หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา แถลงปมการศึกษาการฉีดวัคซีนสลับชนิด แจงหลักฐานทางวิชาการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็ว ในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ เผยภูมิต้านทานใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ย้ำหากรอฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มอาจไม่ทันกาล ชี้เดลตาแพร่เร็วติดง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวประเด็นวัคซีนโควิด-19 ว่า เราทราบกันอยู่แล้วว่าโควิด-19 อยู่กับเรามาปีครึ่งแล้ว แล้วจะหยุดได้ด้วยวัคซีนป้องกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดการป่วยและเสียชีวิต เป็นสิ่งที่เราต้องการ และในที่สุดหากวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เราเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ. 64 หลังจากนั้น เรารณรงค์ฉีดเรื่อยมา จนถึงวันนี้เราฉีดยังไม่ถึง 13 ล้านโดส ด้วยขอบเขตวัคซีนที่เรามีปริมาณจำกัด ดังนั้น เราจำเป็นต้องบริหารวัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการศึกษาวิจัยรูปแบบการให้วัคซีนในไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในระยะแรกวัคซีนทุกยี่ห้อ ผลิตจากต้นแบบไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น กว่าจะผลิตออกมาใช้เวลาร่วมปี แต่ในระยะเวลา 1 ปีไวรัสมีการกลายพันธุ์ หนีออกจากระบบภูมิต้านทานร่างกาย
ศ.นพ.ยง กล่าว จะเห็นได้ว่าวัคซีนที่ผลิตออกมาก่อน ในการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนก็จะสูง แต่หากวัคซีนไหนที่สายพันธุ์ดั้งเดิม มาศึกษาในระยะหลัง ประสิทธิภาพจะเริ่มต่ำลง ประเทศไทยมีการใช้วัคซีนเชื้อตายจากซิโนแวค และซิโนฟาร์มที่เพิ่งเข้ามา และชนิดไวรัลเวกเตอร์จากแอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 ตัวต่างชนิดกันอย่าสิ้นเชิง อย่างไรแล้ว เรามีการใช้วัคซีนเชื้อตายในวัคซีนโปลิโอ พิษสุนัขบ้า ส่วนวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ก็จะเป็นวัคซีนอีโบล่าที่ใช้มาร่วม 5 ปี ซึ่งคุณสมบัติก็ต่างกันด้วย โดยวัคซีนเชื้อตายกระตุ้นภูมิต้านทาน ได้น้อยกว่าชนิดไวรัลเวกเตอร์ที่เป็นการฉีดวัคซีนให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ก่อน จึงเป็นการกระตุ้นภูมิต้านทาน ที่มาจากเซลล์ของคน สร้างโปรตีนแอนติเจนมาเป็นภูมิต้านทาน
“เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ไป หลบหลีกวัคซีนเชื้อตายที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าได้ จนมาถึงปัจจุบันนี้ กรศึกษาของเรารู้ว่าเมื่อให้ครบคอร์ส 2 เข็มของวัคซีนเชื้อตาย ให้ภูมิต้านทานได้เท่ากับคนที่หายจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่เมื่อมาติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ทั้งอัลฟ่า เดลต้า ประสิทธิของวัคซีนที่ผลิตจากสายพันธุ์อู่ฮั่นทุกตัวลดลง แต่เนื่องจากวัคซีนบางตัวมีระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่า เมื่อลดลงแล้วก็ยังพอที่จะป้องกันได้” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า เราต้องมาพิจารณาว่าหากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม จะต้องใช้เวลาเข็ม 1 ห่างเข็ม 2 ประมาณ 10 สัปดาห์ เพราะวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ฉีดห่างกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์ภูมิต้านทานจะสูงไม่ดี ฉะนั้น ยิ่งห่างนานเท่าไหร่ก็ยิ่งดี จากเดิมที่คิดว่า แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มเพียงพอต่อการป้องกันสายพันธุ์อู่ฮั่นได้ แต่เมื่อมาเจอเดลต้า พบว่า แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มไม่สามารถป้องกันได้ แต่กว่าจะรอเข็มที่ 2 ต้องรอ 10 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น จึงเป็นที่มาหรือจุดสมดุลว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน เกิดขึ้นเร็วที่สุด เหมาะสมที่สุด ในขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปมาก