อดีตทหารหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกสหรัฐฯ พร้อมลูกชาย ยอมรับสารภาพในศาลชั้นต้นของญี่ปุ่นเมื่อวันจันทร์ (14 มิ.ย.) ในข้อกล่าวหาช่วยเหลือ คาร์ลอส โกส์น อดีตประธานคนดังของบริษัทรถยนต์นิสสัน ซึ่งเวลานั้นได้รับการประกันตัวภายหลังถูกคุมขังอยู่หลายเดือน ด้วยวิธีนำเขาซุกซ่อนในกล่องเครื่องดนตรี จากนั้นก็ขนขึ้นเครื่องบินส่วนตัวหลบหนีออกจากแดนอาทิตย์อุทัยในสำเร็จเมื่อปลายปี 2019
ไมเคิล เทย์เลอร์ อดีตสมาชิกหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกสหรัฐฯ วัย 60 ปี และลูกชาย ปีเตอร์ วัย 28 ปี ถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากอเมริกาไปยังญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อดำเนินคดีในข้อหาร่วมกับผู้ต้องหาอีกคน ได้แก่ จอร์จ อองตวน ซาเย็ค ที่ยังหลบหนีอยู่ ช่วยพาโกส์นหลบหนีออกจากญี่ปุ่น ระหว่างที่โกส์นรอการพิจารณาคดีด้วยข้อหารายงานค่าตอบแทนซึ่งได้รับจากนิสสันต่ำเกินจริงถึง 85 ล้านดอลลาร์ตลอดช่วงเวลา 10 ปี
ที่ศาลชั้นต้นในโตเกียวเมื่อวันจันทร์ (14) ผู้ต้องหาสองพ่อลูกได้ยอมรับสารภาพข้อหาดังกล่าวโดยดุษฎี และอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ขณะที่ตัวโกส์นนั้น เวลานี้ไปกบดานอยู่ที่เลบานอน ซึ่งไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับญี่ปุ่น
โกส์น อดีตประธานกรรมการนิสสัน มอเตอร์ ถูกจับกุมเมื่อเขาเดินทางกลับมาที่ท่าอากาศยานในกรุงโตเกียวตอนปลายปี 2018 และถูกคุมขังอยู่หลายเดือน ก่อนจะได้ประกันตัวช่วงกลางปี 2019 ระหว่างรอการถูกส่งตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาล ด้วย 4 ข้อหาเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบทางการเงินซึ่งตัวเขาปฏิเสธ อย่างไรก็ดี ในช่วงสิ้นปี 2019 นั้นเอง เขาสามารถหลบหนีขึ้นเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งแวะจอดที่ตุรกีก่อนลงจอดที่เลบานอน ประเทศที่เขาเติบโตมา
การหลบหนีที่เกิดขึ้นสร้างความกระอักกระอ่วนอย่างมากสำหรับทางการญี่ปุ่น โดยอัยการสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นการหลบหนีที่มีการวางแผนอย่างดีและไร้ยางอายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
ในห้องพิจารณาคดีที่โตเกียวเมื่อวันจันทร์ (14) อัยการได้ทบทวนรายละเอียดแผนการหลบหนีที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนราวกับลอกมาจากภาพยนตร์ ซึ่งรวมถึงการที่โกส์นซ่อนตัวอยู่ในกล่องเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ที่เจาะรูระบายอากาศไว้ เพื่อให้เขาสามารถเล็ดลอดผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่สนามบิน
จากหลักฐานที่อัยการแสดงในคราวนี้ มีเจ้าหน้าที่สนามบินคนหนึ่งที่ตรวจกล่องเครื่องดนตรีสีดำซึ่งมีขนาดใหญ่เกินเข้าเครื่องเอ็กซเรย์ได้ พูดติดตลกว่า “อาจมีสาวน้อยซ่อนอยู่ข้างใน”
