อเมริกาจัดประชุมหน่วยงานสุขภาพเพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวกว่า 300 คนที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ อย่างไรก็ดี ที่เยอรมนี นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล เลือกฉีดโมเดอร์นาซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเป็นวัคซีนเข็มที่สอง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การใช้วัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ต่างยี่ห้อกันอาจเพิ่มประสิทธิภาพและระยะเวลาในการสร้างภูมิต้านทานต่อสู้โควิด
การประชุมที่ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) กำหนดจัดขึ้นในวันพุธ (23 มิ.ย.) จะเปิดรับฟังการวิเคราะห์ความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ โดยที่ในปัจจุบัน วัคซีนใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินได้ทั้งในสหรัฐฯและโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น มี 2 แบรนด์ คือที่ผลิตโดยไฟเซอร์/เอ็นไบโอเทค แลที่ผลิตโดยโมเดอร์นา แต่พวกนักวิจัยกำลังสำรวจกันว่า การฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเออาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมถึงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหรือไม่
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นโรคตามฤดูกาลซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนมากกว่าฤดูอื่นๆ และอาจเชื่อมโยงกับไวรัสเอนเทอโร คาดว่า แต่ละปีมีเด็กป่วยโรคนี้ 1 คนต่อ 100,000 คน
ลอร์รี รูบิน ผู้อำนวยการแผนกโรคติดเชื้อในเด็กของศูนย์การแพทย์เด็กโคเฮน นิวยอร์ก ระบุว่า แม้พบความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนเอ็นอาร์เอ็นเอกับโรคนี้ แต่ก็ควรพิจารณาเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่เด็กจะติดโควิดประกอบด้วย
ทั้งนี้อิสราเอลคือประเทศแรกที่ระบุถึงความเชื่อมโยงนี้
ขณะเดียวกัน วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอแบรนด์เดียวที่อเมริกาอนุมัติให้ฉีดกับวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป
สัปดาห์ที่ผ่านมา โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซี กล่าวว่า กรณีเหล่านี้ถือว่าเกิดขึ้นน้อยมาก โดยพบผู้มีอาการเหล่านี้จากวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวกว่า 20 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน อีกทั้งส่วนใหญ่รักษาได้ด้วยการพักผ่อนและการดูแลตามอาการ เธอสำทับว่า เคสที่ได้รับการยืนยันนั้น มาจากการตรวจสอบภายหลังรายงานเบื้องต้นสำหรับระบบตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19
ทว่าแม้ถือเป็นสัดส่วนน้อยมาก แต่ยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่จะพบอาการเหล่านี้ในกลุ่มอายุนี้
การประชุมก่อนหน้านี้ที่จัดโดยสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) เมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมา มีการระบุว่า เคสที่พบอาการเกี่ยวกับหัวใจส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มและมักเกิดขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์หลังฉีดวัคซีนเข็มที่สอง
สำหรับการประชุมคราวนี้ของซีดีซีจะเจาะลึกข้อมูลล่าสุดที่มีการตรวจสอบอย่างอิสระแทนการรายงานอาการด้วยตัวเองของผู้ป่วย
อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันอังคาร (22) โฆษกรัฐบาลเยอรมนีเผยว่า นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล วัย 66 ปี เลือกฉีดโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นวัคซีนเข็มที่สอง หลังจากเธอได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นของแอสตราเซเนกาไปแล้วในเดือนเมษายน
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การฉีดวัคซีนสองเข็มต่างยี่ห้อกันอาจเพิ่มประสิทธิภาพและระยะเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานไวรัสโคโรนาและตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆ ถึงแม้ยอมรับว่า ยังเร็วเกินไปที่จะมั่นใจได้ก็ตาม โดยขณะนี้มีหลายสถาบันกำลังศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันอยู่ ขณะที่บางประเทศเล็งหรือใช้วิธีการนี้ไปบ้างแล้ว เพื่อแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลนและเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน
ตัวอย่างเช่น การศึกษาชิ้นหนึ่งในสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะพบอาการข้างเคียงเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางหลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์
ทำเนียบขาวยอมรับ “พลาดเป้า” ฉีดวัคซีนมะกันชน70%ให้ได้ก่อนวันชาติ
ขณะเดียวกัน เจฟฟรีย์ ไซเอนต์ส ผู้ประสานงานทีมรับมือโควิด-19 ของทำเนียบขาว ยอมรับเมื่อวันอังคารว่า เป้าหมายฉีดวัคซีนให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่ 70% อย่างน้อย 1 เข็มก่อนวันชาติอเมริกันในวันที่ 4 กรกฎาคม อาจล่าช้าออกไปราว 2-3 สัปดาห์ โดยขณะนี้มีประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันแล้วอย่างน้อย 1 เข็มราว 65.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
กระนั้น เขาเพิ่มเติมว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประสบความสำเร็จเกินความคาดหวังระดับสูงสุดในการทำให้อเมริกากลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่อัตราการติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมขนาดใหญ่ในหมู่คนที่ฉีดวัคซีนแล้วถือว่า มีความปลอดภัย
นอกจากนั้น เดือนที่ผ่านมา ซีดีซียังยกเลิกคำแนะนำให้สวมหน้ากากสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้อเมริกาเป็นชาติแรกๆ ที่ออกคำแนะนำดังกล่าว
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)