xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : บทเรียน รง.เคมีระเบิด บอมบ์ผังเมืองห่วยแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2564 ตอน บทเรียน รง.เคมีระเบิด บอมบ์ผังเมืองห่วยแตก



เหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ภายในโรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว 21 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ผลิตเม็ดโฟม โดยการผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น สารเคมีเกิดการรั่วไหลออกมา แต่เหตุระทึกก็ผ่านมาได้แบบใจหายใจคว่ำ

แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงระบบการบริการจัดการในด้านหายนะภัย อุบัติภัยของระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระบบผังเมืองของประเทศไทยว่า ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ซุกไว้ใต้พรมอย่างเละเทะ

โรงงานดังกล่าว เปิดมา 32 ปีแล้ว จดทะเบียนธุรกิจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2532 ทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 225,671,193 บาท (322.39% ของทุน) โดยมีบริษัทแม่อยู่ที่ ไต้หวัน ภายใต้ชื่อ หมิงตี้ กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นในปี 2529 ต่อมาในปี 2532 ได้เข้ามาจดทะเบียนการค้าในประเทศไทยภายใต้ชื่อ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด

บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ถือเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ตามพ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ได้แบ่งจำพวกโรงงานออกเป็นจำพวก เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล และควบคุมตามลักษณะ ประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน ซึ่งหมิงตี้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ เป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า หรือมีคนงานเกินกว่า 50 คน

ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ พลาสติกของประเทศไทย มีจํานวนโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกอง. ควบคุมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 4,560 โรงงาน เพราะฉะนั้นโรงงานหมิงตี้ จึงตั้งขึ้นประกอบธุรกิจการผลิตที่เกี่ยวกับการตั้งโรงงานเพื่อประกอบอุตสาหกรรมพลาสติกผ่านพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 การจำแนกว่าโรงงานใดอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใดพิจารณาจากพื้นที่ตั้งของโรงงาน
.
ส่วนกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องอยู่อีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 การจำแนกว่า โรงงานใดอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใดพิจารณาจากพื้นที่ตั้งของโรงงานนั้นมาทีหลัง
.
เมื่อมาดูกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ.2556 แก้ไขเพิ่มเติม พื้นที่ตั้งของโรงงานหมิงตี้ ซอยกิ่งแก้ว 21 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ปัจจุบันเป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ใช้ “สีแดง” เป็นตัวแทนพื้นที่ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อการพาณิชย์ โดยสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ และมีข้อจำกัดน้อยกว่าที่ดินสีอื่น

เมื่อพิจารณาแล้ว ล่อแหลมต่อความปลอดภัยของประชาชนอย่างมาก แต่ก็ว่ากันไม่ได้ เมื่อพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่ ผังเมืองเก่าให้ตั้งโรงงานได้และสร้างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่เมืองขยายออกไป

ในอดีตทั้งโรงานแห่งนี้และโรงงานอื่นๆ ที่ถือว่าตั้งอยู่นอกเมือง นอกเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่น แต่ด้วยความเจริญที่มากขึ้นทำให้บ้าน ชุมชน ที่พักอาศัย ขยายไปหาเขตโรงงานในภายหลัง จากเดิมที่เคยเป็นโรงงานตั้งอยู่กลางทุ่ง มีบ้านคนท้องถิ่นทำการเกษตรและประมงนิดหน่อย กลายเป็นย่านชุมชนใหญ่เพื่อรองรับแรงงาน
.
ว่าไปแล้วระบบผังเมืองในทุกวันนี้ การใช้ที่ดินในการประกอบกิจกรรมต่างๆ มีความลักลั่นสูงมาก โดยเฉพาะใน พื้นที่สีแดงที่เป็นพื้นที่พาณิชย์ และสีม่วงที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม การมาของบ้านจัดสรรชานเมืองกลับสร้างโครงการบนที่ดินผิดประเภทเยอะมาก โดยอาศัยขนาดพื้นที่ใช้สอยต่อหลังไม่เกินกฎหมายกำหนด เพื่อเลี่ยงระเบียบผังเมือง
.
ปัญหาการใช้ผังเมืองผิดประเภทโดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เกิดขึ้นเยอะมากในเขตจังหวัดปริมณฑล เนื่องจากต้องรองรับการเติบโตของเมืองที่ไม่สามารถสร้างบ้านในพื้นที่ใน กทม. ได้อีกต่อไป เพราะที่ดินแพง และไม่คุ้ม การถมที่ดินเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่รับน้ำและเกษตรกรรมจึงมีเพียบ ส่งผลให้เกิดการขวางทางน้ำ ทำน้ำท่วมบ่อยครั้ง

เมื่อเขตชุมชนขยายเข้าใกล้แหล่งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเคมี และวัตถุมีพิษอันตราย มันก็กลายเป็นความเสี่ยงของคนในพื้นที่ เพราะคนเลือกที่จะเข้าไปอยู่ใกล้ๆ โรงงานที่เดิมทีมันอยู่ไกลปืนเที่ยง และต่อให้มีมาตรการคุมเข้มตรวจสอบดีขนาดไหน สักวันก็ต้องเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ได้

เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าแถบอ.บางพลี พื้นที่สีต่างๆ ถูกใช้งานผสมผสานกันแบบงงๆ บ้านจัดสรร หอพักไม่เกิน 7 ชั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตรหรืออุตสาหกรรมได้ พื้นที่เกษตรจริงๆ แทบไม่เหลือเพราะแทนด้วยเขตชุมชนน้อยใหญ่จนหมด ดังนั้นพอการใช้ที่ดินไม่เป็นไปตามที่จัดสรรไว้ เวลาเกิดปัญหาใหญ่ที ความเสียหายมักรุนแรง

จากกรณีโรงงานสารเคมีไฟไหม้และระเบิดจนก่อหายนะภัยอย่างใหญ่โต โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่เก่ามากว่า 3 ทศวรรษ ทำไม กรมที่ดินและผังเมือง สมุทรปราการอนุญาตให้มีการสร้างหมู่บ้านได้ใกล้ขนาดนั้น

ทำไมจึงออกสิทธิ์ให้คนไปอยู่เป็นชุมชนได้ เพราะมาตรการของโรงงานที่ผลิตด้วยสารเคมีต้องอยู่ไกลจากชุมชนหรือหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ
.
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำไมจึงไม่ส่งสัญญาณใดๆ ให้คนที่เกี่ยวข้องทราบว่า มีสารเคมีอันตรายอยู่กลางชุมชน อันเปรียบเสมือนระเบิดเวลากลางเมือง เพราะลำพังการตรวจคุณภาพโรงงานประจำปีคงไม่เพียงพอ

จังหวัดสมุทรปราการนี้มีโรงงานมากที่สุด อยู่ใกล้แหล่งชุมชน และส่วนใหญ่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะฉะนั้น ได้เวลามาทบทวนและสังคายนาถึงผังเมืองอย่างจริงจัง และถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงกันสักที เพราะกฎหมายล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับบ้านเมืองในปัจจุบัน และเป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สินประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น