจาะจง หากแต่เป็นการวางกรอบกว้างๆ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายในภาพรวม
เชอร์แมน มีแผนจะบอกกับคู่เจรจาของเธอว่า สหรัฐฯ ยินดีต้อนรับ “การแข่งขันกันอย่างทรหดและถาวรต่อเนื่อง” กับจีน แต่ว่า “ทุกๆ ฝ่ายจำเป็นต้องลงแข่งขันกันด้วยกฎเกณฑ์อย่างเดียวกัน และบนสนามแข่งขันที่ราบเรียบเสมอกัน” เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของคณะบริหารไบเดนบอก
“เธอกำลังจะไปเน้นย้ำว่า เราไม่ได้ต้องการให้การแข่งขันกันอย่างทรหดและถาวรต่อเนื่อง หันเหเบนออกไปกลายเป็นการขัดแย้งกัน” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวต่อ “นี่คือเหตุผลที่ทำไมสหรัฐฯ ต้องการทำให้เกิดความแน่ใจว่า มีการจัดวางพวกราวกั้นและตัวกำหนดขอบเขตต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทางเอาไว้ เพื่อให้สามารถจัดการกับความสัมพันธ์นี้ได้อย่างมีความรับผิดชอบ”
เชอร์แมนเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ท่ามกลางความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นทุกที โดยเชื้อเพลิงที่โหมฮือความบาดหมางกันในระยะใกล้ๆ นี้ มีทั้งการที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันในเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ การประกาศมาตรการแซงก์ชันใส่กันแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” รวมทั้งความพยายามของวอชิงตันในการระดมหุ้นส่วนและพันธมิตรให้มาร่วมด้วยช่วยกันในการประจันหน้ากับปักกิ่ง
อันที่จริง 1 วันก่อนหน้าเธอไปถึง มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้ออกมากล่าวเตือนว่า จีนไม่ได้ยอมรับว่า สหรัฐฯสามารถครองฐานะ “เหนือกว่า” ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย
“ถ้าหากสหรัฐฯ ยังไม่ยอมเรียนรู้วิธีการในการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ บนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกันแล้ว เราก็มีความรับผิดชอบที่จะต้องทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อสอนบทเรียนนี้ให้สหรัฐฯ” เขากล่าวเช่นนี้ในข้อสังเกตที่โพสต์เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกระทรวง
ภายหลังทริปเดินทางเที่ยวนี้ของเชอร์แมนแล้ว รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ยังมีกำหนดมาเยือนสิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ในสัปดาห์หน้า โดยที่ออสตินบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่สิงคโปร์ซึ่งเขาจะเข้าร่วมเวทีประชุมด้านความมั่นคงนั้น เขาจะกล่าวปราศรัยพูดถึง “ข้ออ้างของจีนในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่มีมูลและไม่ช่วยอะไร”
นอกจากนั้นแล้ว เขายังวางแผนจะสำรวจหาหนทางต่างๆ ที่สหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก จะสามารถทำงานร่วมกัน “เพื่อจัดการกับรูปแบบที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปบางประการ ของการก้าวร้าวรุกรานและการใช้อำนาจเข้าบังคับ ซึ่งพวกเราทั้งหมดกำลังมองเห็นกันอยู่”
ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน มีกำหนดจะไปเยือนอินเดียเช่นกัน ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสัญญาณแสดงถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการเร่งรัดโน้มน้าวชาติหุ้นส่วนและเหล่าพันธมิตรของตน ขณะที่จีนท้าทายอิทธิพลสหรัฐฯ ในเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ
