xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัส‘เดลตา’เล่นงานเอเชียอาคเนย์อ่วม สถิติตายที่‘อิเหนา-มาเลย์-พม่า’แซง‘อินเดีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพถ่ายจากทางอากาศแสดงให้เห็นหลุมฝังศพจำนวนมากซึ่งใช้ฝังผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่สุสานโรโรตัน ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย วันพฤหัสบดี (22 ก.ค.)
อินโดนีเซียสั่งเปลี่ยนการผลิตแก๊สออกซิเจนเกือบทั้งหมดของประเทศ ให้เป็นการใช้ในทางการแพทย์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่พุ่งทะยานจากผู้ป่วยโควิด-19 ด้านมาเลเซีย โรงพยาบาลอยู่ในสภาพคนไข้ล้นจนเตียงไม่พอและต้องรักษากันบนพื้น ขณะที่พม่า สัปเหร่อเมืองย่างกุ้งต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่มีเวลาพัก

ภาพการเผาศพกลางแจ้งระหว่างที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงที่สุดในอินเดียช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างความหวาดผวาไปทั่วโลก แต่ระยะสองสัปดาห์มานี้ สามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล่าวถึงข้างต้นมีอัตราการตายจากโควิดต่อจำนวนประชากร แซงหน้าแดนภารตะเป็นที่เรียบร้อย โดยสาเหตุสำคัญคือการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา

สถานการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นขณะที่ชาติร่วมภูมิภาครายอื่นๆ ก็ผลัดกันรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทำลายสถิติเช่นกัน กำลังกลายเป็นการเพิ่มภาระหนักให้แก่ระบบสาธารณสุข แม้รัฐบาลพยายามออกมาตรการจำกัดเข้มงวดใหม่ๆ เพื่อชะลอการระบาดก็ตาม

ตอนที่ อิริก ลัม ตรวจพบติดโควิดและเข้าโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนในรัฐสลังงอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของมาเลเซีย ทางเดินในโรงพยาบาลอัดแน่นไปด้วยผู้ป่วยบนเตียง และในแผนกต่างๆ ไม่เหลือที่ว่าง กระนั้น ยังถือว่าดีกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ ในรัฐเดียวกันที่ไม่มีเตียงว่างและผู้ป่วยต้องนอนบนพื้นหรือเปลสนาม

ลัมเล่าว่า ครั้งหนึ่งระหว่างที่รักษาตัวอยู่ 3 สัปดาห์ เขาได้ยินเสียงเครื่องดังบี๊ปๆ ต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมงก่อนที่พยาบาลจะเข้าไปปิด และเขามารู้ทีหลังว่า ผู้ป่วยคนนั้นเสียชีวิต

อบิเชค ไรมาล ผู้ประสานงานด้านสุขภาพฉุกเฉินของสภากาชาดที่ประจำอยู่ในมาเลเซีย ชี้ว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น คนเริ่มล้ากับโรคระบาดและการ์ดตก อัตราการฉีดวัคซีนต่ำ รวมถึงการอุบัติของสายพันธุ์เดลตา พร้อมคาดการณ์ว่า หากประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดพื้นฐาน เช่น หมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และฉีดวัคซีน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่อาจลดลงใน 2-3 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี มาตรการล็อกดาวน์ของมาเลเซียยังไม่สามารถหยุดยั้งอัตราการติดเชื้อรายวันได้ โดยเมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมา จำนวนเคสใหม่พุ่งทะลุหลักหมื่นเป็นครั้งแรกและทรงอยู่อย่างนั้นจนถึงขณะนี้

แม้อัตราการฉีดวัคซีนในมาเลเซียยังต่ำแต่ถือว่า กระเตื้องขึ้นโดยขณะนี้มีประชาชนเกือบ 15% ฉีดครบสองเข็มแล้ว และรัฐบาลหวังว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนภายในปลายปีนี้

ด้วยจำนวนประชากรถึงเกือบ 1,400 ล้านคน อินเดียมียอดรวมผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระนั้น ข้อมูลของอาวร์ เวิลด์ อิน ดาต้าระบุว่า อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 7 วันต่อประชากร 1 ล้านคนของอินเดียพุ่งสูงสุดที่ 3.04 คนในเดือนพฤษภาคม เทียบกับตัวเลขของอินโดนีเซีย พม่า และมาเลเซียที่พุ่งขึ้นรุนแรงนับจากปลายเดือนมิถุนายน และอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 7 วันต่อประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 4.17 คน, 4.02 คน และ 3.18 คนตามลำดับเมื่อวันพฤหัสฯ (22)

กัมพูชาและไทยมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นรุนแรงเช่นเดียวกัน แต่อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 7 วันต่อประชากร 1 ล้านคนยังอยู่ที่ 1.29 คน และ 1.74 คนตามลำดับ

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียรายงานเมื่อวันพุธว่า มีผู้เสียชีวิตจากโควิดในวันนั้น 1,383 คน สูงสุดนับจากไวรัสเริ่มระบาด

จำนวนเคสใหม่รายวันจนถึงกลางเดือนมิถุนายนอยู่ที่ราว 8,000 คน ก่อนที่จะทะยานทำสถิติสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กว่า 50,000 คน ซึ่งเชื่อกันว่า ตัวเลขจริงน่าจะมากกว่านี้เนื่องจากมีอัตราการตรวจหาผู้ติดเชื้อต่ำ

ขณะเดียวกันความต้องการใช้ออกซิเจนก็เพิ่มขึ้นสูงมาก รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจเข้าแทรกแซงและสั่งให้ผู้ผลิตเปลี่ยนการผลิตออกซิเจนจากวัตถุประสงค์ทางอุตสาหกรรมเป็นเพื่อใช้ทางการแพทย์เป็น 90% ของกำลังผลิต จากเดิม 25%

ดังเต ซัคโซโน รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขเผยว่า ก่อนวิกฤตระลอกปัจจุบัน อินโดนีเซียต้องการออกซิเจนทางการแพทย์วันละ 400 ตัน แต่ตอนนี้ตัวเลขพุ่งขึ้น 5 เท่าเป็นกว่า 2,000 ตัน

อย่างไรก็ดี แม้เพิ่มกำลังผลิตและมีเพียงพอแล้วในขณะนี้ แต่ปัญหาการจัดส่งทำให้โรงพยาบาลบางแห่งยังขาดแคลนออกซิเจน

ส่วนที่พม่า วิกฤตโรคระบาดถูกบดบังความสำคัญโดยการรัฐประหารของกองทัพตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และทำให้เกิดการประท้วงใหญ่และความรุนแรงตามมา ซึ่งส่งผลให้ระบบสาธารณสุขยิ่งพังครืน

การตรวจหาผู้ติดเชื้อและการรายงานจำนวนเคสใหม่ที่เริ่มพุ่งขึ้นอีกครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนว่า โควิดระลอกใหม่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมและกำลังทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ด้วยอัตราการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่น้อยมาก จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนต่ำ การขาดแคลนออกซิเจนและอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ ในวงกว้าง และระบบสาธารณสุขที่อ่อนแออยู่แล้วและต้องแบกภาระหนักขึ้น ทำให้คาดว่า สถานการณ์ในพม่าจะเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนนี้

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทหารพม่ายังยึดออกซิเจน โจมตีบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลนับจากยึดอำนาจ และการที่ประชาชนขาดศรัทธาในบริการต่างๆ ของรัฐบาลทหาร ทำให้มีความเสี่ยงที่วิกฤตการณ์นี้จะลุกลามเป็นหายนะ

วันอังคาร (20) ทางการพม่ารายงานจำนวนเคสใหม่ 5,860 คน และเสียชีวิต 286 คน แต่ไม่มีข้อมูลผู้ได้รับการฉีดวัคซีน กระนั้นจากจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ คาดว่า มีประชาชนเพียง 3% ที่ฉีดครบ 2 เข็ม

สัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่พม่าปฏิเสธข่าวบนโซเชียลที่ว่า สุสานในย่างกุ้งมีศพล้นจนไม่สามารถรองรับได้อีก ซึ่งเป็นการยืนยันโดยไม่ตั้งใจให้กับข้อกล่าวอ้างวั้า ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลและมีผู้ป่วยตายคาบ้านจำนวนมาก

ทั้งนี้ หัวหน้าแผนกที่ดูแลสุสานให้สัมภาษณ์สถานีทีวีเมียวดีของกองทัพว่า พนักงาน 350 คนทำงาน 3 กะนับจากวันที่ 8 เดือนนี้ เพื่อฝังและเผาศพประชาชนในย่างกุ้งในสุสานหลัก 7 แห่งอย่างเหมาะสม และทิ้งท้ายว่า เฉพาะวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18) เจ้าหน้าที่เผาหรือฝังศพกว่า 1,200 ศพ รวมถึงผู้ป่วยโควิดที่ตายที่บ้าน 1,065 คน และ 169 คนที่ตายในโรงพยาบาล

(ที่มา: เอพี)

(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 14 ก.ค. 2021) บรรดาอาสาสมัครสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล ทำพิธีสวดที่ด้านหน้าของศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ก่อนฝังศพ ณ สุสานแห่งหนึ่งในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น