xs
xsm
sm
md
lg

ล้อมคอก! กทม.เตรียมจัดทำฐานข้อมูลโรงงานใช้สารเคมีอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่มีสารเคมีเป็นวัตถุดิบในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อบ้านเรือน โรงงาน และสุขภาพของประชาชนนั้น กรุงเทพมหานครได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมในการตอบโต้เหตุสารเคมีและวัตถุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยได้จัดซื้อรถกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย จำนวน 4 คัน สำหรับใช้ระงับเหตุเกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยภายในตัวรถมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเข้าระงับเหตุ อาทิ ชุดป้องกันสารเคมี เครื่องช่วยหายใจ (BA) เครื่องมือตรวจวัดชนิดสารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ตรวจสอบและเฝ้าระวังพื้นที่ชนิดเคลื่อนที่ได้ ชุดทดสอบสารเคมีเบื้องต้น (Hazmat kit) น้ำยาโฟมดับเพลิง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ช่วยลดความเสี่ยงอันตรายให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยที่เข้าเผชิญเหตุในระยะประชิด ได้แก่ ยานยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบควบคุมระยะไกล (LUF 60) จำนวน 4 เครื่อง แท่นปืนฉีดน้ำชนิดยกเคลื่อนที่ได้ประจำการอยู่ในสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่ง โดยใช้อุปกรณ์ดังกล่าวฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และใช้ตอบโต้เหตุสารเคมีและวัตถุอันตรายที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ

ขณะเดียวกัน ยังให้การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดต่อหรือใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ เช่น เหตุไฟไหม้คลังเก็บน้ำมันท้องที่ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และสนับสนุนเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสามารถบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตอบโต้เหตุสารเคมีและวัตถุอันตรายได้เป็นอย่างดี

ด้านนางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักอนามัยมีแผนสำรวจและตรวจแนะนำสถานประกอบการที่มีการใช้ จัดเก็บ สะสม ผลิต จำหน่าย หรือขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อเฝ้าระวังสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงภัยใน 50 สำนักงานเขต จำนวน 500 แห่ง โดยในเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2564 จะพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการบริหารจัดการสารเคมีกรุงเทพมหานคร เพื่อจะทราบพิกัดสถานที่ตั้ง ปริมาณกักเก็บ ชนิดสารเคมี และระบบการจัดการของสถานประกอบการ สำหรับใช้ประเมินความเสี่ยง ทำนายขอบเขตการรั่วไหล พื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลให้สำนักงานเขต สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินจากสารเคมีและระงับอุบัติภัยสารเคมีที่อาจเกิดจากสถานประกอบในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบวิธีปฏิบัติในการป้องกันตนเองเมื่อเผชิญเหตุสารเคมี