ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า โควิด 19 การกลายพันธุ์ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม กลายพันธุ์ไปอยู่ตลอด
สายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่าย จะกระจายเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม
สายพันธุ์ G แพร่ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น ก็มาแทนที่สายพันธุ์ อู่ฮั่น
สายพันธุ์ อังกฤษ ( อัลฟา)แพร่กระจายได้ง่าย ก็กระจายไปทั่วโลกครอบคลุมทั้งหมด
ขณะนี้สายพันธุ์อินเดีย (เดลต้า) แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ กำลังจะมีแนวโน้มที่จะระบาดไปทั่วโลก
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในการระบาดรอบแรกเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น ระบาดระลอก 2 เป็นสายพันธุ์ G และรอบ 3 เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ขณะนี้มีแนวโน้มพบสายพันธุ์อินเดียเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสที่จะกระจายได้มากขึ้นมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในอนาคต เพราะการติดต่อสายพันธ์เดลต้า (อินเดีย) ติดต่อได้ง่ายและจะระบาดได้ง่ายโดยเฉพาะเป็นคลัสเตอร์ และพร้อมที่จะกระจายออก
สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ( เบต้า) ถึงแม้จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่อํานาจการกระจายน้อย ต่อไปจะถูกกลบ ด้วยสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้มากกว่าเช่นสายพันธุ์อินเดีย เป็นหลักตามวิวัฒนาการตามธรรมชาติ
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนเริ่มลดลง การติดตามสายพันธุ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงมีการถอดรหัสพันธุกรรมกันอย่างมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน
การให้วัคซีนในคนหมู่มากและรวดเร็ว เป็น วิธีหนึ่งที่จะสกัดสายพันธุ์กลายพันธุ์ ไม่ให้มีการแพร่ระบาด ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะลดลงบ้างก็ยังช่วยสกัดได้ไม่ให้สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด