xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมฉีดวัคซีนเข็ม 3 “แอสตร้าเซนเนก้า” เป็น “วัคซีน บูสเตอร์ โดส” ให้บุคลากรทางการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผย สธ. เตรียมฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” เป็น “วัคซีน บูสเตอร์ โดส” ให้บุคลากรทางการแพทย์ สัปดาห์หน้า ถกนัดสุดท้ายพรุ่งนี้ เผยตัวเลขเจ้าหน้าที่ติดโควิด-19 แล้ว 880 ราย ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนสักเข็มถึง 173 ราย

วันนี้ (11 ก.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยระหว่างแถลงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 บูสเตอร์ โดส (Booster dose) ว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวบุคลากรแพทย์ กรณีพยาบาลโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนแห่งหนึ่ง ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงาน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นความเสียสละที่ผู้เสียชีวิตได้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท ซึ่งเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ก็เข้าสู่ระบบการรักษาเมื่อวันที่ 1 ก.ค.กรณีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ในเรื่องของวัคซีนโควิด-19

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้เสียชีวิตได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน และเข็มที่ 2 ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ด้วยการปฏิบัติงานที่แผนกดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเดือนมิถุนายน ก็มีโอกาสได้รับเชื้อจากการปฏิบัติงาน ร่วมกับประวัติเสี่ยงภาวะอ้วน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการรุนแรง

นพ.โสภณ กล่าวว่า กรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 เข็มเพียงพอหรือไม่นั้น เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ในการประชุมคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ไวรัสวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ร่วมกันพิจารณา มีความเห็นพ้องต้องกันว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ ซิโนแวค จำนวน 2 เข็ม มีข้อมูลสนับสนุนว่า หลังจากฉีดไประยะหนึ่งภูมิคุ้มกันจะลดลง จึงเป็นที่มาของการเสนอให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง มีหน้าที่ให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาจเป็นชนิดไวรัลเวกเตอร์ ที่เรามีในประเทศ คือ แอสตร้าเซนเนก้า หรือชนิด mRNA ซึ่งในอนาคตไม่นานนี้ เราก็จะได้รับการบริจาคเข้ามา คือ วัคซีนไฟเซอร์ ทั้งนี้ ข้อเสนอนี้จะนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) ซึ่งจะมีรายละเอียดและข้อเสนอแนะออกมา


นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ข้อมูลสะสมตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม ล่าสุด ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 รวม 880 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ในอัตราส่วนต่อเพศชาย 1:3 พบมากสุดช่วงอายุ 20-29 ปี รองมาเป็น 30-39 ปี และลดหลั่นตามอายุที่มากขึ้น จำนวน 880 ราย ได้แก่ พยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาล ร้อยละ 54, แพทย์/ทันตแพทย์ ร้อยละ 7, แม่บ้าน/หน่วยจ่ายกลาง ร้อยละ 6, เจ้าหน้าที่รังสี/เภสัช ร้อยละ 4, เวรเปล/รปภ. ร้อยละ 1 และอื่นๆ ร้อยละ 28

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา พบว่า เป้าหมายบุคลากรแพทย์ที่จะต้องฉีดวัคซีนมี 700,000 ราย แต่ขณะนี้ได้รับวัคซีนแล้วมากกว่า ร้อยละ 197 (หมายถึงเกินเป้าหมาย เพราะมีการฉีดให้กับบุคลากรอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องด้วย) โดยจำนวนที่ติดเชื้อ 880 ราย พบว่า 173 ราย ที่ยังไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน คิดเป็น ร้อยละ 19.7 ส่วนในจำนวนนี้เสียชีวิต 7 ราย โดย 5 รายยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในช่วงที่ติดเชื้อ มีเพียง 2 ราย ที่มีประวัติการรับวัคซีนซิโนแวค โดย 1 รายได้รับครบ 2 โดส ก็คือ กรณีพยาบาล รพ.เอกชนที่เป็นข่าว และอีก 1 ราย ถือว่าได้รับวัคซีนแค่ 1 เข็ม เพราะเริ่มป่วยหลังวันที่รับเข็ม 2 เพียง 1 วัน ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 14 วัน

