มาเลเซียแบะท่าวันจันทร์ (26 ก.ค.) เตรียมยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดทะลุหลัก 1 ล้านคน เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ประกาศผ่อนผันมาตรการป้องกันโควิดบางอย่างโดยอ้างว่า สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้านเวียดนามสวนทางโดยเริ่มเคอร์ฟิวในโฮจิมินห์ซิตี ขณะที่ในอเมริกา หมอใหญ่ฟาวซีเตือน สหรัฐฯ กำลังเดินผิดทางเนื่องจากการฉีดวัคซีนชะลอตัวลง พร้อมเผยรัฐบาลกำลังพิจารณาข้อเสนอฟื้นคำสั่งสวมหน้ากากป้องกัน รวมทั้งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25) มาเลเซียรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ที่ 17,045 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้วอยู่ที่ 1,013,438 คน ขณะที่ยอดเสียชีวิตรวมแล้วอยู่ที่เกือบๆ 8,000 คน ถึงแม้มีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนก็ตาม
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคน โรงพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ของมาเลเซีย กำลังต้องรับภาระหนักท่ามกลางการขาดแคลนเตียง เครื่องช่วยหายใจ และออกซิเจน
กระนั้น วันจันทร์ (26) ทากิยุดดิน ฮัสซัน รัฐมนตรียุติธรรมมาเลเซีย แถลงต่อรัฐสภาซึ่งเปิดประชุมวิสามัญว่า รัฐบาลไม่มีแผนขยายสถานการณ์ฉุกเฉินที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคมและจะหมดอายุปลายเดือนนี้
ด้านอินโดนีเซียที่เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโลกอยู่ในขณะนี้ ด้วยจำนวนยอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 3.1 ล้านคน และเสียชีวิต 83,000 คน แต่เมื่อวันอาทิตย์ รัฐบาลตัดสินใจประกาศผ่อนคลายมาตรการจำกัดเข้มงวดทั้งหลายเป็นบางส่วน เช่น อนุญาตให้เปิดตลาด ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย และอู่ซ่อมรถที่มีพื้นที่นอกร้านได้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ถึงแม้ยังต่อเวลามาตรการจำกัดเข้มงวดอื่นๆ ออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด อ้างว่า ยอดติดเชื้อและอัตราการครองเตียงลดลงแล้ว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ ทั้งที่เดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะบนเกาะชวาและบาหลีที่มีประชากรหนาแน่น ยังเผชิญปัญหาคนไข้ล้น และสัปดาห์ที่แล้ว อินโดนีเซียรายงานยอดผู้เสียชีวิตทำสถิติสูงสุดถึง 4 วันก็ตาม
ปันดู ริโอโน นักระบาดวิทยามหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ชี้ว่า การตัดสินใจของรัฐบาลดูเหมือนอิงกับเศรษฐกิจมากกว่าสถานการณ์โรคระบาด พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสอย่างเข้มงวด
เวียดนามยกการ์ดสูง
ในทางตรงกันข้าม เวียดนามซึ่งก็กำลังต่อสู้กับโควิด-19 ที่ระบาดอย่างรวดเร็ว กลับตัดสินใจที่จะดำเนินมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อสกัดการแพร่ติดต่อ โดยตั้งแต่วันจันทร์ (26) ผู้พำนักอาศัยที่มีจำนวนกว่า 10 ล้านคนของนครโฮจิมินห์ ถูกห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 6.00 น. ถึงแม้เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะใช้คำว่า “เคอร์ฟิว” ก็ตามที
พร้อมกันนั้น ทางการยังระงับการขนส่งสาธารณะเกือบทั้งหมดที่เชื่อมกับนครโฮจิมินห์ และผู้เดินทางที่มีต้นทางมาจากนครโฮจิมินห์จะต้องพักอยู่ในศูนย์กักกันโรคเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศที่เคยคึกคักมากแห่งนี้ได้ถูกทางการจำกัดความเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมต่างๆ มานานกว่า 2 เดือนแล้ว รวมทั้งใช้มาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งผู้พำนักอาศัยได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านเฉพาะกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์และการหาซื้ออาหารเท่านั้น