เรารู้ว่าใช้ซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงไม่พอที่จะป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์มาเป็นเดลต้าแล้ว แต่สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า เข็มเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะป้องกันไวรัสเดลต้า เพราะเข็ม 2 ให้ช้าเกินไป จึงเป็นที่มาของการศึกษาว่า เราฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน แล้วตามด้วยไวรัลเวกเตอร์ การฉีดเชื้อตายก่อนเปรียบเสมทอนให้ร่างกายเราติดเชื้อ แล้วไปสอนร่างกายเอาไว้ แล้วหลังจากนั้น 6 สัปดาห์ เราไปกระตุ้นด้วยไวรัลเวกเตอร์ที่มีอำนาจในกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิต้านทานมากกว่า ผลปรากฏว่า กระตุ้นได้สูงกว่าที่เราคาดคิดไว้ ภูมิต้านทานสูงขึ้นเร็ว แม้จะไม่เท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มแต่ได้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลา 3-4 สัปดาห์ แทนที่จะรอไปถึง 12 สัปดาห์
ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปรียบเทียบภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน 1 เดือน พบว่า กลุ่มแรก ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงเท่ากับผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้ว ซึ่งการเท่ากันเช่นนี้ตามหลักการก็จะป้องกันโรคได้ในสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ด้วยไวรัสกลายพันธุ์เป็นเดลต้าจึงทำให้ภูมิต้านทานที่เท่ากันไม่สามารถป้องกันได้ ขณะที่ ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม พบว่า ภูมิต้านทานสูงเพียงพอป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่ต้องใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์ในการฉีดครบ 2 เข็มห่างไปอีก 1 เดือน ดังนั้น หากเราฉีดวัคซีนเข็ม 1 เป็นซิโนแวค ตามด้วยเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิต้านทานใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
“ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ภูมิต้านทานประมาณ 900 ยูนิต แต่หากซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ได้เกือบ 800 ยูนิต และเมื่อเปรียบกับซิโนแวค 2 เข็มอยู่ที่ 100 ยูนิต ส่วนการติดเชื้อในธรรมชาติ 70-80 ยูนิต ดังนั้น หากเป็นแบบนี้ จึงมีโอกาสป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้มากกว่า และเวลาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ดังนั้น ในสถานการณ์ระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรวดเร็วรุนแรง เรารอเวลาถึง 12 สัปดาห์ไม่ได้ จำเป็นต้องมีภูมิต้านทานที่สูง ขึ้นเร็ว การฉีดสลับชนิดแล้วลดเวลาเหลือ 6 สัปดาห์ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนเพียง 2 ชนิด จึงเป็นการเหมาะสมสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ แต่ในอนาคตหากมีวัคซีนเทคโนโลยีอื่นที่ดีกว่าหรือพัฒนาสลับเข็มได้ดีกว่า ก็จะมีการหาวิธีการที่ดีกว่า หรืออนาคตถ้าไวรัสกลายพันธุ์มากกว่านี้ อาจจะต้องมีวัคซีนที่จำเพราะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้นตัวอย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่ต้องมีการฉีดทุกปี เราจะบรรลุผลสำเร็จในภูมิต้านทานสูงในระยะเวลาอันสั้นกว่า 1 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดไวรัลเวกเตอร์ 2 เข็ม ฉะนั้น เวลาเราทุกวันของเรามีค่าในการต่อสู้โรคร้าย ผมขอสนับสนุนข้อมูลวิชาการที่ศึกษามาจะเป็นประโยชน์ในการใช้จริง
“การฉีดวัคซีนไขว้สลับกัน ความปลอดภัยต้องมาก่อน จากการศึกษาเบื้องต้นที่ออกมาแล้ว ในไทยเรามีผู้รับวัคซีนสลับกันมากกว่า 1,200 คน มากที่สุดอยู่ใน รพ.จุฬาฯ และถูกบันทึกลงในหมอพร้อมที่ต้องบันทึกอาการข้างเคียง พบว่า มากกว่า 1,200 คน และไม่มีใครที่มีอาการข้างเคียงรุนแรง เป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัยในชีวิตจริง และการศึกษาของเรา ที่เราเฝ้าคนไข้ทุกวัน ก็จะมีการนำข้อมูลออกมา ขอให้มั่นใจว่าเราไม่ได้เป็นคนแรกที่ฉีดสลับกัน” ศ.นพ.ยง กล่าว