ขุดดินเตรียมหลุมฝังศพ หลุมแล้วหลุมเล่า ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ทีมงานสัปเหร่อเมืองอิเหนาซึ่งอ่อนล้าเหนื่อยจัด บอกว่าทำงานหนักหนาเพียงไรก็ไม่เพียงพอจะรองรับบรรดาร่างผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ที่ถูกรถบรรทุกศพทยอยขนย้ายมายังสุสานซิเปนโจในเมืองโบโกร์ ทางตะวันตกของเกาะชวา และใกล้กับกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เอพีรายงาน
ขณะที่ ยอดผู้เสียชีวิตในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วอินโดนีเซีย พุ่งสูงถึงวันละ 1,566 ศพเมื่อศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2021 โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวที่เกาะชวาและเกาะบาหลี ทีมงานสัปเหร่อที่สุสานซิเปนโจ ซึ่งร้อนอ้าวในชุดป้องกันเชื้อโรคมิดชิดจากศีรษะจดปลายเท้าพร้อมหน้ากากสองชั้น ให้ข้อมูลแก่เอพีว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ของกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ทำการฝังร่างไร้ลมหายใจของเหยื่อโควิดวันละมากกว่า 10 ศพ ซึ่งเพิ่มขึ้นห้าเท่าตัวจากเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อินโดนีเซียซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิด-19 แห่งใหม่ของทวีปเอเชีย ถูกมหันตภัยเชื้อโรคทำร้ายอย่างสาหัสด้วยไวรัสมรณะที่ คร่าชีวิตชาวอินโดนีเซียวันละมากกว่า 1,000-1,500 ศพ นับตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2021 ส่งผลเป็นสถิติที่น่าสลดใจอย่างที่สุด ณ วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2021 ดังนี้
- ยอดรวม ผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ในเมืองอิเหนาทะยาน แตะนิวไฮที่ 83,279 ศพ (ยอดของมาเลเซียอยู่ที่ 7,994 ศพ ส่วนยอดของไทยอยู่ที่ 4,146 ศพ)
- ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะยานไปถึง 3,166,505 ราย (ยอดของมาเลเซียอยู่ที่ 1,013438 ราย ส่วนยอดของไทยอยู่ที่ 512,678 ราย)
- จำนวน ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งขึ้นเป็นตัวเลขอันมหาศาลคือ 38,679 รายต่อวัน (ยอดของมาเลเซียอยู่ที่ 17,045 รายต่อวัน และยอดของไทยอยู่ที่ 15,335 รายต่อวัน) สถิติบนเว็บไซต์เวิลด์โดมิเตอร์สดอทอินโฟ (worldometers.info) แสดงตัวเลขไว้อย่างนั้น
สถานการณ์น่าสลดใจนี้นำไปสู่ปัญหาความขาดแคลนหลุมฝังศพกันทั้งประเทศ ซึ่งปรากฏว่าด้วยน้ำใจแห่งภราดรภาพ เมื่อมีการร้องขออาสาสมัครมาช่วยสัปเหร่อขุดดินให้เป็นหลุมฝังศพในสุสานของเมืองต่างๆ นั้น พี่น้องในสารพัดชุมชนแห่กันสมัครใจเข้าช่วยเหลือ
“บรรดาญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตขอความอนุเคราะห์ไปยังพวกผู้นำชุมชน ให้ช่วยระดมอาสาสมัครมาสนับสนุนภารกิจการขุดดินทำหลุมฝังศพน่ะครับ เพราะมันจะเสี่ยงเกินไปที่จะรอกันไปนานๆ จนกว่าสัปเหร่อจะทยอยขุดกันจนสามารถบรรจุทุกศพลงไปได้เพียงพอ” จาญา อาบิดิน หนึ่งในอาสาสมัครที่ก้าวออกมาช่วยเหลือตามที่ได้รับการร้องขอ ให้สัมภาษณ์แก่เอพี ทั้งนี้ อาบิดินได้นำเพื่อนบ้านมาร่วมด้วยช่วยกันเป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมา กลุ่มอาสาสมัครน้ำใจงดงามเหล่านี้ได้ช่วยขุดดินและฝังร่างของผู้เสียชีวิตไปเยอะเลย เฉพาะที่เป็นสมาชิกในชุมชนด้วยกันก็มีถึง 4 ราย ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์
สถิติของทางการอินโดนีเซียระบุว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 เสียชีวิตวันละมากกว่า 1,000 รายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม มียอดเสียชีวิตต่อวันสูงสุดคือ 1,565 ราย
อาสาสมัครที่มาช่วยการดำเนินงานของสัปเหร่อ หอบหิ้วจอบและเสียมของตนเองมาจากบ้าน แต่สุสานแห่งอื่นมีสถานการณ์ดีกว่าสุสานซิเปนโจ โดยสามารถจัดหาเครื่องจักรมาช่วยขุดดิน และมีอัตราการเตรียมหลุมศพที่ดีหน่อย
“ถ้าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าจะดีมากเลย ถ้ารัฐบาลยื่นมือมาช่วยด้วยการให้เรายืมอุปกรณ์ขุดดิน” อาบิดิน กล่าว
อาบิดินบอกด้วยว่า มีบ่อยครั้งที่ว่า แม้สัปเหร่อจะมีอาสาสมัครมาช่วย แต่แถวแนวของร่างผู้เสียชีวิตที่ถูกวางรอให้ฝังก็ยาวเหยียดหายลับไปในความมืดของราตรีกาล
วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ของอินโดนีเซียน่าจะไม่สามารถแผ่วลงมาในเร็ววัน เพราะความก้าวหน้าในการแจกจ่ายวัคซีนของอินโดนีเซียยังไม่ดีนัก ที่ผ่านมา ประเทศพี่ใหญ่ของกลุ่มอาเซียนได้ทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปทั้งสิ้น 62.4 ล้านโดส แต่ชาวอินโดนีเซียที่ได้รับการฉีดครบ 2 โดส ยังอยู่ที่ระดับ 17.9 ล้านรายเท่านั้น
ในการนี้ รอยเตอร์ทำการคำณวนว่าในจำนวนวัคซีน 62.4 ล้านโดสที่ฉีดให้แก่ประชาชนไปแล้ว หากทำการประเมินคร่าวว่าวัคซีนทั้งหมดเป็นวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนรายละ 2 โดส ก็จะได้ประมาณการหยาบๆ ว่ามีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนไปแล้ว 11.5% ของประชากรทั่วประเทศ และเมื่อพิจารณาข้อมูลของทางการที่รายงานว่าอินโดนีเซียทำการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้วันละ 745,610 โดสโดยเฉลี่ย เราจะได้ตัวเลขออกมาว่า กว่าที่ประชากรอีก 10% จะได้รับวัคซีนรายละ 2 โดสครบเรียบร้อย ก็ต้องใช้เวลาดำเนินการอีก 73 วัน ซึ่งนั่นไม่ใช้อัตราการแจกวัคซีนที่รวดเร็วทันต่ออวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคที่ร้ายแรงอยู่ในปัจจุบัน
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี เว็บไซต์โควิด19.จีโอ.ไอดี เวิร์ลโดมิเตอร์สดอทอินโฟ)