xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญในแล็บอู่ฮั่นยืนยัน ‘ไวรัสโควิด’ ไม่ได้หลุดจากห้องปฏิบัติการอย่างที่ลือกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญในแล็บอู่ฮั่น ยืนยันไวรัสโคโรนาไม่ได้หลุดจากห้องปฏิบัติการตามที่ลือกัน ด้านอังกฤษเผยผลศึกษา พบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 โดส ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนักเกิน 90% ส่วนที่อเมริกาแม้ยอดผู้เสียชีวิตผ่านหลัก 600,000 คน แต่จำนวนคนตายและผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลจากโควิด-19 ลดลงอย่างชัดเจน ตอกย้ำประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานในวันจันทร์ (14 มิ.ย.) โดยอ้างอิงอีเมลของ ดร.สือ เจิ้งลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโคโรนาในค้างคาวของสถาบันวิจัยไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ที่ปฏิเสธข่าวที่ว่า สถาบันของตนเป็นที่มาของโควิด-19

“ดิฉันจะไปทำได้ยังไง ให้ดิฉันเสนอหลักฐานออกมา สำหรับสิ่งที่มันไม่ได้มีหลักฐานอะไรเลย” ดร.สือ บอกกับหนังสือพิมพ์อเมริกันทรงอิทธิพลฉบับนี้

“ดิฉันไม่รู้ว่าโลกมาถึงตรงนี้ได้ยังไง คอยแต่เทสิ่งโสโครกมาใส่นักวิทยาศาสตร์ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่คนหนึ่ง” เธอกล่าว

ทั้งนี้ เดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน สั่งให้หน่วยงานข่าวกรองของอเมริกาสอบสวนหาต้นตอที่มาของไวรัสโคโรนา ซึ่งรวมไปถึงทฤษฎีที่ว่า ไวรัสมรณะหลุดมาจากห้องปฏิบัติการอู่ฮั่น

สมมติฐานนี้แพร่หลายมาตั้งแต่ที่โควิด-19 ระบาดแรกๆ แต่คนจำนวนมากเชื่อว่า เป็นเพียงทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด กระทั่งเมื่อเดือนที่แล้วที่สื่ออเมริกันรายงานข่าวว่า นักวิจัย 3 คนของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นล้มป่วยในปี 2019 หลังจากเข้าไปในถ้ำค้างคาวในมณฑลยูนนาน ทว่า ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าพวกเขาป่วยเป็นอะไรแน่ๆ

นักวิจัยบางคนบอกว่า สืออาจเป็นผู้นำการทดลองที่เรียกว่า gain-of-function หรือ GOF ซึ่งหมายถึงการพยายามสร้างซูเปอร์ไวรัสเพื่อศึกษาว่า ซูเปอร์ไวรัสนั้นส่งผลอย่างไรต่อพาหะ

จากรายงานของนิวยอร์ก ไทมส์ ปี 2017 สือและนักวิจัยในห้องปฏิบัติการอู่ฮั่นได้เผยแพร่รายงานการทดลองสร้างไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ในค้างคาวด้วยการผสมและจับคู่ส่วนต่างๆ ของไวรัสสายพันธุ์เดิม ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่เกือบจะแพร่เชื้อสู่คนได้ เพื่อศึกษาความสามารถในการแพร่เชื้อและเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์

ทว่า ในอีเมลที่ส่งถึงนิวยอร์กไทมส์ สือยืนยันว่า การทดลองของตนต่างจากการทดลองสร้างซูเปอร์ไวรัส เนื่องจากไม่ได้พยายามทำให้ไวรัสอันตรายมากขึ้น แต่ต้องการทำความเข้าใจวิธีการที่ไวรัสอาจระบาดข้ามสายพันธุ์เท่านั้น

“แล็บของดิฉันไม่เคยดำเนินการ หรือร่วมมือในการดำเนินการทดลองแบบ GOF ที่มุ่งเพิ่มความร้ายแรงของไวรัส” เธอบอก

อังกฤษทดลองวัคซีนไฟเซอร์-แอสตร้าฯ ต้านไวรัสกลายพันธุ์ได้ดี

ในวันจันทร์เช่นกัน สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (พีเอชอี) ได้เปิดเผยผลศึกษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาโรคโควิด-19 จำนวน 14,019 คน ระหว่างวันที่ 12 เมษายน ถึง 4 มิถุนายน ซึ่งพบว่า การฉีดวัคซีน 2 โดสของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ช่วยลดความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ “เดลตา” ที่พบครั้งแรกในอินเดียได้ถึง 96% ขณะที่การฉีดวัคซีนครบ 2 โดสของแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซฟอร์ด ก็ลดได้ถึง 92%

พีเอชอีเสริมว่า วัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาสูงพอๆ กับที่ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ “อัลฟา” ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ และขณะนี้กำลังทำการตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตจากสายพันธุ์เดลตา

การเปิดเผยนี้มีขึ้นขณะที่ทางการอังกฤษต้องเลื่อนแผนยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่กำหนดไว้ในวันที่ 21 ที่จะถึงนี้ออกไปก่อน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา และรัฐบาลกำลังเร่งรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนเข็มที่สอง

สหรัฐฯ ตายทะลุ 6 แสน แต่ ‘วัคซีน’ ช่วยทำให้การระบาดลดระดับลงเยอะ

ส่วนที่อเมริกา จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ทะลุหลัก 600,000 คนแล้วในวันจันทร์ (14) อย่างไรก็ดี อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 7 วันในเวลานี้ได้ลดลงเกือบ 90% จากช่วงที่พุ่งสุดขีดในเดือนมกราคม และตลอดเดือนพฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโควิด 18,587 คน น้อยกว่าเดือนมกราคมถึง 81%

นอกจากนั้น จำนวนผู้ป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลเฉลี่ยรอบ 7 วัน ยังลดลงนับจากเดือนเมษายน รวมทั้งเมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ลดลงต่ำกว่า 20,000 คน เป็นครั้งแรกนับจากวันที่ 24 มิถุนายนปีที่แล้ว และจำนวนเคสใหม่รายวันเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯยังรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรอยู่ในอัตราต่ำสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้บ่งชี้ความสำเร็จของโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (ซีดีซี) ระบุว่า อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในหมู่วัยรุ่นกลับกำลังเพิ่มขึ้น หลังจากการระบาดของพวกไวรัสกลายพันธุ์ซึ่งมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)



กำลังโหลดความคิดเห็น