“ไบเดน” โหมประโคม “การกลับมาของอเมริกา” ด้วยการเตรียมประกาศแผนจัดซื้อและบริจาควัคซีนไฟเซอร์ 500 ล้านโดสให้กว่า 90 ประเทศทั่วโลกภายในกลางปีหน้าเพื่อสู้วิกฤตโควิด-19 ในระหว่างการเยือนยุโรป เพื่อร่วมซัมมิตจี 7-นาโต้-และกับผู้นำอียู พร้อมส่งสาส์นถึง “ปูติน” ก่อนพบกันครั้งแรกกลางสัปดาห์หน้า ย้ำวอชิงตันไม่ต้องการสร้างความบาดหมาง แต่ก็พร้อมตอบโต้อย่างเด็ดขาดรุนแรง หากมอสโกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เป็นภัยต่ออเมริกา
ทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (10 มิ.ย.) ว่า เป้าหมายการบริจาควัคซีนครั้งนี้ที่ถือเป็นการซื้อและบริจาควัคซีนซึ่งทำโดยประเทศเดียวครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คือเพื่อช่วยรักษาชีวิตผู้คนและทำให้วิกฤตโรคระบาดยุติลง รวมทั้งปูทางสำหรับการดำเนินการเพิ่มเติมที่จะเปิดเผยต่อไป โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในวันพฤหัสฯ
ทำเนียบขาวเสริมว่า จะเริ่มจัดส่งวัคซีนได้ในเดือนสิงหาคม และจะจัดส่ง 200 ล้านโดสแรกภายในปลายปีนี้ ที่เหลืออีก 300 ล้านโดสในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า
การบริจาคนี้จะดำเนินการผ่านโครงการโคแว็กซ์ ที่มีเป้าหมายจัดหาวัคซีนให้ประเทศยากจนโดยมีองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นแกนนำ และเป็นการบริจาคเพิ่มเติมจากวัคซีน 80 ล้านโดสที่วอชิงตันประกาศไว้เมื่อปลายเดือนที่แล้ว
สหรัฐฯ นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังนั่งอยู่บนกองสต๊อกวัคซีนโควิดที่ไม่ได้ใช้กองมหึมา ขณะที่ประเทศอย่างอินเดียและบราซิล ตลอดจนชาติยากจนอื่นๆ ล้วนประสบปัญหาไม่สามารถหาวัคซีนได้เพียงพอ อย่างไรก็ดี จากการที่เวลานี้มีชาวอเมริกันมากกว่า 60% ซึ่งได้ฉีดวัคซีนกันอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว วอชิงตันจึงกำลังเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงฐานะหน้าตาของการเป็นผู้นำโลกกลับคืนมา ด้วยการบริจาควัคซีนจำนวนมหึมาเช่นนี้
นอกจากนั้น ไบเดน ซึ่งเดินทางถึงอังกฤษเมื่อวันพฤหัสฯ เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 7 สุดสัปดาห์นี้ จะเรียกร้องให้ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกร่วมสนับสนุนเพื่อจัดหาวัคซีนแก่ประเทศยากจนเพิ่มเติม
วอชิงตันยืนกรานว่า แผนการริเริ่มในการบริจาควัคซีนเหล่านี้ไม่ใช่การแข่งขันทางการทูตกับจีนและรัสเซีย แต่เป็นการกลับสู่กระบวนการพหุภาคีหลังจากที่อเมริกาเคยชูนโยบายชาตินิยมและโดดเดี่ยวตัวเองภายใต้ยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
ตามกำหนดการนั้น ไบเดนจะพบกับนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสันของอังกฤษในวันพฤหัสฯ เพื่อประกาศ “กฎบัตรแอตแลนติก” ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงข้อตกลงที่วินสตัน เชอร์ชิล และแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ผู้นำอังกฤษและอเมริกาตามลำดับ ร่วมลงนามเมื่อปี 1941 เพื่อกำหนดเป้าหมายทางประชาธิปไตย การค้า และโอกาสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากนั้นไบเดนจะร่วมประชุมสุดยอดจี 7 ที่เทศมณฑลคอร์นวอลล์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขตปกครองอังกฤษ, สหราชอาณาจักร ระหว่างวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ (11-13) ก่อนเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่พระราชวังวินด์เซอร์ในวันอาทิตย์ แล้วเดินทางไปบรัสเซลส์เพื่อประชุมสุดยอดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในวันจันทร์ (14) และกับบรรดาผู้นำของสหภาพยุโรป (อียู) วันอังคาร (15) จากนั้นจึงปิดฉากการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกนับจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมของเขาคราวนี้ ด้วยการพบกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ที่เจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ ในวันพุธ (16)
ระหว่างปราศรัยต่อทหารอเมริกัน 1,000 นายและครอบครัวที่ฐานทัพอากาศในอังกฤษ ซึ่งเป็นจุดแรกที่เขาแวะพักหลังจากเดินทางถึงแดนยูเนียนแจ็ก ไบเดนกล่าวว่า จะบอกกับปูตินอย่างชัดเจนว่า อเมริกาไม่ต้องการสร้างความบาดหมางกับรัสเซีย แต่ต้องการความสัมพันธ์ที่มั่นคงและคาดเดาได้ แต่ขณะเดียวกัน อเมริกาก็พร้อมตอบโต้อย่างเด็ดขาดและรุนแรง หากรัฐบาลรัสเซียมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เป็นภัยต่ออเมริกา
ประมุขทำเนียบขาวเสริมว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า อเมริกากลับสู่เวทีโลกแล้ว และชาติประชาธิปไตยจะยืนหยัดร่วมกันรับมือความท้าทายที่ร้ายแรงที่สุดและปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับอนาคตของนานาชาติ
ก่อนออกเดินทางจากอเมริกา ไบเดนยังให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของตนคือการเสริมสร้างการเป็นพันธมิตรกับยุโรป ทำให้ปูตินและจีนเข้าใจชัดเจนว่ายุโรปและอเมริกาผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง
เห็นกันว่าการประชุมสุดยอดกับปูตินในวันที่ 16 คือไฮไลต์ของทริปนี้ และเป็นโอกาสที่ไบเดนจะหยิบยกเรื่องการโจมตีของซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ที่เป็นฝีมือแฮกเกอร์ในรัสเซีย ขึ้นหารือกับประมุขเครมลินโดยไม่อ้อมค้อม นอกเหนือจากเรื่องสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน และประเด็นอื่นๆ
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)