การเจรจาที่เทียนจินของเชอร์แมน เกิดขึ้นหลังจากระยะเวลาหลายเดือนแห่งการเชือดเฉือนกันทางวาจาอันดุเดือด นับตั้งแต่ที่เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการทูตของสหรัฐฯ กับจีนพบปะเจอะเจอกันเป็นหนแรกภายใต้คณะบริหารไบเดนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ในการประชุมที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา ของสหรัฐฯ ครั้งนั้น ภายหลังฝ่ายสหรัฐฯ นำโดยบลิงเคน ตั้งท่าเปิดฉาก “สั่งสอน” ปักกิ่ง ฝ่ายเจ้าหน้าที่จีน ซึ่งในจำนวนนี้ก็มี หวัง อี้ ด้วย ได้ตอบโต้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ กลับอย่างยาวเหยียด โดยรวมศูนย์อยู่ที่การกล่าวหาว่าอเมริกาใช้นโยบายแบบวางตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโตเหนือทั้งโลก ถึงแม้ภายหลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ประชุมกันเป็นการภายในกันต่อ และฝ่ายอเมริกันออกข่าวว่าการหารือได้เนื้อหาสาระมากกว่าที่คาดหมายเอาไว้
สำหรับการประชุมที่เทียนจินครั้งนี้ จะเป็นการต่อเนื่องจากที่แองเคอเรจ และ “ทุกๆ มิติของความสัมพันธ์ (สหรัฐฯ-จีน) จะถูกวางแบอยู่บนโต๊ะ” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่บรรยายสรุปในวันเสาร์ บอก
แซงก์ชันตอบโต้กันแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
หลังจากการประชุมที่แองเคอเรจเป็นต้นมา ประเทศทั้งสองได้ประหมัดกันในทางการทูตแบบต่อเนื่องแทบตลอดเวลาทีเดียว
เมื่อไม่กี่วันก่อน คณะบริหารไบเดนได้ประกาศแซงก์ชันเจ้าหน้าที่จีนหลายคนที่ประจำอยู่ในฮ่องกง รวมทั้งออกคำเตือนถึงพวกบริษัทอเมริกันที่ดำเนินงานอยู่ในฮ่องกงโดยระบุว่า อำนาจปกครองตนเองของเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้กำลังเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังจับมือกับพวกชาติพันธมิตรตะวันตก กล่าวหาปักกิ่งว่าอุปถัมภ์การแฮกระบบคอมพิวเตอร์ของกิจการจำนวนมากเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ในปีนี้ โดยอาศัยช่องโหว่ในโปรแกรมจัดการอีเมล “เอกซ์เชนจ์” ของค่ายไมโครซอฟท์
ทางด้านปักกิ่งได้ตอบโต้สวนหมัดทันควัน โดยกล่าวหาว่า สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้ดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์เล่นงานหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ของจีนมาเป็นแรมปีแล้ว รวมทั้งสหรัฐฯ นั่นแหละคือผู้ดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก
และในวันศุกร์ (23) ปักกิ่งยังได้ออกมาตรการแซงก์ชันเล่นงานองค์กรเอ็นจีโอสหรัฐฯ แห่งหนึ่ง และชาวอเมริกันอีกหลายรายซึ่งเกี่ยวข้องกับการกล่าวหาจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง รวมทั้งคว่ำบาตร วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ในยุคโดนัลด์ ทรัมป์
ด้วยสายสัมพันธ์ทวิภาคีที่ย่ำแย่ขนาดนี้ พวกผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศจึงต่างไม่คาดหมายว่า จะมีผลลัพธ์สำคัญอะไรออกมาจากเทียนจิน
แต่ถ้าการเจรจาสามารถเดินหน้าไปได้ดีอย่างมีเหตุมีผลแล้ว เห็นกันว่ามันอาจช่วยแผ้วถางทางไปสู่การพบปะหารือกันในที่สุดระหว่างไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน โดยหากซัมมิตนี้จะเกิดขึ้นจริงๆ ก็เห็นกันว่าโอกาสที่ดูเหมาะสมคือ ระหว่างที่ผู้นำทั้งสองต่างไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม จี-20 ที่อิตาลีในเดือนตุลาคมนี้
“ถ้าหากมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทั้งสองฝ่ายสามารถอาศัยการหารือเหล่านี้มาเจรจากันถึงความร่วมมือกันในประเด็นปัญหาทวิภาคี อย่างเช่น การยกเลิกข้อจำกัดที่สหรัฐฯ ใช้ควบคุมการออกวีซ่าให้แก่นักการทูตและนักศึกษาชาวจีน ตลอดจนประเด็นปัญหาพหุภาคีทั้งหลาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน อัฟกานิสถาน พม่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” นี่เป็นความเห็นของ อู่ ซินปั๋ว ผู้อำนวยการศูนย์อเมริกันศึกษา ณ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในเซี่ยงไฮ้
(ที่มา : รอยเตอร์, เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, เอพี)