พิษณุโลก - “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.พม.เผยเบื้องหลังไทยได้วัคซีนโควิดล่าช้า ชี้สงกรานต์ปี 63 ป้องกันได้ดี มีคนบอกไม่ต้องซื้อตุนป้องกันวัคซีนหมดอายุ แต่ภายหลังระบาดหนักทั้งโลกวัคซีนกลายเป็นอาวุธทางการเมืองของมหาอำนาจไปแล้ว
วันนี้ (10 ก.ค. 64) นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจในจังหวัดพิษณุโลกถึงกรณีวัคซีนโควิด ซึ่งประชาชนทั้งประเทศกำลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยว่า ปกติวัคซีนหนึ่งเข็มบริษัทผู้ผลิตต้องทดสอบในหนู ลิง ใช้เวลาถึงสิบปี แต่พอมาโควิด-19 ที่แพร่ระบาดครั้งนี้ไม่สามารถทำได้ตามกระบวนการปกติ วัคซีนถูกบังคับให้นำมาใช้กับคนภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว วัคซีนจึงมีความเสี่ยงหมดทุกยี่ห้อ
ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัทยาหลายแห่งที่ผลิตวัคซีนโควิดออกมา แทนที่จะขายเอกชน หรือผู้ใช้คนทั่วไปตรงๆ กลับบอกว่าขายไม่ได้ เพราะหากใครซื้อวัคซีนไปและมีผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด คือนำวัคซีนไปฉีดกับคนแล้วบังเอิญตาย หรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรง หลายคนก็อาจจะฟ้องผู้ผลิตได้ ฉะนั้นจึงเป็นที่มาว่า ประเทศไหนจะซื้อวัคซีน ก็ต้องซื้อผ่านรัฐบาลเท่านั้น
ขณะนี้วัคซีนไม่ใช่เป็นสินค้าพาณิชย์อีกต่อไป แต่กลายเป็นอาวุธทางการเมืองของมหาอำนาจไปแล้ว คือใครเป็นพวกให้วัคซีนก่อน เมื่อประเทศไทยไปขอซื้อก็ถูกโก่งราคา ต้องซื้อที่แพง ส่วนกรณีบางประเทศที่สามารถฉีดได้ถึง 80% ของประเทศเนื่องจากเป็นหนูทดลองยา เช่นเดียวกับบางประเทศที่มีประชากรน้อยเพียง 5 ล้านคนก็ฉีดไปเกือบทั้งประเทศ
นายจุติกล่าวอีกว่า ต้องเข้าใจว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ฉีดวัคซีนเพื่อไม่ให้ป่วยหนักเข้าห้อง ICU หรือไม่ให้เชื้อลงปอดเท่านั้น ซิโนแวคป้องกันได้ 93% ส่วนแอสตร้าฯ ป้องกันได้ 94% ไฟเซอร์ป้องกันได้ 96%
ส่วนสิ่งที่รัฐบาลทำมา ก็ขอบอกตรงๆ ว่า สงกรานต์ปี 63 ที่ผ่านมารัฐสามารถควบคุมการแพร่เชื้อโควิดดี ทำให้คนในรัฐบาลบอกไม่ซื้อวัคซีนมากักตุนเพราะยามีอายุจำกัด แต่วันนี้เชื้อมันกลายพันธุ์แพร่ระบาดเร็วขึ้น อย่างกรณีนั่งห้องแอร์หรือนั่งเครื่องบินเดียวกัน เชื้อจีนมีเวลาแพร่ระบาดใน 2 ชั่วโมง หากเป็นเชื้ออังกฤษแพร่ใน 1 ชั่วโมง พอเชื้ออินเดีย เพียงแค่เดินสวนกันหรืออยู่ด้วยกัน 30 นาทีก็ติดเชื้อแล้ว ซึ่งสถานการณ์วิกฤตโควิดวันนี้โลกกำลังเปลี่ยนไป ทุกคนจะต้องปรับการใช้ชีวิตอยู่กันใหม่ คนในประเทศจะอยู่กันยากขึ้น