นายแพทย์นูร์ ฮิแชม อับดุลลาห์ อธิบดีกรมสุขภาพของมาเลเซีย เมื่อวันอังคาร (20 ก.ค.) ปฏิเสธคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานของวัคซีนซิโนแวค อ้างอิงข้อมูลจากการใช้งานจริงว่ามันมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับวัคซีนของไฟเซอร์ ในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ในข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก นูร์ ฮิแชม ระบุว่าเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ที่ตีพิมพ์โดยสมาคมการแพทย์รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค บริษัทสัญชาติจีน ในชิลี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในประชาชน 4.2 ล้านคนที่ฉีดครบ 2 เข็ม เปรียบเทียบกับ 5.5 ล้านคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
เขาอ้างอิงรายงานระบุว่า "ซิโนแวคถูกพบว่าสามารถลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 65.9% ลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 87.5% และการป่วยหนักถึงขั้นเข้าห้องไอซียู 90.3% และลดอัตราการเสียชีวิต 86.3%"
นายแพทย์นูร์ ฮิแชม บอกต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลได้ระบุเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ว่าวัคซีนของไฟเซอร์ลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 64% แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 93%
"เพราะฉะนั้น ไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างวัคซีนซิโนแวคกับวัคซีนไฟเซอร์ในการใช้งานจริง" เขากล่าว "ทั้งสองมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรงและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ"
พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของมาเลเซียเคยบอกว่า วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันตัวกลายพันธุ์เดลตา แต่มันยังช่วยป้องกันการติดเชื้ออาการหนักอันมีต้นตอจากตัวกลายพันธุ์ดังกล่าว
นอกจากนี้แล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญยังอ้างอิงข้อมูลที่พบว่าดินแดนที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตาสูงสุดในปัจจุบัน ก็คือสหราชอาณาจักรและประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัคซีนของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ใช้วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม อาดัม บาบา รัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย เผยว่า มาเลเซียจะหยุดฉีดวัคซีนซิโนแวคเมื่อสต๊อกวัคซีนซิโนแวคในปัจจุบันหมดลง เนื่องจากพวกเขามีปริมาณวัคซีนอื่นๆ เพียงพอในโครงการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน
คำแถลงหยุดใช้วัคซีนเชื้อตายของซิโนแวค มีขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมันในการรับมือกับตัวกลายพันธุ์ต่างๆ ของโควิด-19 ที่แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมาก
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยเผยว่าจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 2 สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก ส่วนอินโดนีเซีย กำลังพิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นให้คนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว
(ที่มา : ฟรีมาเลเซียทูเดย์)