โกส์นเริ่มวางแผนหลบหนี 6 เดือนก่อนลงมือ โดยใช้โทรศัพท์มือถือลับติดต่อกับไมเคิล เทย์เลอร์ หลังได้รับการแนะนำจาก แคโรล ภรรยาของเขา โกส์นกล่าวภายหลังอยู่ที่เลบานอนแล้วว่า ที่ต้องหลบหนีเพราะไม่สามารถเชื่อถือระบบยุติธรรมของญี่ปุ่น
อัยการระบุกับศาลโตเกียวว่า โกส์นได้ส่งทนายไปร้องเรียนกับตำรวจว่า ถูกสะกดรอย เพราะกลัวพวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทางการซึ่งเฝ้าประกบตัวเขาอยู่จะล่วงรู้และทำลายแผนการหลบหนี
โกส์นและภรรยาจ่ายเงินให้สองพ่อลูกเทย์เลอร์ผ่านบริษัทโฆษณาออนไลน์ของปีเตอร์ ซึ่งสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของทางการญี่ปุ่นรายงานว่า ทั้งคู่ได้รับเงิน 144 ล้านเยน (1.3 ล้านดอลลาร์)
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุงรายงานว่า สองพ่อลูกใช้เงินส่วนใหญ่ที่ได้มา ไปกับการเตรียมการหลบหนี ซึ่งรวมถึงค่าเช่าเครื่องบินส่วนตัวเหมาลำ โดยทั้งรู่อ้างว่า ไม่ได้เงินจากการช่วยเหลือโกส์น
อัยการยังระบุว่า ปีเตอร์เดินทางไปเลบานอนหลายรอบเพื่อวางแผนหลบหนีให้โกส์น
ขณะยังอยู่ในสหรัฐฯ สองพ่อลูกตระกูลเทนฺเลอร์พยายามคัดค้านการถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่โตเกียว โดยอ้างว่าอาจถูกทรมานระหว่างสอบปากคำ ทั้งนี้ในการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยในญี่ปุ่นนั้นจะไม่อนุญาตให้ทนายนั่งอยู่ด้วย และมักถูกปฏิเสธการขอประกันตัวก่อนขึ้นศาล และอัตราการถูกตัดสินว่าผิดสูงถึง 99%
อย่างไรก็ดี ในที่สุดศาลสูงสุดสหรัฐฯตัดสินให้ส่งตัวพวกเขาทั้งสองไปดำเนินคดีที่ญี่ปุ่น
สำหรับจำเลยคนที่สามคือ ซาเย็ค ที่ได้รับการติดต่อจากเทย์เลอร์นั้น บินไปญี่ปุ่นช่วงปลายปี 2019 เพื่อหาวิธีทำให้โกส์นรอดพ้นจากระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบิน โดยเขาตัดสินใจใช้สนามบินคันไซเป็นเส้นทางหลบหนี
เมื่อเดือนที่แล้ว โกส์นซึ่งยังคงกบดานอยู่ในเลบานอน ได้ถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนของฝรั่งเศสซักถามเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมทางการเงินที่ถูกกล่าวหา เช่น การติดต่อทางการเงินอย่างไม่เหมาะสมกับผู้จัดจำหน่ายเรโนลต์-นิสสันในโอมาน และการจัดปาร์ตี้หรูหราในพระราชวังแวร์ซายส์ โดยมีทีมกฎหมายและอัยการเลบานอนร่วมฟังการซักถามด้วย
ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ในคดีของโกส์น เวลานี้ต่างถูกดำเนินคดีกันทั่วหน้า รวมไปถึง เกร็ก เคลลี่ อดีตผู้ช่วยของเขาที่นิสสัน ซึ่งถูกไต่สวนที่โตเกียวในข้อหารายงานรายได้โกส์นต่ำเกินจริง
นอกจากนั้น ศาลตุรกียังสั่งจำคุกนักบิน 2 คนและพนักงานอีกคนของสายการบินเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งนาน 4 ปี 2 เดือนจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในการหลบหนีของโกส์น
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี, บีบีซี)