ไม่เฉพาะนครโฮจิมินห์ ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ ปัจจุบันนี้ กว่า 1 ใน 3 ของประชากรจำนวนราว 100 ล้านคนของเวียดนาม ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์รูปแบบต่างๆ รวมทั้งผู้พำนักอาศัยในกรุงฮานอย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศด้วย
ทั้งนี้ หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงในการควบคุมการระบาดรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้เวียดนามกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมจากสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะในโฮจิมินห์ซิตีที่มีผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่เดือนเมษายนจำนวนกว่า 62,000 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศ 101,000 คน
กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในวันจันทร์ (26) ยอดผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 7,882 คน สูงขึ้นจากวันอาทิตย์ ซึ่งอยู่ที่ 7,531 คน และยังคงไม่ห่างไกลจากสถิติสูงสุดใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในวันเสาร์ ด้วยจำนวนเคส 7,968 คน
กระทรวงสาธารณสุขรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่ 7,531 คน ลดลงจากสถิติสูงสุดเมื่อวันเสาร์ (24) ที่ 7,968 คน
อเมริกา “เดินผิดทาง”
ที่อเมริกา นพ.แอนโทนี ฟาวซี หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้สัมภาษณ์ในรายการสเตท ออฟ เดอะ ยูเนียน ของซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอาทิตย์ว่า อเมริกากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นมาเลย อันได้แก่การที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดกำลังกลับพุ่งขึ้นมาอีก จากการที่ประชาชนบางส่วนไม่ยอมฉีดวัคซีน รวมทั้งการระบาดของเดลตา และสำทับว่า อเมริกากำลังเดินผิดทาง
เขาเสริมว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงของรัฐบาลกำลังพิจารณาข้อเสนอให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องสวมหน้ากาก และการฉีดวัคซีนกระตุ้นสำหรับผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ฟาวซีตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้บางพื้นที่ที่มีการระบาดระลอกใหม่ เช่น เทศมณฑลลอสแองเจลิส ทางการได้เรียกร้องให้ประชาชนสวมหน้ากากในพื้นที่สาธารณะภายในอาคารโดยไม่คำนึงถึงว่า ฉีดวัคซีนหรือยัง พร้อมทั้งชมสมาชิกรีพับลิกัน ซึ่งรวมถึงผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอส์และฟลอริดา ที่รณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีน
สภาฝรั่งเศสผ่าน กม.วัคซีน
วันอาทิตย์ รัฐสภาฝรั่งเศสลงมติผ่านกฎหมายพาสปาร์ตวัคซีน ที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผลักดัน เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือส่งให้สภารัฐธรรมนูญอนุมัติก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ตามคำสั่งของมาครงที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กำหนดให้ผู้ที่ต้องการเข้าใช้บริการในสถานที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ หรือไนต์คลับ ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มหรือใบรับรองการตรวจหาเชื้อที่ได้ผลเป็นลบ รวมทั้งบังคับให้บุคลากรการแพทย์และผู้ดูแลผู้สูงวัยต้องฉีดวัคซีน ปรากฏว่าคำสั่งนี้ทำให้ประชาชนกว่าแสนชุมนุมประท้วงในหลายเมืองเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ด้วยข้ออ้างว่าเป็นมาตรการจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคล
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาออกมา ซึ่งมีการประนีประนอมระหว่างสภาล่างและสภาสูง มีการผ่อนคลายเงื่อนไขบางอย่างเพื่อลดการต่อต้านของประชาชน เช่น บุคลากรการแพทย์และผู้ดูแลผู้สูงวัยที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนจะถูกลดเงินเดือนแทนการปลดออกอัตโนมัติ เป็นต้น
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)