xs
xsm
sm
md
lg

‘ปักกิ่ง’ออกกฎหมายห้ามนำ ‘มาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯ’ มาบังคับใช้ใน‘จีนแผ่นดินใหญ่’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

China legislates to outlaw US sanctions at home
by Jeff Pao
10/06/2021

กฎหมายใหม่ที่มีบทลงโทษผู้ละเมิดด้วยฉบับนี้ รัฐสภาจีนผ่านออกมาบังคับใช้เพียงไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี7 โดยดูเหมือนจะเป็นการเตือนพวกชาติยุโรปว่า อย่าได้เข้าร่วมการรณรงค์ทำสงครามเศรษฐกิจมุ่งต่อต้านจีนของสหรัฐฯ

จีนเพิ่งออกกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาห้ามบริษัทต่างๆ ไม่ให้ปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นของต่างประเทศภายในแผ่นดินใหญ่จีน ยกเว้นแต่บริษัทเหล่านี้จะยื่นขอยกเว้นเป็นพิเศษ ความเคลื่อนไหวคราวนี้ ถือเป็นความพยายามล่าสุดของปักกิ่งในการตอบโต้รับมือกับวิธีการลงโทษคว่ำบาตรซึ่งสหรัฐฯนำเอามาใช้เล่นงานตน

หลังจากประชุมกันเป็นเวลา 4 วัน คณะกรรมการประจำของรัฐสภาจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress หรือ NPC) ก็ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดี (10 มิ.ย.) ที่ผ่านมา อนุมัติรับรองกฎหมายต่อต้านการแซงก์ชั่นของต่างชาติ (Anti-Foreign Sanctions Law) ฉบับนี้ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว

ถัม หยิวชุง (Tam Yiu-chung) ผู้แทนเพียงคนเดียวของฮ่องกงในคณะกรรมการประจำของรัฐสภาจีนชุดนี้ แถลงว่า กฎหมายฉบับนี้ (ดูรายละเอียดเป็นภาษาจีนได้ที่ http://www.npc.gov.cn/npc/c30834/202106/d4a714d5813c4ad2ac54a5f0f78a5270.shtml) ให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรีของจีน ในการใช้มาตรการตอบโต้ ถ้าหากมีบริษัทจีนหรือบุคคลชาวจีนถูกต่างชาติแซงก์ชั่น

ตามกฎหมายฉบับนี้ จีนสามารถสั่งห้ามชาวต่างประเทศที่กระทำการแซงก์ชั่นบริษัทจีนหรือบุคคลชาวจีน ตามมาตรการที่ประกาศโดยต่างประเทศ ไม่ให้เข้าประเทศจีน, ระงับวีซาของพวกเขา และส่งตัวพวกเขาออกนอกประเทศจีนไป รวมทั้งยึดและอายัดบรรดาทรัพย์สินของบริษัทที่กระทำการแซงก์ชั่น นอกจากนี้แล้ว ถัมแถลงว่าจีนยังสามารถสั่งห้ามไม่ให้บุคคลหรือองค์การต่างๆ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในแผ่นดินใหญ่ กระทำการค้าและร่วมมือกับบุคคลตลอดจนองค์การต่างประเทศที่กระทำการแซงก์ชั่นดังกล่าวอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ถัมบอกว่าบุคคลหรือองค์การที่ตั้งฐานอยู่ในแผ่นดินใหญ่ ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นซึ่งต่างชาติประกาศใช้กับบุคคลหรือบริษัทชาวจีนใดๆ ในแผ่นดินใหญ่ของจีน

ซู เสี่ยวฮุ่ย (Su Xiaohui) รองผู้อำนวยการฝ่ายการระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ศึกษา (Department of International and Strategic Studies) แห่งสถาบันการระหว่างประเทศศึกษาของจีน (China Institute of International Studies) อธิบายว่า ในอดีตที่ผ่านมา มีประเทศตะวันตกบางรายใช้การแซงก์ชั่นเพื่อเป็นเครื่องมือในการลดอำนาจทางเศรษฐกิจของศัตรูของพวกเขาในเวลาสงคราม

แต่มาในสมัยปัจจุบัน พวกประเทศตะวันตกพึ่งพาอาศัยการแซงก์ชั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ของพวกเขา มากเสียยิ่งกว่าตอนสงครามอีก เธอบอก

ซู กล่าวว่า โดยเฉพาะสหรัฐฯนั้น อยู่ในอาการ “เสพติด” การประกาศแซงก์ชั่นประเทศอื่นๆ อย่างเช่น เกาหลีเหนือ, อิหร่าน, และรัสเซีย และมาในเวลานี้ก็กำลังเล็งเป้ามุ่งเล่นงานจีน เธอบอกว่า กฎหมายต่อต้านการแซงก์ชั่นของต่างชาติ ที่เพิ่งออกมาใหม่นี้ จะช่วยให้จีนสามารถเล่นงานตอบโต้กลับ ใส่การโจมตีอย่างไม่มีเหตุผลของฝ่ายตะวันตก

