xs
xsm
sm
md
lg

สธ. มีมติปรับสูตรวัคซีนใหม่ป้องกันโควิด-19 ฉีดซิโนแวค+แอสตร้าฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผ่านการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก ในวันนี้ (12 ก.ค.) ว่า จากการมีมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 จึงมีการแถลงข่าวแบบออนไลน์ โดยสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม). และปริมณฑล ยังน่าเป็นห่วง ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง จากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และแพร่กระจายไปยังจังหวัด ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเกือบ 1 หมื่นรายต่อวัน หรือประมาณ 1 แสนกว่ารายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่งผลให้การอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ

นายอนุทิน กล่าวว่า มาตรการยาแรงที่ดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ ห้ามมีการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน ปิดสถานที่เสี่ยง จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ให้มีการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ของเอกชนและรัฐมากที่สุด และมีการปรับแผนฉีดวัคซีน ระดมฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และตั้งเป้าฉีดวัคซีนอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้ 1 ล้านคนใน 2 สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดรุนแรงใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 12 ล้านโดส แต่กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังฉีดให้กลุ่มนี้น้อย ไม่ครบตามที่ตั้งเป้า จึงต้องเร่งฉีดให้มากที่สุดและโดยเร็วที่สุด

สำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการพิจารณาประเด็นการควบคุมโรคโควิด 4 ประเด็น 1.เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า โดยโรงพยาบาล(รพ.) ต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

2.ที่ประชุมรับทราบการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส(Booster dose) โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์โดส ได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง และเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟ่า มาเป็นเดลต้า จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น การบูสเตอร์ โดส จะเป็นแอสตร้าฯ เป็นหลัก เพราะมีข้อมูลทางวิชาการว่า การให้วัคซีนกระตุ้นคนละชนิดจะเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคล เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น

3.ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางในการใช้ชุดตรวจ แรพิด แอนติเจน เทสต์ ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลานาน โดยชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ มาใช้นั้น ต้องมีการผ่านการรับรอง และขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียน 24 ราย โดยจะอนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง ซึ่ง และเร็วๆนี้จะอนุญาตให้ตรวจได้เองในประชาชนที่บ้าน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

4.เห็นชอบแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชนชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถแยกกักที่บ้าน หรือในส่วนของชุมชนนั้น ก็จะเป็นการแยกกักในบ้านที่อยู่ในชุมชนจำนวนมาก ทั้งหมดจะมีระบบติดตาม มีเครื่องมือวัดออกซิเจนในกระแสเลือด มียา โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)มีแนวทางและจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยทุกราย ซึ่งสปสช.จะร่วมมือกับรพ.ที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้

นอกจากนี้ ยังรับทราบเรื่องหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กทม. เพื่อเข้าดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งทางกายและจิตใจ หรือผู้ป่วยที่กลับมาจากรพ.แล้ว และจะมีชุดคัดกรองแรพิด แอนติเจน เทสไปให้บริการถึงชุมชนถึงบ้านที่ตัวเองอยู่ แต่เรื่องที่ยังต้องปฏิบัติคือ การดูแลป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ลดการเดินทาง ตามแนวทางที่ศบค.กำหนดไว้ ซึ่งเรามั่นใจว่าจากมาตรการและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคนจะลดจำนวนผู้ป่วยโควิดได้” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงมติข้อที่ 1 ถึงการฉีดวัคซีนสลับชนิดด้วยซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 และแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 ว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็มที่ 1 เป็น ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ จะดำเนินการฉีดในประชาชนทั่วไป จากนี้ จะไม่มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เข็ม 2 เป็นซิโนแวค บวกซิโนแวคอีก