xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนตำนานเฮลิคอปเตอร์ ปภ. ครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยเคยขวางไม่ให้ซื้อ อ้างเกินความจำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนตำนานเฮลิคอปเตอร์ KA-32 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดซื้อเมื่อปี 2562 จอดประจำการที่กองพันบินที่ 41 ลพบุรี พบครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยเคยค้านในสภาฯ ไม่ให้ซื้อ อ้างไม่มีความจำเป็น แนะเอาเงินไปช่วยเหลือประชาชนจากโควิด-19

รายงาน

จากกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีระเบิดภายในบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ตั้งอยู่เลขที่ 87 หมู่ 15 ซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แรงอัดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบรัศมี 500 เมตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมด้วยเครื่องจักรกลสาธารณภัยสนับสนุนการดับเพลิงฯ ประกอบด้วย รถหอน้ำ 37 เมตร รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว รถบรรทุกน้ำช่วยดับเพลิง รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยเพื่อขนโฟมดับเพลิง รวมทั้งส่งเฮลิคอปเตอร์ KA-32 ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับกองทัพบก จำนวน 2 ลำ เข้าสนับสนุนการระงับเหตุไฟไหม่ในพื้นที่ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต 10 นาย เข้าร่วมสนับสนุนการปฏิบัติการ

อุปสรรคที่สำคัญก็คือ เมื่อเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเติมโฟมแล้ว จะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งเนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตราย มีกลุ่มควันหนาแน่น และการบินทิ้งโฟมจะต้องบินต่ำ ทั้งนี้ ต้องคำนึงความปลอดภัยเป็นหลัก







สำหรับเฮลิคอปเตอร์ KA-32 ปภ.ได้จัดซื้อมาจากบริษัทคาร์นอฟ รัสเซีย เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ ผ่านบริษัท ดาต้าเกท จำกัด ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 หลังเสนอราคาต่ำสุดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,862,475,956 บาท ก่อนที่จะนำเข้าประจำการที่กองพันบินที่ 41 กรมบิน ศูนย์การบินทหารบก ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ซึ่ง ปภ.ขอรับการสนับสนุนบุคลากรจาก ทบ. ซึ่ง ทบ.ให้การสนับสนุนบุคลากร ทั้งนักบิน 6 นาย และเจ้าหน้าที่ช่าง รวม 24 นาย โดยการขึ้นบินจะมีนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเฮลิคอปเตอร์ รวม 7 นาย

เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวทำการบินได้นาน 2 ชั่วโมง 45 นาที อัตราสิ้นเปลือง 860 ลิตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 222 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 120 ไมล์ทะเล พิสัยบิน 622 กิโลเมตร 336 ไมล์ทะเล มีอุปกรณ์กู้ภัยเพิ่มเติมคือ ปืนฉีดน้ำและสารเคมีดับเพลิง ถังน้ำขนาด 3,000 ลิตร สามารถเติมน้ำและปล่อยน้ำได้โดยไม่ต้องลงจอด ถังโฟม 150 ลิตร กระเช้าตักน้ำ 5,000 ลิตร รอกกู้ภัยไฟฟ้า และเปลพยาบาล พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์

ที่ผ่านมาเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวใช้ในการปฏิบัติภารกิจป้องกันสาธารณภัยต่างๆ เช่น การควบคุมไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี รวมถึงเหตุสาธารณภัยอื่นๆ ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ ปภ. KA-32 ได้รับความนิยมในภารกิจค้นหากู้ภัยและการดับเพลิงทั้งในพื้นราบทั่วไป บนอาคารสูง รวมทั้งพื้นที่ที่รถดับเพลิงทั่วไปยากจะเข้าถึงได้ สมรรถนะในการทรงตัวสูง บินช้า ลอยตัวนิ่งได้นานกว่าเครื่องบินรุ่นอื่น ทนต่อสภาวะอากาศเลวร้าย