กรณีพิพาทเกี่ยวกับหัวเว่ย

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2019 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯได้บรรจุเอา หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ไว้ในบัญชีที่เรียกกันว่า “บัญชีรายชื่อบุคคลและองค์การ” (entity list) ของทางกระทรวง ในวันถัดมา โรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองจูไห่ (ในมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีน) ของบริษัทเฟล็กซ์ (Flex) อันเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แนสแนคของสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธไม่ยอมส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ ไปให้ หัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีน

วล็อกเกอร์แซ่หลิว ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นวล็อกเกอร์ทรงอิทธิพลที่ตั้งฐานอยู่ในแผ่นดินใหญ่ ให้ความเห็นทางช่องวิดีโอของเขา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Gj0Efk2_3GQ) ว่า การที่บริษัทต่างประเทศมายึดทรัพย์สินของอีกบริษัทหนึ่งในแผ่นดินใหญ่เช่นนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลจีนไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ เนื่องจากกรณีนี้ถือเป็นคดีพิพาททางแพ่ง ซึ่งปกติแล้วต้องใช้เวลาหลายๆ เดือนกว่าที่พวกบริษัทที่เกี่ยวข้องจะสามารถทำความตกลงกันได้

หลิวกล่าวว่า มาถึงตอนนี้รัฐบาลจีนก็จะมีพื้นฐานทางกฎหมายที่จะรับมือกับกรณีทำนองเดียวกันนี้ในอนาคตแล้ว กฎหมายต่อต้านการแซงก์ชั่นของต่างชาติ จะเปิดทางให้รัฐสามารถใช้อำนาจสาธารณะของตน เข้าไปแทรกแซงในกรณีพิพาททางแพ่งท้องถิ่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการแซงก์ชั่นของต่างประเทศ

เขาบอกว่า บริษัททั้งหลายที่ปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นของต่างประเทศในประเทศจีนอย่างไม่มีเหตุผล อาจจะถูกยึดทรัพย์ ขณะที่ผู้รับผิดชอบของบริษัทเหล่านี้ก็จะถูกจับกุม

หลิวกล่าวต่อไปว่า ตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้ บริษัทบางแห่งอาจได้รับการยกเว้น เช่น เป็นบริษัทที่กำลังใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯอยู่ และจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐฯ โดยเขายกตัวอย่างว่า บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น (Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ SMIC) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ จะไม่ถูกลงโทษถ้าหากหยุดส่งชิปไปให้แก่หัวเว่ย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ประกาศ “กฎระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติการตอบโต้การนำเอากฎหมายตลอดจนมาตรการอื่นๆ ของต่างประเทศมาบังคับใช้นอกอาณาเขต” (Rules on Counteracting Unjustified Extra-territorial Application of Foreign Legislation and Other Measures)

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ชี้ว่า รัฐบาลจีนควรที่จะห้ามการนำเอาระเบียบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของต่างประเทศมาบังคับใช้ในแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นการนำมาใช้แบบนอกอาณาเขต ถึงแม้ว่าบุคคลและองค์การที่เกี่ยวข้องย่อมสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอรับการยกเว้น

การประชุมซัมมิตกลุ่ม จี7

จีนประกาศออกกฎหมายใหม่ฉบับนี้ เพียงไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมระดับผู้นำของกลุ่ม จี7 ซึ่งจัดขึ้นในสหราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน รวมทั้งการประชุมหารือระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่เมืองเจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 16 มิถุนายน

หยาง เฟิง (Yang Feng) คอมเมนเตเตอร์ทางการเมืองที่เป็นพวกโปรปักกิ่ง ได้ให้ทัศนะว่า จีนตั้งใจที่จะให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาก่อนหน้าการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี7 เนื่องจากต้องการเตือนพวกประเทศยุโรป อย่าได้เข้าร่วมการรณรงค์ต่อต้านจีนของสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=4IxiSUOly0k)

เขากล่าวต่อไปว่า อันที่จริงแล้วกฎหมายต่อต้านการแซงก์ชั่นของต่างชาติ ซึ่งจีนประกาศออกมาบังคับใช้นี้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เป็นต้นว่า สหภาพยุโรปก็ได้เคยออกบทบัญญัติเมื่อปี 1996 กำหนดให้พวกบริษัทในยุโรปอย่าได้ปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นต่อคิวบา, อิหร่าน, และลิเบีย ซึ่งสหรัฐฯประกาศออกมา

หยางบอกว่า จีนถูกกล่าวหาว่าที่ผ่านมากำลังใช้ยุทธศาสตร์ “การทูตแบบนักรบสุนัขป่า” จากการที่พวกนักการทูตของจีนต้องออกมาเตือนพวกประเทศต่างๆ อยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับการประกาศใช้มาตรการแซงก์ชั่นของพวกเขา

คอมเมนเตเตอร์ผู้นี้บอกว่า จีนจะไม่ต้องทำเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากประเทศต่างๆ สามารถพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายต่อต้านการแซงก์ชั่นของต่างประเทศฉบับนี้ และตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการที่จะยอมสูญเสียมากน้อยแค่ไหนในการแซงก์ชั่นจีน ซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น