xs
xsm
sm
md
lg

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศยังไม่มีนโยบายสลับฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศยืนยันไม่สลับฉีดวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” (Sinopharm) เผยเป็นวัคซีนใหม่ที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็ม ตามที่บริษัทผู้ผลิตได้รับอนุญาต ชี้ไม่รับผิดชอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

วันนี้ (13 ก.ค.) โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกประกาศเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน โดยระบุว่า ขณะนี้ ยังไม่มีนโยบายให้บริการฉีดวัคซีน โควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็ม ตามที่บริษัทผู้ผลิตได้รับอนุญาต “ยกเว้น” กรณีผู้อยู่ในโครงการศึกษาวิจัย หรือ กรณีผู้ฉีดแพ้หรือมีอาการข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีนเข็มแรก สามารถให้วัคซีนต่างชนิดในเข็มที่ 2 ได้ หากแพทย์เห็นสมควร ทั้งนี้ หากท่านไม่ให้ข้อมูลที่สมบูรณ์หรือหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลเพื่อรับวัคซีนต่างชนิดดังกล่าว ทางราชวิทยาลัยจะไม่รับผิดชอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และการประกันภัยอาจไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ภายหลังที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “การให้วัคซีน โควิด-19 สลับชนิด” โดยระบุว่า หากให้ ซิโนแวค (Sinovac) ก่อน และตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเร็ว แม้จะสูงไม่เท่ากับ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 2 เข็ม แต่ได้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น แทนจะรอไปถึง 12 สัปดาห์ จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดของไทยที่มีการระบาดของโรค ประกอบกับตอนนี้ไทยมีวัคซีน 2 ชนิด คือ ชนิดเชื้อตายและไวรัลแวกเตอร์ จึงเหมาะสม ณ เวลานี้ แต่ในอนาคตหากมีวัคซีนอื่นเข้ามา เราก็จะหาวิธีที่ดีกว่า หรือหากไวรัสกลายพันธุ์มากกว่านี้ ก็ต้องมีวัคซีนที่เฉพาะสายพันธุ์นั้น ทั้งนี้ ในเรื่องความปลอดภัยจากการสลับวัคซีน เบื้องต้น มีการศึกษาฉีดวัคซีนสลับชนิดในประเทศไทยมากกว่า 1,200 คน โดยที่ฉีดสลับเยอะสุด คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และที่ลงบันทึกในหมอพร้อม เรื่องอาการข้างเคียงไม่มีใครใน 1,200 คน มีอาการรุนแรง


กำลังโหลดความคิดเห็น