เหตุผลที่ ปภ.จัดหาเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเผชิญเหตุและตอบโต้ภัยพิบัติฉุกเฉิน เช่น การเข้าระงับเหตุอัคคีภัยในอาคารสูง การดับไฟป่า การช่วยเหลือและขนย้ายผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงด้วยความยากลำบากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอากาศยานปีกหมุนเพื่อภารกิจการกู้ภัย ไม่ใช่เพื่อการขนส่งโดยสารบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน ที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนต่อการปฏิบัติงานของภาครัฐที่มุ่งดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เคยกล่าวกับสำนักข่าวอิศราเมื่อปี 2562 ระบุว่า เหตุผลที่จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์นั้น เพราะเป็นความต้องการของทาง ปภ.ที่ต้องการอุปกรณ์กู้ภัยที่ครบเครื่องอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ แม้ว่าประเทศไทยจะมีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ แต่เกณฑ์ประเมินของต่างประเทศ เช่น บริษัทประกันภัย บริษัทท่องเที่ยว ประเมินว่าประเทศไทยไม่มีเฮลิคอปเตอร์ที่ปฏิบัติภารกิจด้านกู้ภัยโดยตรง ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพถูกประเมินว่าเป็นภารกิจของหน่วยรบ แต่หน่วยที่ปฏิบัติภารกิจด้านกู้ภัยโดยตรงนั้นจะต้องมีเฮลิคอปเตอร์ไว้รองรับภารกิจด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพิ่มเติมนั้น ครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เคยออกมาห้ามไม่ให้ซื้อ เพราะอ้างว่าไม่มีความจำเป็น

ย้อนกลับไปในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 4 ก.ค. 2563 รายงานว่า นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณฯ ปี 64 โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ที่มีการจัดสรรงบฯ จัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ป้องกันภัยของ ปภ. เช่น เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยมูลค่าหลายพันล้านบาท ระบุว่านำมาใช้ในการดับเพลิง รถผลิตอากาศและสะพานเหล็กชั่วคราว

“อุปกรณ์บางอย่างไม่มีความจำเป็น และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ ในต่างจังหวัดบางแห่งมีแล้วไม่มีที่จัดเก็บ ต้องไปจอดกองไว้ให้เสื่อมสภาพ ขอให้ยกเลิกงบฯ จัดซื้อดังกล่าว เพื่อนำงบฯ ส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะเกิดประโยชน์กว่า” นายวิสารระบุ

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่าทุกอย่างมีความจำเป็น ต้องมีไว้ช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัติ ที่ผ่านมาได้จัดไว้ แบ่งเป็นศูนย์ ปภ.เขต จำนวน 18 ศูนย์ เมื่อเกิดเหตุไฟป่าหรือเหตุอื่น ต้องใช้อุปกรณ์และรถดับเพลิงจำนวนมาก เช่นเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงมีไว้เพื่อใช้ดับไฟป่า และไฟไหม้ตึกสูง ที่ผ่านมาต้องขอยืมจากกองทัพ แต่ไม่มีเครื่องฉีดน้ำติดเฮลิคอปเตอร์ จึงไม่แม่นยำในการดับไฟ และมีเฮลิคอปเตอร์ไม่เพียงพอ

ยืนยันว่าเป็นการใช้เฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการกู้ภัย ไม่ใช่ไว้รองรับบุคคลสำคัญหรือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองตามที่ฝ่ายค้านกังวล เช่นเดียวกับรถผลิตอากาศ ยืนยันว่ามีความจำเป็นหากเกิดกรณีแบบ 13 หมูป่าอีก ส่วนสะพานเหล็กชั่วคราว ต้องมีไว้รองรับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น ยืนยันว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามขั้นตอนถูกต้อง ไม่มีการล็อกสเปกกับบริษัทที่เคยเป็นคู่สัญญากับกองทัพ ตามที่กล่าวอ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น