“หากพิจารณาอัตราการติดเชื้อในผู้ที่ได้รับวัคซีนและโอกาสเสียชีวิต ถือว่าหากได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อ จะมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดูจากตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค หากได้รับ 1 เข็ม เรามีรายงานการป่วยในกลุ่มนี้ 68 ราย คิดเป็น 300 ต่อแสนรายที่ฉีด ส่วนคนที่ได้รับครบ 2 เข็ม มีรายงานการป่วย 618 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 91 ต่อแสนรายที่ฉีด และพบว่าส่วนใหญ่อาการน้อย หรือ ไม่มีอาการ ส่วนอาการปานกลางก็มีจำนวนหนึ่ง เช่นในกลุ่มที่ได้รับ 2 เข็มก็จะมีอาการปานกลาง 19 ราย” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าบุคลากรแพทย์เป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มตั้งแต่เดือน มี.ค.- เม.ย. ดังนั้น เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ก็จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ซึ่งตัวเลขผู้ที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มและเสียชีวิต มี 1 ราย ก็คือ พยาบาล รพ.เอกชนที่เป็นข่าววันนี้ ขณะเดียวกัน บุคลากรที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ จำนวน 1 เข็ม มี 66,913 ราย พบว่า มีผู้ที่ติดเชื้อ 43 ราย คิดเป็น 67 ต่อแสนรายที่ฉีด ป่วยปานกลางมี 1 ราย และป่วยอาการรุนแรง 2 ราย ซึ่ง 1 รายใส่ท่อช่วยหายใจและอีก 1 รายใช้ออกซิเจนไฮโฟล์ว แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

นพ.โสภณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงเบื้องต้น เพื่อนำมาสื่อสารกับประชาชนถึงความสำคัญของการรับวัคซีน ยืนยันว่า คนที่ฉีดวัคซีน มีโอกาสป่วยรุนแรงน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และเมื่อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. จากเดิมสายพันธุ์อัลฟาก็เป็นเดลตา ทำให้การป้องกันของซิโนแวค อาจไม่ได้ผลดีเท่ากับการป้องกันเชื้อเดิม

ดังนั้น ผู้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม โดยเฉพาะบุคลากรแพทย์ด่านหน้า คณะกรรมการวิชาการฯ ก็มีความเห็นว่าควรได้รับวัคซีนกระตุ้น อีก 1 เข็ม จึงได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่สามารถดำเนินการในสัปดาห์หน้าเพื่อฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ส่วนผู้ที่ประสงค์ฉีดวัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ จะต้องอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด การฉีดวัคซีนก็ต้องปรับเพื่อให้รับมือกับเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้นขึ้น เป็นข้อมูลที่แจ้งให้ทราบเบื้องต้น

 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีขั้นตอนการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ โดส อย่างไร กลุ่มไหนบ้าง และในวันไหน เพราะในขณะนี้บุคลากรด่านหน้าพบติดเชื้อโควิด-19 มาขึ้น แม้ว่าจะได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม นพ.โสภณ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) จะมีการประชุมของคณะกรรมการวิชาการฯ หากมีความเห็นชอบ ก็จะสามารถดำเนินการได้ในวันเดียวกันทันที โดยขณะนี้ สธ.ก็กำลังรวบรวมข้อมูลจากสำรวจความสมัครใจของบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูงสุดก่อน เพื่อการจัดสรรและส่งวัคซีนไปใน รพ.ต่างๆ

นพ.โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศอื่นที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค ยังไม่มีการฉีดเข็มบูสเตอร์ โดส เป็นชนิดไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA ดังนั้น ประเทศไทยก็จะมีการเก็บข้อมูล เจาะเลือดก่อนและหลังฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีความรู้ ให้มีข้อมูลมากขึ้นว่าการฉีดบูสเตอร์ โดส มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และมีภูมิต้านทานอย่างไร เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โรคและเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคต รวมถึงการใช้วัคซีนชนิด mRNA ที่จะเข้ามาในปลายเดือนนี้ ก็ต้องเก็บข้อมูลเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น