xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกสนใจไทยฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ แอสตร้าเซนเนก้ายกให้แต่ละประเทศตัดสินใจเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สื่อมวลชนสหรัฐฯ และรอยเตอร์รายงานข่าวกรณีที่นักไวรัสวิทยาและที่ปรึกษาของรัฐบาลไทยเมื่อวันอังคาร (13 ก.ค.) รับรองแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับยี่ห้อระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับซิโนแวค ท่ามกลางความกังวลของประชาชนบางส่วนต่อการใช้ยุทธศาสตร์ที่ยังไม่ผ่านการทดสอบในวงกว้าง

รายงานของซีเอ็นเอ็นระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเผยแพร่การวิจัยอย่างเจาะจงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไขว้ 2 ชนิด แต่มีประเทศต่างๆ มากขึ้นที่กำลังพิจารณาแนวทาง mix-and-match (ฉีดวัคซีนสลับชนิด) เพื่อประสิทธิภาพการป้องกันที่ดีขึ้นจากตัวกลายพันธุ์ต่างๆ ที่แพร่เชื้อได้ง่าย ล่าสุด ได้แก่เวียดนาม

ซีเอ็นเอ็นรายงานนายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยชาญด้านไวรัสวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีประชาชน 1,200 คนในไทยที่ได้รับวัคซีนสลับยี่ห้อ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ในคำสั่งแพทย์ที่ต่างกันออกไป ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากอาการแพ้หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนวัคซีนเข็มที่ 2

"ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ซึ่งบ่งชี้ว่ามันมีความปลอดภัยสำหรับการใช้จริง" ซีเอ็นเอ็นอ้างคำแถลงของนายแพทย์ยง

นายแพทย์ยง ระบุว่า ผลเบื้องต้นจากการติดตามผู้ได้รับวัคซีนมากกว่า 40 คน พบว่าการฉีดวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค ตามด้วยวัคซีนไวรัสเวคเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า ก่อแอนติบอดีแก่ผู้รับวัคซีนแบบเดียวกับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่าไทยแถลงในวันจันทร์ (12 ก.ค.) ว่าจะรับรองฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ยี่ห้อ แต่ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ระบุว่ามันเป็นแนวทางที่เสี่ยง "คนไทยไม่ใช่หนูทดลอง" นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าว

ในจังหวัดนนทบุรี ที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเขียนบนเฟซบุ๊กเสนอฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าแก่ประชาชน 20,000 คน แต่มันเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากวก่า 700 ความเห็น จนกระทั่งต้องชะลอแผนดังกล่าวไป

รอยเตอร์อีกหนึ่งสื่อมวชนชื่อดัง ได้ติดต่อสอบถามไปยังซิโนแวคในวันจันทร์ (12 ก.ค.) เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนของไทย แต่ทางซิโนแวคยังไม่ได้ให้คำตอบ ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า นโยบายวัคซีนเป็นเรื่องที่แต่ละชาติตัดสินใจเอง ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น

รายงานของซีเอ็นเอ็นระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยเปิดเผยในวันจันทร์ (12 ก.ค.) ว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นของแอสตร้าเซนเนก้าหรือไม่ก็ไฟเซอร์ หลังจากบุคลากรทางการแพทย์ 618 คน จากทั้งหมดกว่า 677,000 รายที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว มีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวก อย่างไรก็ตาม ในบรรดา 618 รายนั้น มีเพียง 2 คนที่อาการสาหัส ในนั้น 1 รายเสียชีวิต

(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)


กำลังโหลดความคิดเห็น