xs
xsm
sm
md
lg

แค่ 2 ไม่พอ! ผลทดลองในชิลีแนะฉีดวัคซีนโควิด 'ซิโนแวค' เข็ม 3 สู้ตัวกลายพันธุ์เดลตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรดาผู้นำการทดลองในมนุษย์ขั้นสุดท้ายวัคซีนโควิด-19 โคโรนาแวคที่พัฒนาโดย "ซิโนแวค" บริษัทสัญชาติจีน ในชิลี แนะนำในวันพฤหัสบดี (15 ก.ค.) ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันตัวกลายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมาก

พวกผู้นำการวิจัยระบุว่า ในการทดลองในห้องปฏิบัติการภายใต้สภาวะจำลอง เพื่อสรุปหาประสิทธิภาพของวัคซีนกับตัวกลายพันธุ์เดลตา พบแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing antibody) ที่เกิดจากวัคซีน ลดลง 4 เท่า เมื่อเทียบกับตัวดั้งเดิมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่พบครั้งแรกในจีน

ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ของจีนเคยรายงานว่า พบแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ที่เกิดจากวัคซีนโคโรนาแวค ลดลง 3 เท่า ยามเผชิญกับตัวกลายพันธุ์เดลตา

นายแพทย์อเล็กซิส คาเลอร์กิส ผู้อำนวยการสถาบันภูมิคุ้มกันวิทยาและภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งควมคุมการทดลองทางคลินิกครั้งนี้ที่ใช้อาสาสมัคร 2,000 คน ระบุว่า หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปได้ 6 เดือน มีอาสาสมัครไม่ถึง 3% ที่ติดเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าระดับแอนติบอดีป้องกันลดลงหลังผ่านไป 6 เดือน และคาเลอร์กิส แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือ "เข็มกระตุ้น" เพื่อประสิทธิภาพการป้องกันที่ดีขึ้นต่อตัวกลายพันธุ์ต่างๆ นานาของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

"การลดลงตามธรรมชาติของแอนติบอดีหลังฉีดวัคซีน เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อทดแทนและเสริมแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ไวรัส" เขากล่าว

หลายประเทศไล่ตั้งแต่จีน อินโดนีเซียไปจนถึงบราซิล พึ่งพาอย่างมากต่อวัคซีนสัญชาติจีนตัวนี้ในการป้องกันโควิด-19 แต่เริ่มมีคำถามมากขึ้นว่ามันมอบประสิทธิภาพการป้องกันเพียงพอกับตัวกลายพันธุ์เดลตาหรือไม่

โฆษกของซิโนแวคเคยบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนหน้านี้ว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นอาจกระตุ้นการตอบสนองแอนติบอดีเข้มข้นขึ้นและยาวนานขึ้นกับตัวกลายพันธุ์เดลตา แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดใดๆ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (12 ก.ค.) ประเทศไทยจะใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 แก่บุคคลที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคโดสแรก ในความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน

คาเลอร์กิส เน้นว่า อาสาสมัครการทดลองในชิลี ที่ฉีดวัคซีนแต่ละเข็มห่างกัน 28 วัน มีภูมิคุ้มกันแข็งแกร่งกว่าบุคคลที่ฉีดห่างกัน 14 วัน

ชิลี ชาติที่มีประชากรราว 19 ล้านคน วางเดิมพันครั้งใหญ่ไปที่วัคซีนโคโรนาแวค ในโครงการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

จนถึงตอนนี้พวกเขาฉีดประชากรวัยใหญ่ไปได้แล้วเกือบ 76% ในนั้นใช้วัคซีนโคโรนาแวค 28.1 ล้านเข็ม ส่วนที่เหลือฉีดของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค แอสตร้าเซนเนก้า และแคนซิโน

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น